ESG คือ ไลเซนส์ ที่ทุกธุรกิจ Sustainability ต้องมี เมื่อโลกการค้าเปลี่ยนไป
ESG คือ ไลเซนส์ ที่ทุกธุรกิจ Sustainability ต้องมี เมื่อโลกการค้าเปลี่ยนไป
ทำธุรกิจในยุคนี้ต้องเข้าใจ ESG เพราะ ESG คือ ไลเซนส์ ที่ทุกธุรกิจ Sustainability ต้องมีในองค์กร เมื่อโลกการค้าเปลี่ยนไป วันนี้จะพามาดูว่าแต่ละองค์กรมีมุมมองเรื่องความยั่งยืนอย่างไร? บนเวทีสัมมา SUSTAINABILITY FORUM 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ มีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนมากมาย ในทุกมิติ ที่โลกกำลังจะก้าวสู่ความยั่งยืน วันนี้ #สปริงนิวส์ รวบรวมมุมมองของแต่ละองค์กรกับการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนของไทยจะไปในทิศทางไหน มาเริ่มกันที่ นายประกอบ เพียรเจริญ กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องสร้างพอร์ตสินเชื่อที่เป็นสีเขียวให้มากขึ้น ในส่วนของธนาคารเองต้องเร่งจัดหมวดหมู่ลูกค้า เพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้อง ซึ่งแนวการพิจารณาสินเชื่อนั้น นอกจากจะพิจารณาในเรื่องของงบดุลแล้ว จะต้องดูว่า ธุรกิจนั้นๆ ให้น้ำหนักในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ ESG หรือไม่ โดยธนาคารเองจะต้องช่วยให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจสีเขียว อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะปล่อยสินเชื่อนั้น ในเรื่องของแผนธุรกิจหรือข้อมูลของลูกค้าที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียวนั้น จะต้องได้รับการคอนเฟิร์มว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ดังนั้น จึงต้องมีผู้ที่จะมายืนยันในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความท้าทายของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องควบคู่ไปกับงบการเงิน นอกจากนี้ ความร่วมมือของลูกค้าที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียวก็เป็นสิ่งสำคัญ หากว่า ลูกค้าไม่ร่วมมือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือมอง ESG เป็นแค่ทางเลือก ไม่ใช่ทางรอด ก็จะถือเป็นกับดักที่เราจะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียว
จากการสำรวจ พบว่า ปัจจุบันลูกค้าที่ต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับESGแล้ว เพราะถ้าเขาไม่ทำ จะโดนกีดกันทางการค้า แต่สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกิจในไทยนั้น ยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะมองว่า สินค้าที่ผลิตออกมานั้น ยังสามารถขายได้ โดยแม้ว่า จะธุรกิจในไทยจะไม่ได้มีการติดต่อกับธุรกิจต่างประเทศ แต่แนวโน้มธุรกิจในไทยที่เป็นซัพพลายเชนกับต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า ธุรกิจในไทยต้องปรับเปลี่ยนมายเซ็ต หรือ มุมมองในเรื่องดังกล่าวใหม่เพราะทุกธุรกิจต้องนำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ เพราะต่อไป ESG ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และ ESG ควรถูกนำมาเป็น License Corporate ด้านนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ตั้งเป้า Net Zero โดยจะไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง ผ่านแต่ละสเตปของการทำงานที่ต้องชัดเจน คนที่มาทำต่อจะต้องมั่นใจว่าต้องทำได้ตามแผน ปี ค.ศ.2030 ซึ่งต้องลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 50% ซึ่งปัจจุบันในพอร์ตโฟลิโอด้านผลิตภัณฑ์สามารถลดได้ 20% ที่เหลือทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน
โดยการนำมาเก็บไว้ในรูปแบบการดักจับคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS สำหรับแผนดำเนินงานจะต้องชัดเจน ซึ่ง CG มีแผนการลงทุน 5-10 ปี ทั้งในเรื่องของเงินลงทุน สัดส่วนการประหยัดพลังงาน ความสามารถทางการแข่งขันที่จะต้องดีขึ้น การเก็บคาร์บอนแล้วนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เป็นต้น ขณะที่นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เปิดเผยว่า ปัญหา Climate Change" สำคัญ โดยบีไอจี ได้นำ 3 แผนมุ่งสู่ความยั่งยืน นำเอาเทคโนโลยี Climate Technology มาช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนวัตกรรม เช่นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS, ไฮโดรเจน ซึ่งใช้ในรูปของพลังงาน, ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาให้ผู้บริโภคได้ใช้ และยั่งยืน และการนำเอา ไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน มาเป็นไบโอเบส ให้ง่ายขึ้น ซึ่งบีไอจีตั้งเป้า Net Zero ปี ค.ศ.2050 ปัจจุบันลดได้แล้ว 25%
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าว่า แผนปี2567 จะออกบลูบอนด์ 5 พันล้าน เพื่อหนุนธุรกิจรับ ESG พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 2571 อีกทั้งยังแนะภาคการเงินควรร่วมมือด้านการเงินต้นทุนต่ำแก่ธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย มาดูทางฝากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริตั้งเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. Green Procurement : การเลือกใช้วัสดุ Green Product และเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. Green Architecture and Design : การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยเช่น Cool Living Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน
ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า มีแนวคิดจะสร้างทางด่วนเพิ่มอีกกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 4 แสนตัน ซึ่งนับได้ว่ามากกว่าการผลิตคาร์บอนกว่า 7 เท่า พร้อมเน้นย้ำการเทคโนโลยีบวกสมองมนุษย์ เลิกใช้ฟอสซิล ช่วยสร้างเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้นในอนาคต จะเห็นได้ว่าทุกองค์กรที่กล่าวมาเบื้องต้นเดินหน้าสู่ “ความยั่งยืน หรือ Sustainability ” เพราะเทรนด์โลกธุรกิจในอนาคตที่กำลังจะเข้มข้นขึ้นในเรื่องของการรักษ์โลก
ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/846058
|