กรรมวิธีดึงคาร์บอนออกจากอากาศ โดยใช้ หอหล่อเย็นดักจับคาร์บอน

กรรมวิธี "ดึงคาร์บอนออกจากอากาศ" เทคโนโลยีที่เรียกว่า Direct Air Capture
 
 
ถ้าจะเปรียบกับหนังมาร์เวล ภารกิจหลักที่อเวนเจอร์ทุกประเทศในโลกกำลังผนึกกำลังกอบกู้อยู่ คือการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพื่อคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปกว่านี้
 
 
เราคงได้ยินบ่อยอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนกำลังหาหนทางใหม่ ๆ ในการผลิตที่จะปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ได้ยิ่งดี แต่ปัญหาคือ แม้ทุกอุตสาหกรรมของเราจะไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาอีกเลย เราก็ยังไม่รอดพ้นหายนะอยู่ดี เพราะอะไร
 
 
ก็เพราะคาร์บอนส่วนที่ปล่อยออกมาแล้วยังคงมีมากมายมหาศาล ล่องลอยห่อหุ้มโลกเราไว้ให้กลายเป็นเหมือนลูกบอลร้อนๆ หรือนึกภาพผิวหนังของคนที่ไม่ได้ระบายเหงื่อไปตามรูขุมขน ความร้อนก็จะขังอยู่ภายใน และเขาก็จะเป็นโรคลมแดดตายในที่สุด
 
 
ปัญหานี้มีคนพยายามคิดและพบวิธีแก้ไขมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 แล้ว โดยกรรมวิธี "ดึงคาร์บอนออกจากอากาศ" เทคโนโลยีที่เรียกว่า Direct Air Capture หรือ DAC พัฒนาขึ้นโดยบริษัทวิศวกรรมคาร์บอนจำนวนไม่มากนัก แต่ผลงานของพวกเขาใช้การได้ผลดี มีหลายแบบทั้งเครื่องที่ติดตั้งไว้ตามโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งในกระบวนการผลิตไฟฟ้านั้นต้องปล่อยคาร์บอนออกมามาก เจ้าเครื่องนี้ก็จะกักคาร์บอนไว้ไม่ให้ปล่อยออกไปแต่แรก และยังมีทั้งแบบสแตนด์อะโลน เป็นเครื่องที่คอยดูดอากาศที่ไหนก็ตามเข้าไป สกัดเอาคาร์บอนออก แล้วปล่อยอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สิ่งแวดล้อม
 
 
ส่วนคาร์บอนที่สกัดไว้ก็มีทั้งนำไปเก็บไว้ใต้ผืนโลก นำไปแปรรูปแล้วขายต่อให้กับอุตสาหกรรมอย่างการผลิตซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน หรือแม้แต่บริษัทน้ำอัดลม
 
 
แต่ปัญหาของเจ้าเครื่อง DAC ที่ว่านี้ก็คือมันราคาสูงมาก จึงบริษัทไม่มากนักที่ยอมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม และเหตุที่มันแพงนักก็เพราะการก่อสร้างเครื่อง DAC ใช้ต้นทุนสูง แถมหลายแห่งยังมีข้อกังขาว่าระหว่างกระบวนการสร้างอาจจะปล่อยคาร์บอนออกมาไม่คุ้มกับที่ดูดเข้าไป และในการทำงานของมันซึ่งต้องใช้พัดลมดูดอากาศเข้าไปในเครื่อง ก็ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก และในการผลิตไฟฟ้าก็นำมาซึ่งการปล่อยคาร์บอนอีก ปัญหามันก็เลยวนเป็นวงจรน่าปวดหัว
 
 
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ตอัพหัวใสชื่อ NOYA ประกาศการค้นพบพร้อมแผนการที่จุดประกายความหวังได้อีกครั้ง แนวคิดหลักของพวกเขาคือ แทนที่จะสร้างเครื่อง DAC ขึ้นมาใหม่ในราคาสูงลิบ ทำไมไม่ดัดแปลงหอหล่อเย็นที่เราเห็นตามอาคารอุตสาหกรรมต่างๆ มาใช้ในการดักจับคาร์บอนไปด้วย
 
 
โดยหลักการแล้ว หอหล่อเย็นคือกล่องใหญ่ ๆ ที่มีปั๊มน้ำและพัดลมอยู่ข้างบน คอยดึงอากาศรอบๆ เข้าไปอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องสร้างสิ่งใหม่เพิ่ม ประหยัดพลังงานและประหยัดต้นทุน กลไกภายในของหอหล่อเย็นใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในกระบวนการหล่อเย็น บริษัทโนย่าก็ใช้วิธีเติมสารเคมีเข้าในน้ำเพื่อให้มันดูดซับคาร์บอนจากอากาศเหล่านั้นไว้ และนำมาคาร์บอนที่ได้ผ่านอุปกรณ์อัดเก็บเพื่อนำไปขายต่อได้อีก
 
 
พวกเขาประเมินไว้ว่าในสหรัฐฯ มีหอหล่อเย็นประมาณ 2 ล้านแห่ง จึงเป็นไปได้ที่จะสร้างเป็นเครือข่ายดักจับคาร์บอนขนาดใหญ่ แผนการของพวกเขาคือเริ่มต้นที่เบย์แอเรียก่อน แล้วนำคาร์บอนไปขายต่อให้โรงเบียร์ บาร์ ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มอัดก๊าซ และขยายต่อยอดให้กว้างขวางขึ้น
 
 
หากแผนการพวกเขาสมบูรณ์ หอหล่อเย็นทุกแห่งในสหรัฐอเมริกาสามารถดักจับคาร์บอนได้ พวกเขาคำนวณว่าจะสามารถดักจับได้ทั้งหมดหนึ่งหมื่นล้านตันต่อปี
 
 
ฟังตัวเลขแล้วดูมีความหวัง แปลว่าถ้าทำได้ตามแผนของโนย่า คาร์บอนจะหมดจากโลกแล้วสินะ คำตอบอยู่ที่ตัวเลขปริมาณคาร์บอนที่เราปล่อยออกมาต่อปี ขณะนี้อยู่ที่ปีละประมาณห้าหมื่นล้านตัน สมมติว่าเราดักจับได้หมื่นล้านตัน ก็ยังเหลืออีกสี่หมื่นล้านตัน เป็นภาระให้เหล่าอะเวนเจอร์ต้องหาทางกำจัดมันอยู่ดี
 
 
อ้างอิงข้อมูล
เครดิตภาพ Bruno /Germany from Pixabay
สำนักพิมพ์ Sophia
 
Visitors: 1,217,504