‘Ginga’ คำตอบว่า ทีมชาติบราซิลจะเต้นไปทำไม?

‘Ginga’ คำตอบว่า ทีมชาติบราซิลจะเต้นไปทำไม?

  • Ginga (จีนกา) มีความหมายถึงการ ‘โยกย้าย’ หรือการเคลื่อนตัวไปมา โยกย้ายส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างพลิ้วไหว ซึ่งหากเคยดูการร้องรำทำเพลงของชาวบราซิล (โดยเฉพาะในงานคาร์นิวัล) ก็จะพอเข้าใจและเห็นภาพได้มากขึ้นกับการโยกย้ายอันเป็นเอกลักษณ์
  • เวลาไปเจอคนบราซิลเล่นฟุตบอล อย่าได้แปลกใจที่พวกเขาเดาะบอลเล่นได้ด้วยทุกส่วนของร่างกายได้แทบทุกคน ไม่เว้นแม้แต่สุภาพสตรีที่เราอาจพบเจอตามท้องถนน มากกว่านั้นคือสารพัดลีลาการเล่นที่ชวนอ้าปากค้าง ซึ่งฟุตบอลแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา เพราะเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ในสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่อยู่ใน Favela หรือชุมชนแออัด
  • การทำประตูได้ลูกหนึ่งในฟุตบอลโลกนั้นไม่ได้มีความหมายกับแค่นักฟุตบอล 11 คนในสนาม 26 คนในทีม หรือแฟนบอลที่อยู่ในสนามเท่านั้น “แต่มันคือความสุขของผู้คนชาวบราซิลทั้งประเทศ” ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะยากดีมีจน จะอยู่ในบ้านหรูหรืออยู่ใน Favela

หนึ่งในสิ่งที่สวยงามที่สุดของฟุตบอลโลกคือ การที่คนรักฟุตบอลจากทั่วโลกได้นำวัฒนธรรมของชนชาติตัวเองมาแสดงผ่านวิธีต่างๆ

 

เราจึงได้เห็นภาพน่าประทับใจกับ ‘ความญี่ปุ่น’ ของคนญี่ปุ่น ที่นอกจากจะเป็นกองเชียร์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันทั้งในและนอกสนาม ยามเกมการแข่งขันจบไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงระเบียบวินัยช่วยกันทำความสะอาดสถานที่ให้เรียบร้อยเสมอ

 

เช่นกันกับการร้องรำทำเพลงของแฟนฟุตบอลจากแอฟริกา ที่ไม่เพียงแต่ขนคนและเครื่องดนตรีมาปลุกเร้านักเตะขวัญใจ หากแต่พวกเขาเองก็ยังสนุกสนานกับการได้เต้นและร้องเพลงเชียร์ไปด้วยกัน

 

แต่ในเวลาเดียวกันทีมชาติบราซิลกลับเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับการเต้นรำของพวกเขา ที่ดูจะเต้นกันเป็นจริงเป็นจังเกินเหตุในเกมที่ไล่ต้อนเกาหลีใต้ในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้าย จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรว่าเกินไปไหม ไม่ให้เกียรติคู่แข่งหรือเปล่า?

 

ในวันว่างๆ ที่ไม่มีฟุตบอลลงสนาม บางทีนี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาทำความเข้าใจธรรมชาติของฟุตบอลบราซิลกัน 

 

กับสิ่งที่เรียกว่า ‘Ginga’

 

Ginga (จีนกา) มีความหมายถึงการ ‘โยกย้าย’ หรือการเคลื่อนตัวไปมา โยกย้ายส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างพลิ้วไหว ซึ่งหากเคยดูการร้องรำทำเพลงของชาวบราซิล (โดยเฉพาะในงานคาร์นิวัล) ก็จะพอเข้าใจและเห็นภาพได้มากขึ้นกับการโยกย้ายอันเป็นเอกลักษณ์

 

โดยที่มาของการโยกย้ายแบบนี้ เบื้องหลังแล้วคือช่วงเวลาแห่งความมืดมนอนธการ เพราะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากเหล่าทาสจากแอฟริกาตะวันตกที่ถูกกวาดต้อนมาบราซิลในยุคการล่าอาณานิคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความสุขเพียงไม่กี่อย่างในชีวิตที่เหล่าทาสพึงหาได้

 

เพราะเหตุนี้เอง Ginga จึงถูกมองว่าเป็น ‘จิตวิญญาณ’ ของชาวบราซิล เพราะเป็นมรดกทางรากเหง้าที่สืบทอดต่อกันมา และถูกปลูกฝังในสายเลือดของพวกเขา ซึ่งแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์ แต่พูดกันว่ามันอาจจะถูกฝังอยู่ใน DNA หรือโครโมโซมคู่ใดสักคู่ เพราะคนบราซิลนั้นจะเกิดมาพร้อมกับสิ่งที่ฟ้าประทานมาให้เสมอ

 

Ginga เป็นวิถีชีวิต มันอยู่ในทุกสิ่งที่คนบราซิลทำ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การพูดคุย การเคลื่อนที่ ไปจนถึงวิธีในการใช้ชีวิตที่คาดเดาไม่ได้ และพร้อมจะทำอะไรที่เหนือความคาดหมายเสมอ

 

มันถูกนำมาใช้ในศิลปะการต่อสู้แบบของพวกเขาเองที่ไม่มีใครเหมือน ที่เรียกว่าคาโปเอรา มันถูกนำมาใช้ในลีลาการเต้นจังหวะแซมบ้า

 

และมันถูกนำมาใช้ในเกมฟุตบอล

 

ฟุตบอลในแบบ Ginga เป็นฟุตบอลในแบบของคนบราซิลที่ไม่มีใครสอน และไม่สามารถสอนใครได้ เพราะมันคือศิลปะในการวาดลวดลายกับลูกฟุตบอลอย่างเต็มที่ สเตปการเคลื่อนไหวที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ใช้ทุกส่วนของร่างกายในการเล่น (ยกเว้นแขนที่ผิดกติกา) และเล่นอย่างกล้าหาญไม่มีความกลัว

 

ดังนั้นเวลาไปเจอคนบราซิลเล่นฟุตบอล อย่าได้แปลกใจที่พวกเขาเดาะบอลเล่นได้ด้วยทุกส่วนของร่างกายได้แทบทุกคน ไม่เว้นแม้แต่สุภาพสตรีที่เราอาจพบเจอตามท้องถนน มากกว่านั้นคือสารพัดลีลาการเล่นที่ชวนอ้าปากค้าง ซึ่งฟุตบอลแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา เพราะเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ในสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่อยู่ใน Favela หรือชุมชนแออัด

 

 

No Look Pass การจ่ายแบบไม่มองก็เป็นหนึ่งในการเล่นสไตล์ Ginga โดยโรนัลดินโญ นักฟุตบอลที่เป็นตัวแทนนิยามของ Ginga และ Joga Bonito ได้ดีที่สุด

 

และเพราะ Ginga จึงทำให้ฟุตบอลของชาวบราซิลนั้นมีความงดงามสมดังคำว่า ‘Joga Bonito’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘เล่นอย่างงดงาม’

 

ทีมชาติบราซิลจึงได้เปรียบ และเป็นดังตัวแทนทางวัฒนธรรมที่นำจิตวิญญาณของชาติมาอวดชาวโลก โดยจุดเริ่มต้นในฟุตบอลโลกต้องย้อนกลับไปในยุค 1950 เลยทีเดียว ซึ่งแม้จะต้องพบกับความผิดหวังระดับหายนะของชาติ เมื่อบราซิลพ่ายอุรุกวัยในนัดชิงชนะเลิศ 1950 ที่สนามมาราคานา ที่ได้รับการเรียกว่า ‘มาราคานาโซ’  ฃหรือ ‘โศกนาฏกรรมแห่งมาราคานา’ แต่หลังจากนั้นนักฟุตบอลอย่าง ‘เจ้านกน้อย’ การ์รินชา และ ‘ไข่มุกดำ’ เปเล ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นราชาแห่งโลกฟุตบอลก็พาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1958 และ 1962 ด้วยลีลาที่ไม่มีใครหยุดได้

 

ฟุตบอลบราซิลมาถึงจุดสูงสุดในฟุตบอลโลก 1970 ด้วยทัพนักเตะที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ไม่เฉพาะเปเล แต่ยังมีโคตรบอลอย่าง แจร์ซินโญ, ทอสเทา ไปจนถึง ริเวลลิโน ซ้ายฟ้าสั่ง ซึ่งเป็นนักฟุตบอลในดวงใจของ ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา (คิดดูแล้วกันว่าเก่งขนาดไหน) ซึ่งแต่ละคนก็มีกลเม็ดเด็ดพรายพกกันมาเต็มกระเป๋า

 

ถึงแม้ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรจะเป็นเรื่องที่ไม่จีรังยั่งยืน เพราะหลังจากนั้นบราซิลก็ได้แชมป์ฟุตบอลโลกอีกแค่ 2 สมัย (กระนั้นก็ยังเป็นชาติที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกมากที่สุด 5 สมัยอยู่ดี) แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขารักษามาได้ตลอดคือ จิตวิญญาณของชาวบราซิลอย่าง Ginga และการเล่นฟุตบอลแบบ Joga Bonito

 

โดยที่ทีม ‘กานารินญา’ (หรือจะเรียกว่า ‘เซเลเซา’ ก็ได้) ในชุดฟุตบอลโลก 2022 นั้นได้แสดงให้เห็นถึงสองสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการวาดลวดลายในสนามที่ยากจะหยุดยั้ง และสปิริตในแบบของบราซิลที่เด่นชัดที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษนับจากการได้แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

โค้ชหน้าตึงอย่าง ติเต ยังเก็บทรงไม่อยู่เต้นทาง ‘PRU’ ของริชาร์ลิสันด้วย

 

การฉลองประตูด้วยการเต้นรำของเหล่านักเตะแซมบ้าจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการไม่ให้เกียรติต่อคู่แข่งหรืออะไร

 

พวกเขาก็แค่มีความสุขและอยากแสดงออกมาเท่านั้น ไม่ได้คิดว่ามันจะไปรบกวนจิตใจของใคร

 

เรื่องนี้ วินิซิอุส จูเนียร์ ยังบอกด้วยว่า การทำประตูได้ลูกหนึ่งในฟุตบอลโลกนั้นไม่ได้มีความหมายกับแค่นักฟุตบอล 11 คนในสนาม 26 คนในทีม หรือแฟนบอลที่อยู่ในสนามเท่านั้น “แต่มันคือความสุขของผู้คนชาวบราซิลทั้งประเทศ” ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะยากดีมีจน จะอยู่ในบ้านหรูหรืออยู่ใน Favela

 

ดังนั้นถ้าหากนักเตะทีมชาติบราซิลไม่ว่าใครก็ตามทำประตูได้ พวกเขาก็จะเต้นรำต่อไปเหมือนเดิม เพราะพวกเขาก็เป็นของพวกเขาแบบนี้ มันคือความสุขของพวกเขาทุกคน

 

ที่มา : The Standard
https://thestandard.co/worldcup2022-memo-day-19/

 

 

Visitors: 1,199,205