ตายยังไงไม่ให้โลกร้อน? รู้จักเทคนิคการ ‘ตุ๋นละลายศพ’

ตายยังไงไม่ให้โลกร้อน? รู้จักเทคนิคการ ‘ตุ๋นละลายศพ’
 
 
เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่เท่าไร แต่บาทหลวงนักสิทธิมนุษยชนดีกรีรางวัลโนเบลสันติภาพผู้นี้ก็มีดีมากกว่าโควทอมตะที่แชร์กันในอินเทอร์เน็ต พร้อมกับรูปของเขาอย่าง “มันมาถึงจุดที่เราจะต้องเลิกช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำขึ้นมาบนฝั่งแล้ว แต่เราต้องไปดูที่ต้นน้ำเพื่อหาว่าทำไมคนถึงตกน้ำแต่แรก” (ที่จริงก็ไม่มีหลักฐานว่าเขาพูดเอง)
.
เพราะอย่างน้อยๆ ตอนเขาตายไปอย่างเงียบๆ เมื่อช่วงปลายปี 2021 ก็มีพิธีศพด้วยกระบวนการที่แปลกใหม่ที่เรียกว่า ‘Aquamation’ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า ‘การเผาศพโดยไม่ใช้ไฟ’ หรือถ้าจะเรียกให้ตรงกระบวนการจริงๆ คือการ ‘ตุ๋นละลายศพ’
.
แล้วกระบวนการนี้คืออะไร? อธิบายแบบสั้น ง่าย ได้ใจความที่สุดก็คือ มันคือการเอาศพไปใส่ในสารละลายที่มีความเป็นด่างสูงใน ‘โรงแรงดัน’ แล้วเอาไป ‘ตุ๋น’ ที่อุณหภูมิประมาณ 150-160 องศาเซลเซียส ซึ่งโรงแรงดันนี้ก็คล้ายๆ หม้อแรงดัน คือมันเร่งกระบวนการให้เนื้อเยื่อนิ่มได้เร็วกว่าการตุ๋นปกติที่เกิดขึ้นที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส อันเป็นจุดเดือดของน้ำ ซึ่งพอต้มไป 4-6 ชั่วโมง ผลก็คือเนื้อเยื่อก็จะสลายหมด เหลือแต่กระดูกเอาไปประกอบพิธีกรรมอย่างอื่นต่อ
.
จริงๆ ไอเดียนี้แรกเริ่มเดิมทีคือไอเดียเพื่อย่อยสลาย ‘ซากสัตว์’ อย่างรวดเร็วเพื่อ ‘ทำปุ๋ย’ และคนก็เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งพอมาในทศวรรษ 1990 ก็ถูกเริ่มใช้กับมนุษย์ในพิธีศพของ ‘อาจารย์ใหญ่’ ในโรงเรียนแพทย์ในอเมริกา และสุดท้ายพวกธุรกิจงานศพก็เริ่มเสนอทางเลือกนี้ให้ผู้ใช้จัดงานศพในอเมริกาช่วงปี 2011
.
สาเหตุที่ธุรกิจงานศพได้เสนอทางเลือกแบบนี้ก็หนีไม่พ้นกระแส ‘โลกร้อน’ เพราะช่วงหลังๆ ในโลกตะวันตกหลังจากที่ราคาที่ดินขึ้นและคนไม่สามารถจะฝังศพได้แบบเดิม คนก็เริ่มหันไปเผาศพแทน แต่ปัญหาคือการเผาศพปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู้ชั้นบรรยากาศมาก และทำให้โลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ (จะบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดก่อนมีโควิดก็พอได้)
.
ดังนั้นในแง่นี้ ในโลกตะวันตกก็เลยมีทางเลือกในการทำสิ่งต่างๆ ไม่ให้โลกร้อน ตั้งแต่การเปลี่ยนจากกินเนื้อสัตว์มากินพืช ใส่เสื้อผ้าสไตล์ ‘Slow Fashion’ และในแง่นี้ กระบวนการ ‘ละลายศพ’ จึงเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้โลกร้อนในแบบร่วมสมัยเท่านั้นเอง
.
จริงๆ กระบวนการทั้งหมดก็ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว สารละลายที่เป็นด่างก็ไม่เป็นพิษต่อธรรมชาติ และเอาไปรดต้นไม้ได้ (แน่นอนเพราะนำเทคนิคนี้มาจากกระบวนการทำปุ๋ย) การเอาไปต้มต้องทำที่โรงแรงดันก็เพราะถ้าต้มแบบปกติที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ศพจะละลายก็จริง แต่จะใช้เวลาถึง 16 ชั่วโมง ในขณะที่ถ้าใส่ในโรงแรงดัน อุณหภูมิจะสูงขึ้นไปได้ถึง 150 องศาเซลเซียส ทำให้กระบวนการย่อยสลายทั้งหมดเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง และเป็นการลดเวลาตุ๋น (กระบวนการยิ่งจบเร็ว ก็ยิ่งทำให้โลกร้อนน้อยลง)
.
ถ้าถามว่ากระบวนการที่ดีแบบนี้ ทำไมคนไม่นิยมใช้กัน คำตอบก็อาจกลับมาเรื่องของความเชื่อทางศาสนา ซึ่งจริงๆ ในโลกตะวันตกที่เขาฝังกันแต่แรกก็เพราะมีความเชื่อว่าการเอาศพไปเผาหรือทำอย่างอื่นเป็นการหมิ่นศาสนา ซึ่งทางคริสต์นิกายที่อนุรักษนิยมหน่อยจะไม่ได้จัดงานศพด้วยวิธีอื่นนอกจากใส่โลงฝังตามประเพณีด้วยซ้ำ
.
และในแง่นี้ การที่ เดสมอนด์ ตูตู เลือกจะใช้วิธีการ ‘ตุ๋นละลายศพ’ กับศพตัวเองในนามของการสู้โลกร้อนนั้น ก็น่าจะเป็นการสื่อสารกับโลกในวาระสุดท้ายถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับโลกร้อนที่ควรจะเหนือกว่าความเชื่อดั้งเดิมใดๆ ของมนุษย์
.
อ้างอิง: CNN. What is aquamation? The green alternative to cremation chosen by Desmond Tutu. https://cnn.it/33EQiOi
The Indian Express. Explained: What is aquamation, the green alternative to cremation chosen by Desmond Tutu? https://bit.ly/3GKFYCY
The Guardian. What is aquamation? The process behind Desmond Tutu’s ‘green cremation’. https://bit.ly/33BbwNd
.
 
ที่มา : BrandThink
https://www.facebook.com/brandthink.me
 
 
Visitors: 1,222,708