ปลาหมอคางดำ กำจัดไม่ได้แล้ว? คนไทยรับจบ ต้องปรับตัวอยู่กับเอเลี่ยนให้ได้

ปลาหมอคางดำ กำจัดไม่ได้แล้ว? คนไทยรับจบ ต้องปรับตัวอยู่กับเอเลี่ยนให้ได้

ทุกอย่างมันเกินควบคุมแล้ว! ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ให้หมดพ้นจากน่านน้ำไทยน่าจะเป็นไปไม่ได้ ชี้ ควรหาวิธีอยู่ร่วมกันน่าจะเวิร์กที่สุด

กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว สำหรับปลาหมอคางดำที่ปัจจุบันได้แพร่กระจายขยายพันธุ์ไปแล้ว 16 จังหวัด รวมหัวกันกัดกินปลาท้องถิ่น และกัดกร่อนถึงสภาพเศรษฐกิจของชาวบ้าน เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดการปัญหา พร้อมกับให้ความกระจ่างถึงข้อสงสัยจากประชาชน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกคน และเตรียมใช้มาตรการทั้ง 5 ข้อ เพื่อกอบกู้สถานการณ์ระบบนิเวศทางน้ำของไทยให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง โดยมั่นใจว่าสามารถจัดการปลาหมอคางดำได้อยู่หมัด ภายใน 3 ปี

เปิดลิสต์ 5 มาตรการเผด็จศึกปลาหมอคางดำ

  1. การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่ พบการแพร่ระบาด
  2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกงหรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู
  4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่          กันชนต่าง ๆ
  5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วม ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

กรมประมงจัดงานแถลงข่าว ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ปลาหมอคางดำ"

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐตั้งใจจะเดินหน้ากวาดล้างปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก จะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริง ปลาหมอคางดำคือปลาที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ทุก ๆ 22 วัน และอาจเพิ่มประชากรได้ปีละ 6 ล้านตัว การกำจัดให้สิ้นซากมันเป็นไปได้งั้นหรือ?

“ถ้ารวมลูกปลาในเมืองไทยน่าจะมีปลาหมอคางดำประมาณหมื่นล้านตัวแล้วครับ เพราะมีการกระจายพันธุ์หลายพื้นที่ อายุประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี เขาก็เริ่มออกลูกแล้ว และด้วยขีดความสามารถในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม มันก็ว่ายไปได้หมด” 

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ 
นักวิชาการด้านประมงน้ำจืด และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ กล่าว

ดร.ชวลิต วิทยานนท์  นักวิชาการด้านประมงน้ำจืด และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ

 

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยมองว่าการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากน่านน้ำไทยน่าจะ “Impossible” หรือ “เป็นไปไม่ได้แล้ว” ทว่า การหาทางอยู่ร่วมกันต่างหาก น่าจะเป็น “Action Plan” ที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ และเงื่อนไขที่ประเทศไทยเผชิญอยู่มากที่สุด

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า

"อย่างแรกคือเป้าหมาย คงต้องยอมรับว่า เมื่อเอเลี่ยนเข้าไปอยู่ในธรรมชาติถึงระดับหนึ่งแล้ว การจัดการให้หมดจนไม่มีเหลือ เป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้

ตัวอย่างง่ายๆ คือปลาซัคเกอร์ที่ยังมีอยู่ในบ้านเรา หรือปลาช่อนในอเมริกา

การจัดการปลาหมอคือการพยายามลดผลกระทบให้มากสุด

ผลกระทบแบ่งง่ายๆ เป็น 2 แบบ คือ ระบบนิเวศและการทำมาหากินของผู้คน

ปลาหมอคางดำเข้าไปในระบบนิเวศ กินสัตว์น้ำอื่น ส่งผลรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ปลาเข้าไปในบ่อบึง ส่งผลต่อกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ปลาเข้าไปในแหล่งประมง ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจหายไป ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แต่ปลาหมอราคาต่ำ"

 

"การจัดการด้านพื้นที่คือคุมการระบาดให้มากที่สุด

แบ่งพื้นที่ง่ายๆ เป็นเขตหลัก (อ่าวไทยตัวก.) เขตรองที่เป็นหย่อมๆ กระจายออกไปทั้งในแผ่นดินและในทะเล และเขตที่ปลายากไปถึง (เช่น เกาะต่างๆ แหล่งน้ำที่ไม่เชื่อมต่อกับแหล่งอื่น)

เขตหลักต้องเน้นการลดจำนวนปลาหมอ เขตรองต้องคุมไม่ให้ขยายออกไปข้างๆ เพิ่มขึ้น เขตไม่มีปลาไปถึงตามธรรมชาติ ต้องคุมไว้ให้ได้

การลดจำนวนแบบง่ายๆ คือจับเท่าที่ทำได้ นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ

คณะประมงพยายามทำ #เมนูกู้แหล่งน้ำ ทั้งทำสดและผลิตภัณฑ์ (น้ำปลา น้ำพริก ฯลฯ) ลองสอบถามข้อมูลที่คณะเพิ่มเติม

ยังรวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่คงต้องหาทางกันไป

อีกแบบคือส่งผู้ล่าลงไปจัดการ

ผู้ล่าต้องมี 3 คุณสมบัติ ได้แก่ ปลาท้องถิ่น มีประโยชน์ หาได้ในจำนวนมาก

ท้องถิ่น หมายถึงมีอยู่แล้ว จะไม่ส่งเอเลี่ยนไปกินเอเลี่ยน ไม่งั้นอาจเกิดปัญหาหนักขึ้น ลองศึกษาเรื่องด้วงอ้อยและคางคกยักษ์ในออสเตรเลียคงเข้าใจ

มีประโยชน์ หมายถึงต่อให้ไม่กินปลาหมอหรือกินได้ไม่เยอะ คนก็ยังจับมากินมาขายได้

หาได้เยอะ หมายถึงเราต้องรวบรวมพันธุ์ปลาได้มากพอ ไม่งั้นก็คงได้แต่คิด

นั่นอาจเป็นที่มาของปล่อยปลากะพงกินปลาหมอ เพราะปลากะพงขาวมีคุณสมบัติครบ

อย่างไรก็ตาม เราต้องศึกษาอีกเยอะ เช่น จะกินปลาอื่นไหม กินปลาหมอได้แค่ไหน ไซส์ไหนถึงเหมาะ ถ้ามีปลาหมอแค่นี้ควรปล่อยแค่ไหน ฯลฯ

การปล่อยปลาจึงต้องระมัดระวังผลกระทบข้างเคียง และศึกษาพื้นที่ให้แน่ชัดว่าจะควบคุมได้

สุดท้ายคือการยกเครื่องระบบเพื่อล้อมคอกหลังวัวหาย ซึ่งคงต้องทำต่อไปอย่างจริงจัง

ยังมีอีกหลายวิธี มีหลายผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว เราต้องหาทางอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำต่อไป และพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุดครับ"

ขณะที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG ถึงกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไว้ดังนี้ 

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

พื้นที่ที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไป แล้วผลกระทบยังไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น ปากแม่น้ำบางปะกง เราก็ต้องดูว่าทำไมบางปะกงถึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำแม่กลอง

ซึ่งมันเป็นเพราะว่าบางปะกงมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า มีปลาท้องถิ่น และระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากกว่า พอมันมีปลาท้องถิ่นอยู่เยอะ มันก็จะช่วยขัดขวาง และกำจัดปลาเอเลี่ยนออกไปได้

ถ้าระบบนิเวศไม่สมบูรณ์ น้ำเสีย หรือปลาใหญ่ถูกมนุษย์จับไปหมดแล้ว ถ้ามันเป็นแบบนี้ระบบนิเวศมันก็จะถูกรุกรานได้ง่าย"

 

แล้วคุณล่ะ...คิดว่าสุดท้าย “ปลาหมอคางดำ” จะถูกปราบสิ้นซากออกจากน่านน้ำไทยหรือไม่ และถึงเวลาหรือยังที่ทุกภาคส่วนควรเรียนรู้ และถอดบทเรียนจากวิกฤตการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกในอนาคต

 

ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/851568

 

Visitors: 1,327,084