533 ล้านบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ทั้งชื่อจริง ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล แม้แต่ “ซัคเคอร์เบิร์ก” ยังโดน
533 ล้านบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
ทั้งชื่อจริง ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล แม้แต่ “ซัคเคอร์เบิร์ก” ยังโดน
กลายเป็นข่าวสะเทือนสวัสดิภาพบนโลกออนไลน์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกถึง 2,000 ล้านบัญชี เมื่อสำนักข่าวด้านธุรกิจชื่อดังของโลกอย่าง Business Insider ออกมานำเสนอข้อมูลความไม่ปลอดภัยของเฟสบุ๊กที่พบว่ามีการรั่วไหลข้อมูลส่วนตัวของบัญชีผู้ใช้งานถึง 533 ล้านบัญชี จาก 106 ประเทศ คิดเป็นราว 1 ใน 4 ของผู้ใช้งานทั้งหมด
ซึ่งข้อมูลที่รั่วไหลนั้นครอบคลุมถึงชื่อ - นามสกุลจริง วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว และข้อมูลไบโอ ที่ไม่เว้นแม้กระทั่ง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก ที่ก็โดนไปกับเขาด้วยเหมือนกัน
สำหรับประเทศที่พบการรั่วไหลของข้อมูลมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา 32 ล้านบัญชี สหราชอาณาจักร 11 ล้านบัญชี และ อินเดีย 6 ล้านบัญชี เป็นต้น
แม้ทางเฟซบุ๊คจะออกมาบอกว่าข่าวการตรวจพบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานจะได้รับการแก้ไขระบบแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องจริงและมีข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานที่ข้อมูลได้รั่วไหลออกไปก่อนหน้านี้แม้จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ก็ตาม และไม่รู้เลยว่าข้อมูลส่วนตัวที่หลุดออกไปนั้นไปตกอยู่ในมือของใครที่อาจจะนำเอาไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ จนอาจเกิดอันตรายแก่เจ้าของบัญชีจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้
อาลอน แกล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฮัดสัน ร็อค บริษัทของอิสราเอล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบพบข้อมูลรั่วไหลมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แน่นอนว่ามันจะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อทำการโจมตีทางไซเบอร์ และมีความพยายามในการแฮ็กข้อมูลอื่นๆ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากถูกละเมิด เพราะในปี 2019 ก็พบช่องโหว่ที่ทำให้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้คนนับล้านถูกคัดลอกจากเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊ก โดยละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการของแพล็ตฟอร์ม
ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊กสาบานว่าจะปราบปรามการขโมยข้อมูลหลังจากที่ Cambridge Analytica คัดลอกข้อมูลของผู้ใช้งาน 80 ล้านคน โดยละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการของบริษัท เพื่อกำหนดเป้าหมายผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยโฆษณาทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2559
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องยอมรับเลยคือระบบรักษาความปลอดภัยเฟซบุ๊ก ไม่สามารถช่วยผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดได้มากนัก เนื่องจากข้อมูลของพวกเขาถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว ทำได้เพียงแค่ให้เฟสบุ๊กทำการแจ้งเตือนผู้ใช้งานเพื่อให้พวกเขาระมัดระวังตัว
แหล่งอ้างอิง
ขอบคุณที่มา : Reporter Journey
|