อะไรคือ Digital Nomad? คนกลุ่มนี้มีมากมายในบ้านเรา แต่พวกเขามาที่นี่ทำไม?

อะไรคือ Digital Nomad? คนกลุ่มนี้มีมากมายในบ้านเรา แต่พวกเขามาที่นี่ทำไม?
 
.
ณ ปี 2022 ถ้าคนตามเรื่องราวเกี่ยวกับเทรนด์โลกอยู่เรื่อยๆ คงจะเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า Digital Nomad แต่ถ้าไปถามแต่ละคนที่เคยได้ยินว่าจริงๆ ‘นิยาม’ Digital Nomad คืออะไร? ก็คงมีน้อยคนที่สามารถบอกได้
.
เนื่องในโอกาสว่าคนกลุ่มนี้ขยายตัวมากขึ้นในโลก และมีในบ้านเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเราก็พยายามจะสร้างเงื่อนไขให้ ‘นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาท่องเที่ยว’ เหล่านี้เข้ามาในบ้านเราเพื่อสร้างรายได้จาก ‘การท่องเที่ยว’ เราก็น่าจะพยายามทำความเข้าใจคนเหล่านี้มากขึ้น
.
อะไรคือ Digital Nomad? ถ้าจะให้อธิบายแบบสั้นที่สุดคือ เหล่า ‘แบ็คแพ็คเกอร์’ ที่สามารถทำงานระยะไกลสร้างรายได้ไปเรื่อยๆ ทำให้สามารถเดินทางไปได้เรื่อยๆ เช่นกันโดยไม่ต้อง ‘กลับบ้าน’
ซึ่งก็แน่นอน สมการที่สำคัญที่จะทำให้คนทำแบบนี้ได้ก็คือ คุณต้องรับเงินเดือนแบบประเทศโลกที่ 1 ด้วยวิธีอะไรสักอย่าง แต่คุณใช้ชีวิตทางกายภาพอยู่ในประเทศโลกที่ 3 ที่ค่าครองชีพถูกๆ (การทำแบบนี้มีศัพท์เทคนิคเลยเรียกว่า Geoarbitrage) และในแง่นี้ มันเลยเป็นเหตุผลว่าเราจะเจอคนกลุ่มนี้เยอะมากในเมืองไทย ในอินโดนีเซีย ในลาตินอเมริกา ในแคริบเบียน แต่คุณจะไม่ค่อยเจอคนพวกนี้แถวยุโรปตะวันตก ทวีปอเมริกาเหนือ หรือกระทั่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
.
ถ้าจะสังเกตคนพวกนี้ต้องดูยังไง? คนพวกนี้ส่วนใหญ่คือคนผิวขาววัย 30-40 ปี (ผู้หญิงผู้ชายพอๆ กัน) ที่ดูไม่ใช่พวก ‘expat’ หรือคนต่างชาติที่ถูกบริษัทแม่ส่งมาทำงานในบ้านเราแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ ‘แบ็คแพ็คเกอร์’ เช่นกัน พวกนี้มักจะแต่งตัวดูเหมือน ‘นักท่องเที่ยวทีมีเงิน’ คือแต่งตัวสบายๆ ใส่เสื้อยืด เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น แต่เราก็จะไม่พบพวกเขาตามสถานที่ท่องเที่ยว แต่จะพบพวกเขาตามร้านกาแฟหรือตามรีสอร์ตริมทะเล ซึ่งอวัยวะสำคัญของคนพวกนี้คือแล็บท็อป หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เราจะเห็นพวกนี้ ‘นั่งทำงาน’ กับคอมพิวเตอร์ เพราะพวกเขามา ‘นั่งทำงาน’ ด้วย ไม่ใช่มาเที่ยวอย่างเดียว
.
นี่เลยนำมาสู่สิ่งที่ Digital Nomad ต้องการที่สุดในไลฟ์สไตล์นี้ก็คือ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่เร็วและราคาสมเหตุสมผล เพราะคนพวกนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต และนี่เป็นสาเหตุที่เมืองไทยเป็นประเทศยอดนิยมของคนกลุ่มนี้ คือมันไม่ใช่แค่ว่าประเทศเรา ‘น่าเที่ยว’ แต่เน็ตบ้านเราเร็วพอและเครือข่ายไปทั่วถึง และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาเลือกเมืองไทยแทนที่จะเป็นพม่า กัมพูชา หรือกระทั่งเวียดนามในการเป็น ‘ฐานทัพในการทำงาน’
.
จริงๆ แล้วไอเดียของวิถีชีวิตแบบนี้มีมานาน และหนังสือ Digital Nomad ที่เป็นชื่อของ ‘ขบวนการ’ นี้ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 1997 แล้ว (โดยสึกิโอะ มากิโมโตะ) แต่ในยุคโน้น ไอเดียแบบนี้ยังเป็นไปไม่ได้อย่างแพร่หลายแน่ๆ เพราะเน็ตตอนนั้นยังเป็นเน็ตแบบต่อกับสายโทรศัพท์ และคนยุคนั้นยังไม่มี ‘มือถือ’ อย่างแพร่หลายกันเลย
.
อย่างไรก็ดี พอเราเริ่มมาอยู่ในยุคของอินเทอร์เน็ตไฮสปีดและสมาร์ทโฟน หนังสือ The 4-Hour Workweek: Escape 9-5, Live Anywhere, and Join the New Rich ในปี 2007 ของทิโมธี เฟอริส ก็แทบจะเป็น ‘คัมภีร์’ ของไลฟ์สไตล์แบบ Digital Nomad ที่เราเห็นกันทุกวันนี้
.
ซึ่งก็อย่าคิดว่าอะไรพวกนี้จะกระแสตกลงหลังโควิดเพราะคนส่วนใหญ่ ‘ไปเที่ยวไม่ได้’ ยาวนานในช่วงโควิด เพราะอีกด้าน ในช่วงโควิดที่ผ่านมา การล็อคดาวน์ทำให้ระบบการทำงานทั่วโลกเปลี่ยนไปหมด ทั้งนายจ้างและลูกจ้างตระหนักมากขึ้นว่างานตัวเองไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นเดือนๆ ก็ดำเนินไปได้ตามปกติ และนี่ก็ทำให้คนเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นของการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำ ซึ่งขั้นกว่าของมันก็คือการทำงานแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย ประชุมและส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตล้วน และก็รับเงินกันไปผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นกัน
.
พูดง่ายๆ ก็คือสภาพการทำงานปัจจุบันมันทำให้ ‘ไลฟสไตล์’ แบบ ‘ย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ’ สไตล์ Digital Nomad เป็นไปได้มากขึ้น และก็ไม่แปลกที่หลายๆ ชาติเริ่มสนใจคนกลุ่มนี้ในฐานะของแหล่งสร้างรายได้ในภาค ‘การท่องเที่ยว’ ที่ซบเซาสาหัสไปในช่วงโควิดจนเริ่มพิจารณานโยบายดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในประเทศ
.
ทีนี้หลายๆ คนอาจเห็นคนกลุ่มนี้แล้วงงมาก ไม่เข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไรในชีวิต เพราะพวกเราจำนวนมาก โตมากับยุคอเมริกันดรีมที่ ‘อุดมคติ’ ของชีวิตคือการ ‘ลงหลักปักฐาน’ แต่งงาน มีบ้าน มีรถ มีลูก และมาเจอพวก Digital Nomad ที่ ‘อุดมคติชีวิต’ ไม่ได้ต้องการจะมีครอบครัวหรือกระทั่งบ้าน ต้องการแค่จะย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ เข้าไปก็อาจงงสุดๆ
.
แต่ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ คนพวกนี้ก็คือคนที่มีไอเดียว่าตัวเองเป็น ‘พลเมืองโลก’ (global citizen) นั่นเอง พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขึ้นอยู่กับรัฐใด และคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์จะทำงานที่ไหนก็ได้ และตลาดแรงงานปัจจุบันก็ดันยอมรับพวกเขาด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกอีกที่ภาคอุตสาหกรรมที่รับแรงงานกลุ่มนี้สุดคือไอที และถ้าไปถามพวกคนกลุ่มนี้ก็จะพบว่าร้อยทั้งร้อยทำงานในอุตสาหกรรมไอที ซึ่งหน้าที่การงานที่เป็นไปได้ตั้งแต่โปรแกรมเมอร์ยันนักการตลาดนักวางกลยุทธ์ นอกจากนี้ยุคหลังๆ ในยุคที่คริปโทเคอร์เรนซีเฟื่องฟู พวก ‘วัยรุ่นคริปโท’ รุ่นแรกๆ ที่กลายเป็น ‘เศรษฐีคริปโท’ แบบงงๆ ก็น่าจะรวมอยู่ในคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่ง ‘งาน’ ของคนกลุ่มนี้ถ้าจะมีก็คงจะเป็นการเทรดคริปโทน่ะแหละ
.
แล้วอะไรคือ ‘อุปสรรค’ ของคนพวกนี้ในการจะมีไลฟ์สไตล์แบบ Digital Monad
.
ลิสต์ปัญหาคลาสสิคมีชัดเจนคือ 1. การรักษาพยาบาล 2. วีซ่า 3. ภาษี
.
ปัญหาแรกนั้น ทั่วๆ ไปพลเมืองในชาติตะวันตก (ยกเว้นอเมริกา) การรักษาพยาบาลจะทำได้ฟรี เพราะเขามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก็แน่นอนอีก ที่สิทธิพวกนี้ไม่ได้ติดตัวมาเวลาคนจากชาติเหล่านี้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และด้วยความเป็น Digital Monad ที่มักจะย้ายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยและอยู่ยาวๆ พวก ‘ประกันการท่องเที่ยว’ ที่ปกติรับประกันไม่เกิน 1 เดือนในประเทศเดียวจึง ‘ไม่ครอบคลุม’
.
สมัยก่อนเรื่องนี้มีปัญหามาก จนสุดท้ายเกิดบริษัทชื่อ Safety Wing ซึ่งเป็นประกันสุขภาพแบบไร้พรมแดนสำหรับ Digital Nomad โดยเฉพาะ ปัญหาด้านสุขภาพก็เลยได้รับการแก้ไขในที่สุด (ซึ่งความฮาคือบริษัทนี้ก็ไม่มีออฟฟิศ และก็ดำเนินการโดย Digital Nomad น่ะแหละ พูดง่ายๆ คือเป็นประกันสำหรับ Digital Nomad โดย Digital Nomad)
.
ปัญหาที่สอง วีซ่า อันนี้ก็คลาสสิคมาก คือถ้าคุณจะเป็น Digital Nomad คำถามแรกๆ คือ คุณจะใช้วีซ่าแบบไหนเข้าประเทศที่คุณจะไป ‘นั่งทำงาน’? คุณจะใช้วีซ่าท่องเที่ยว คุณก็จะอยู่นานไม่ได้ แต่ถ้าคุณจะใช้วีซ่าทำงาน คำถามคือสิ่งที่คุณทำมันคือ ‘งาน’ ในความหมายของวีซ่าหรือ? เพราะงานของคุณอยู่ในประเทศอื่น ไม่ใช่ประเทศที่คุณนั่งทำงาน คำถามคือคุณจะขอวีซ่าแบบไหน?
.
อะไรพวกนี้สมัยก่อนมันเวียนหัวมาก เพราะรัฐปลายทางก็ไม่มีความเข้าใจคนกลุ่มนี้ แต่หลังโควิดมา รัฐจำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่าคนกลุ่มนี้ต่างออกไป พวกเขาไม่ใช่ ‘เอ็กซ์แพต’ ที่มาทำงานยาวๆ กับบริษัทในประเทศ แต่พวกเค้าก็ไม่ใช่ ‘นักท่องเที่ยว’ เหมือนกัน เพราะพวกเขามา ‘นั่งทำงาน’ ไม่ได้แค่ ‘มาเที่ยว’
.
ซึ่งผลสรุปคือ หลายๆ ประเทศที่คิดว่าตัวเองอยากให้ Digital Nomad มาใช้ชีวิต มาจับจ่าย ก็จะทำการออกวีซ่าแบบเฉพาะให้ และปัญหานี้ก็ดีขึ้น
.
แต่ปัญหาข้อสุดท้ายที่เป็นปัญหาใหญ่สุดๆ ก็คือเรื่อง ‘ภาษี’
.
คำถามง่ายๆ ก็คือ เงินได้ของ Digital Nomad ต้องจ่ายภาษีเงินได้กับรัฐไหน?
.
อันนี้เป็นเรื่องที่โลกแตกมาก เพราะหลักการเก็บภาษีแต่ละชาติไม่เหมือนกัน บางชาติแค่คุณมีสัญชาติ คุณอยู่ที่ไหนในโลก เขาก็อ้างว่ามีสิทธิ์เก็บภาษีเงินได้ของคุณ (เช่น สหรัฐอเมริกา) แต่หลายๆ ชาติก็ไม่อ้างแบบนั้น หรือถ้าคุณไปอยู่ไปทำงานในต่างประเทศยาวๆ ถึงคุณมีสัญชาติ รัฐก็ไม่ตามไปเก็บภาษีเงินได้ของคุณ (ในไทยใช้ระบบนี้)
.
นอกจากนี้ มันยังมีหลักที่เรียกว่า ‘กฎ 183 วัน’ คือถ้าคุณอยู่ในประเทศไหนในปีภาษีเกินครึ่งปี คุณก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้กับประเทศนั้น เพราะเขาใช้การอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีเป็นตัวชี้วัดว่าคุณ ‘ทำงาน’ ณ พื้นที่ตรงนั้น (ซึ่งในไทยระเบียบไม่ใช่ 183 วัน แต่เป็น 180 วัน อย่างไรก็ดี มันหลักการเดียวกัน)
.
ตรงนี้คำถามคือ แล้วพวก Digital Nomad มาจากชาติที่จะไม่เก็บภาษีกับคุณถ้าคุณอยู่นอกประเทศ แล้วในปีๆ หนึ่งคุณไม่อยู่ในประเทศไหนเกิน 183 วันเลย คุณจะต้องจ่ายภาษีกับใคร?
คำตอบคือ คุณอาจไม่ต้องจ่ายภาษีให้ประเทศไหนเลย เพราะคุณมีชีวิตอยู่ใน ‘ช่องโหว่’ ของระบบภาษีของโลก ประเทศของคุณไม่ตามมาเก็บภาษีคุณ เพราะเขาถือว่าคุณอยู่ในประเทศไม่ถึงครึ่งปี ส่วนประเทศที่คุณนั่งทำงานแต่ละประเทศนั้นก็ไม่เก็บภาษีคุณเช่นกัน เพราะคุณอยู่ในระยะเวลาที่สั้นเกินไป
.
และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวก Digital Nomad โปรดปรานไลฟ์สไตล์แบบนี้ เพราะมันทำให้พวกเขาได้รายได้เต็มๆ จากงาน ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในกรณีของพวกชาติตะวันตกรัฐสวัสดิการทั้งหลาย นั่นหมายถึงรายได้คุณอาจเพิ่มมาราวๆ 30-40 เปอร์เซ็นต์เพียงเพราะคุณไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ใดๆ
.
แน่นอน ไม่มีรัฐไหนที่จะแฮปปี้กับการเล่นกับช่องโหว่ทางภาษีแบบนี้ โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการทั้งหลายที่ต้องการเก็บภาษีคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ไปดูแลคนแก่ที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ตราบที่พลเมืองยังเป็น Digital Nomad กันไม่มากเกินไป การไปออกกฎหมายใหม่มาจัดการกับคนพวกนี้โดยเฉพาะก็คงจะดูตลก
.
ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่าในปี 2021 มี Digital Nomad อยู่ถึง 35 ล้านคน ซึ่งถ้ามองว่าคนพวกนี้จากแต่ละชาติเต็มที่ก็น่าจะมีแค่ ‘หลักหมื่นหลักแสน’ ก็ไม่น่าแปลกเท่าไรที่รัฐยังไม่เคลื่อนไหวอะไร เพราะมันยังไม่กระทบกับภาษีที่เก็บได้มากนัก
.
แต่ถ้าไปแตะหลักล้านเมื่อไร ก็ไม่แน่ว่าหลายๆ รัฐจะต้องมีมาตรการด้านภาษีกับคนกลุ่มนี้ เพราะไม่ว่าพวกเค้าจะอ้างว่าตัวเองเป็น ‘พลเมืองโลก’ แค่ไหน แต่ ‘พาสปอร์ต’ ที่พวกเขาถืออยู่ก็ยังมี ‘สัญชาติ’ ทั้งนั้น
 
 
.
อ้างอิง: Scroll.in. Digital nomads have rejected the office. Now they want to replace the nation state. https://bit.ly/3xFyAGj
The Broke Backpacker. Everything You Need to Know about Digital Nomads | 41 Amazing Statistics. https://bit.ly/3xCvO4K
.
 
ที่มา : https://www.facebook.com/brandthink.me
 
 
Visitors: 1,215,915