คนไทยใจเร็ว! เปิด 5 อินไซต์ พฤติกรรมยุค “เออ-ออ” 3 สินค้าที่ผู้บริโภคยุคใหม่ยอมจ่าย ไม่ยอมตกกระแส

คนไทยใจเร็ว! เปิด 5 อินไซต์ พฤติกรรมยุค “เออ-ออ” 3 สินค้าที่ผู้บริโภคยุคใหม่ยอมจ่าย ไม่ยอมตกกระแส

 

“เธอเอาไหม ฉันเอาด้วย” “อันไหนเธอว่าดี ฉันก็ว่าดี” “ถ้าเธอทุบ ฉันทุบด้วย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลัก ๆ จากอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้การเผยแพร่และแชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและเรียลไทม์ ส่งผลให้เกิด “Customer Journey” ที่สั้นและเร็วกว่าเดิม

โดยผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเพียงเพราะเห็นคนรอบข้าง ผู้มีอิทธิพลทางความคิด ที่เรียกกันว่า อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง และหากไม่ซื้อตามอาจพลาดสิ่งดี ๆ ไป เป็นเหตุให้เกิดคำนิยามที่ว่า “อันนั้นก็ดูดี อันนี้ก็อยากได้” นั่นเอง

จนทำให้เกิดกระแส "คล้อยตาม" หรือ “ซื้อตามกัน” อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการค้นหาหรือศึกษาข้อมูลนาน ๆ หรือการกลั่นกรองทางความคิด คิดแล้ว คิดอีก เหมือนแต่ก่อน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการตลาดในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เกิดเทรนด์การตลาดใหม่ที่เรียกว่า “การตลาดแบบเออ-ออ” 

 

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวในสัมมนาการตลาด “ER-OR Marketing: การตลาดแบบเออ-ออ พฤติกรรมตามกระแสของคนไทยในปัจจุบัน” ว่า CMMU ได้จัดทำงานวิจัย “ER-OR Marketing: การตลาดแบบเออ-ออ พฤติกรรมตามกระแสของคนไทยในปัจจุบัน” เพื่อศึกษาพฤติกรรม แรงจูงใจ และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรม สามารถปรับตัว วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์และตอบสนองทันต่อกระแสสังคมและใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมการคล้อยตามกันของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยการวิจัยนี้ จะเน้นไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจหลักที่มักมีการเออ-ออ ตามกันมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการลงทุน

อาหาร เครื่องดื่ม อันดับหนึ่งที่คนเออ-ออ ตามมากสุด

จากการสำรวจพบว่า “กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม” มีการเออ-ออ มากที่สุดถึง 60% โดยผู้หญิง Gen Z มีแนวโน้มเออ-ออ กินตามกระแสมากที่สุด ส่วนประเภทอาหารที่นิยมกินตามกันมักเป็นอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ คาเฟ่ และร้านอาหารนานาชาติ ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้คนกลุ่มนี้เออ-ออ ตามกัน คือ เพื่อนและรีวิวในแพลตฟอร์ม TikTok ตามด้วย Instagram และ Facebook Page

โดยผู้หญิงจะนิยมร้านบุฟเฟ่ต์และคาเฟ่มากที่สุด ส่วน LGBTQ+ และผู้ชายให้ความสำคัญกับร้านที่มีเอกลักษณ์ “กลุ่มเทคโนโลยี” ผู้ชาย Gen Y กว่าครึ่งนิยมเออ-ออ ตามกระแสเทคโนโลยีมากที่สุด

ส่วนสินค้าที่ทำให้คนเออ-ออ ตามกันมากที่สุด ได้แก่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะตอบโจทย์การใช้งานและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ โดยคนส่วนใหญ่มักเออ-ออ ตามผู้เชี่ยวชาญใน YouTube เพราะเชื่อว่ารู้จริงและให้ข้อมูลได้ครบถ้วน น่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ยังมีการสำรวจพฤติกรรมตาม Generation ซึ่งพบว่า Gen Y และ Z นิยมสินค้าทันสมัย เช่น สมาร์ตโฟน แอปพลิเคชัน และแก็ดเจ็ต Gen X เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานระยะยาว Baby Boomers มักเออ-ออ เลือกสินค้าราคาประหยัดและใช้งานง่าย

ทุก Gen ลงความเห็นว่า "ทองคำ" น่าเออ-ออ ลงทุนตามกระแสมากที่สุด

ส่วนกลุ่มการลงทุนทุก Gen ลงความเห็นว่า "ทองคำ" น่าเออ-ออ ลงทุนตามกระแสมากที่สุด และในภาพรวม Gen Z เป็นวัยที่มองหาการลงทุนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทันสมัย คล่องตัว เน้นการเติบโตระยะยาว โดยนักลงทุนส่วนใหญ่จะมองหาไอเดีย และเออ-ออลงทุนโดยพิจารณาร่วมกันระหว่างคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญใน YouTube & Facebook และการตัดสินใจของตนเอง

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเออ-ออในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ YouTube ครองใจกลุ่มผู้สนใจเทคโนโลยีและการลงทุน

ด้าน ชยณัฐ รักษาพันธ์ หัวหน้าทีมวิจัย นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่คนไทยเกิดพฤติกรรมเออ-ออ กับหลาย ๆ กลุ่มสินค้าและบริการกันมากขึ้นนั้นพบว่ามีปัจจัยและ 3 แรงจูงใจที่สำคัญคือ

1. Social Influence อิทธิพลทางสังคมที่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของบุคคล
2. Bandwagon Motivation พฤติกรรมการซื้อสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพราะอยากถูกยอมรับ
3. FOMO ความรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะพลาดอะไรไป หรือถูกตัดขาดจากสังคม

“ER-OR” คัมภีร์การตลาดชวนให้คล้อยตาม

นอกจากนี้ จากที่ได้ทำการวิเคราะห์เชิงลึกถึงพฤติกรรมเออ-ออ ยังได้สรุปเป็น ER-OR Strategy สำหรับรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งแบบเฉพาะหน้า ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว ดังต่อไปนี้

E – Engagement สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย : สร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านกิจกรรม แคมเปญ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น โพลล์ การคอมเมนต์ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและกระตุ้นการตัดสินใจ

R - Reliability สร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ : สร้างความมั่นใจว่าแบรนด์น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ด้วยการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ยิ่งแบรนด์มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ แนวโน้มที่คนหมู่มากจะคล้อยตามการรีวิว

O – Outstanding สร้างความโดดเด่นและแตกต่างเหนือคู่แข่ง : สร้าง "ความโดดเด่น" ให้กับสินค้าและบริการโดยเน้นคุณค่าที่ไม่เหมือนใคร คุณภาพที่เหนือกว่า หรือคุณสมบัติที่แตกต่าง เพื่อป้องกันความผิดหวังจากการคล้อยตามกัน และเพื่อให้แบรนด์เป็นที่จดจำ

 

R – Relationship สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเกิด Brand Loyalty : สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รับฟังและตอบสนองความคิดเห็นของลูกค้าพร้อมมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น โปรแกรมความภักดีที่ตอบโจทย์และเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้อซ้ำอีกเรื่อย ๆ

แสดงให้เห็นว่า “โซเชียลมีเดีย” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะเน้นให้ความเชื่อใจ จนเกิดพฤติกรรม “เออ-ออ” ตามมานั่นเอง หากแบรนด์มีการนำอินไซต์ตรงจุดนี้มาปรับทำกลยุทธ์ทางการตลาด เจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด จะทำให้แบรนด์สามารถเพิ่มขีดการแข่งขัน ชวนให้คล้อยตาม และทำให้ก้าวสู่การเป็น “แบรนด์ลอยัลตี้” ในระยะยาวได้ในที่สุด

 

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2836545

 

 

Visitors: 1,429,830