'ดีอี' เข็นตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รับมือภัยคุกคาม
'ดีอี' เข็นตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รับมือภัยคุกคาม
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดพิธีปิด “โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program II)” พร้อมพิธีมอบประกาศนียบัตรและโล่ศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA) โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธี นายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบซึ่ง “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ถือเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ภายใต้นโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ได้เร่งผลักดันการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อให้ประเทศสามารถใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การเปิดบัญชีม้า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเว็บพนัน โดยจะประสานงานกับทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพระบบอายัดบัญชีให้รวดเร็ว และจัดตั้ง “ศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center)” เพื่อรับมือการโจมตีจากต่างประเทศ รวมถึงยกระดับศูนย์ประสานงานด้านไซเบอร์ทั้งในภาครัฐและเอกชน พร้อมสนับสนุนการใช้ระบบคลาวด์ภาครัฐที่ปลอดภัย “ใบประกาศนียบัตรที่ทุกท่านได้รับในวันนี้ ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของความสำเร็จ แต่คือพลังในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงในยุคดิจิทัล และโครงการนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นสู่อนาคตที่ประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับนานาชาติ” พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการโดย THNCA ภายใต้การกำกับของ สกมช. และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร
ทั้งนี้ ผลจากโครงการระยะที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 13,000 คน จากเป้าหมายเดิมเพียง 6,650 คน กลุ่มเป้าหมายรวมถึงบุคลากรในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์อีกหนึ่งความสำเร็จเด่น คือ จำนวนผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตรความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศระดับนานาชาติ (CISSP) ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 385 คน เป็น 431 คน หรือเพิ่มขึ้น 12% อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวได้สะท้อนถึงมาตรฐานการอบรมที่มีคุณภาพ และสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการยังมีการจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง อาทิ การวิเคราะห์ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Threat Intelligence), การเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Hacking), ความมั่นคงปลอดภัยระบบควบคุมอุตสาหกรรม (OT Security), การพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล (Digital Forensics) และการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ระดับสูง สำหรับผู้บริหารองค์กร
|