คริปโตฯ/คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คืออะไร?

คริปโตฯ/คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คืออะไร?

 

คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) น่าจะเป็นคำที่แมสขึ้นมากในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา หลายคนกระโดดมาเทรดคริปโตฯ เป็นทางเลือกการลงทุนหนึ่ง ทว่าไอ้เจ้าคริปโตฯ หรือสกุลเงินดิจิทัลเนี่ย จริงๆ แล้วในนิยามของมันคืออะไรกันแน่ แล้วมีประเภทไหนบ้าง ‘Future Word’ วันนี้จึงขอเลือกศัพท์นี้มานำเสนอให้ได้เข้าใจกันมากขึ้น

 

คริปโตเคอร์เรนซี หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า คริปโตฯ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) หรือสกุลเงินเข้ารหัส ที่ถูกออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน แน่นอนว่า การเป็นดิจิทัลนั้นจับต้องไม่ได้ (ไม่เหมือนเหรียญหรือธนบัตรที่ใช้แลกเปลี่ยนแบบมีวัตถุเป็นรูปธรรม) แต่ก็สามารถแลกเปลี่ยนได้ระหว่างกันโดยมูลค่าขึ้นอยู่กับความพึงใจของทั้งสองฝ่าย

คริปโตฯ จะมีการเข้ารหัสลับเพื่อรับประกันธุรกรรม เพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนสินทรัพย์ โดยทำงานบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (blockchain) ซึ่งเป็นเหมือนระบบกล่องบันทึกและส่งข้อมูล ที่ทุกคนในระบบจะได้รับบันทึกการทำธุรกรรมอย่างทั่วถึงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของกันและกัน บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีตัวกลาง ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบและส่งข้อมูล (ปกติถ้าไปธนาคาร เราจะมีตัวกลางคือพนักงานคอยบันทึกธุรกรรม คอยดึงเงินเข้า-ออกให้) ดังนั้น จึงพิเศษตรงที่ว่า การทำธุรกิจคริปโตฯ บนระบบบล็อกเชนนั้น ย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงได้ยาก (มากๆ) เพราะสำเนาได้ถูกกระจายไปทั่วแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงต้องย้อนกลับไปแก้ทุกสำเนาที่ทุกคนในระบบถืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

คริปโตฯ ตัวแรกของโลกที่เกิดขึ้นคือ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) ในปี ค.ศ.2009 โดยมีทั้งหมด 21 ล้านเหรียญและถูกกำหนดไว้ว่าจะไม่มีการเพิ่มจำนวนไปมากกว่านี้ ซึ่งบิตคอยน์เกิดขึ้นมาเพื่อท้าทายระบบการเงินเดิม โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยทางการเงินโดยไร้ตัวกลางคอยควบคุม และให้คนที่ถือเหรียญทุกคนตรวจสอบกันเอง (ไว้เราจะมาทำความรู้จักบิตคอยน์เพิ่มขึ้นกับ Future Word ในครั้งถัดๆ ไป)

เราสามารถซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และสะสมคริปโตฯ ได้ และเจ้าคริปโตฯ นี้ ยังสามารถใช้แทนมูลค่าของบริการที่ถูกสร้างไว้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย (เช่น เป็นค่าธรรมเนียมในการเทรดบนตลาด) ทีนี้คริปโตฯ แบ่งเป็นกี่ประเภทบ้าง มาดูกัน

 

1. Store of Value หรือคริปโตฯ แบบรักษามูลค่า

เหรียญประเภทนี้เป็นเหรียญที่มีจำกัด ออกมาเท่าไหร่ จำนวนบันทึกไว้เท่านั้น ไม่มีการเพิ่มจำนวน โดยมูลค่าเหรียญกลุ่มนี้จะขึ้นกับข่าวสารและปริมาณความต้องการในตลาด เหรียญในประเภทนี้ได้แก่ Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) เป็นต้น

 

 

2. Smart Contract คริปโตฯ สัญญาอัจฉริยะ

ประเภทนี้คือเหรียญที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชน ที่สามารถใช้ smart contract ได้ ซึ่งเจ้า smart contract คือสัญญาอัจฉริยะ ที่ทำให้ผู้พัฒนาอื่นๆ สามารถมาปลั๊กอินพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ บนตัวมันได้ เช่น DeFi (decentralized finance – ระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์) โดยมูลค่าเหรียญประเภทนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการในตลาดและความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เข้ามาพัฒนาบนเครือข่ายของมัน ตัวอย่างของคริปโตประเภทนี้ก็เช่น Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Polkadot (DOT)

 

 

3. Decentralized Finance คริปโตฯ เพื่อระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์

ตัวนี้จะเป็นเหรียญคริปโตฯ ที่เป็นเหรียญของระบบ DeFi หรือเรียกกันอีกแบบว่า token (DeFi  หรือ decentralized finance คือ ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง ไม่มีธนาคารนั่นเอง) ซึ่ง DeFi ก็คือบริการทางการเงินที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนของข้อ 2. ที่เราเพิ่งพูดไป

วัตถุประสงค์ของเหรียญประเภทนี้มักจะแตกต่างกันออกไปตามผู้พัฒนา ส่วนใหญ่จะใช้ได้บนแพลตฟอร์มของตัวเองและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนมูลค่านั้น มาจากความนิยมการใช้งานใน DeFi นั้นๆ รวมถึงบล็อกเชนที่ตัวคริปโตฯ รันด้วย ตัวอย่างเหรียญ DeFi ก็เช่น Uniswap (UNI)

 

 

4. Value Transfer คริปโตฯ แบบส่งต่อมูลค่า

เป็นเหรียญของเครือข่ายที่ออกแบบพัฒนาขึ้นเพื่อส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านบล็อกเชน มีค่าธรรมเนียมการเทรดไม่สูงนัก เช่น เหรียญ Ripple (XRP) หรือ Stellar (XLM) ยกตัวอย่าง เราต้องการโยกเหรียญระหว่างเว็บไซต์เทรดต่างๆ การแปลงเหรียญเป็น value transfer จะทำให้ถูกเก็บค่าธรรมเนียมถูกกว่าเหรียญประเภทอื่นๆ

 

 

5. คริปโตฯ ประเภท Oracle

Oracle คืออะไร? ในวงการบล็อกเชน Oracle คือคนที่คอยป้อนข้อมูลจากโลกแห่งความจริงเข้าสู่บล็อกเชน เพื่อให้ผู้พัฒนาอื่น เช่น DeFi นำข้อมูลไปใช้งานต่อ โดยข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าบล็อกเชน ก็มีทั้งราคาเหรียญ ราคาสินทรัพย์ รวมไปถึงข้อมูลทั่วไป เช่น สภาพอากาศ

โดยเหรียญ Oracle ก็เช่น Chainlink (LINK), Band Protocol (BAND) ซึ่งมูลค่าของเหรียญจะมาจากความนิยมใน Oracle แต่ละตัว และการเข้าถึงบริการของ Oracle แต่ละเหรียญนั่นเอง

 

 

6. คริปโตฯ ประเภท Stablecoin

คริปโตฯ ประเภทนี้เป็นอีกเหรียญพื้นฐาน ที่เชื่อมโลกคริปโตกับโลกการเงินจริงเอาไว้ โดยเหรียญจะมีมูลค่าค่อนข้างคงที่ และมูลค่าขึ้นลงยึดตามสกุลเงินหลักของโลก แบบ 1:1 เช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับเหรียญ USDT ดังนั้นมูลค่าเหรียญชนิดนี้ จึงขึ้นกับข่าวสารบ้านเมืองและเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกหนีไม่ได้

ส่วนใหญ่การเข้าเทรดบนแพลตฟอร์ม เช่น Binance เว็บเทรดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เวลาผู้เทรดเอาเงินจริงเข้าไป จะต้องซื้อในรูปแบบ USDT (หรือสกุลอื่นๆ ที่ผูกกับสกุลหลักของโลก) แล้วค่อยนำไปซื้อคริปโตฯ อื่นๆ ต่อไป แต่ก็มีคนเทรดเหรียญนี้เช่นกัน

 

 

7. Meme Coin เหรียญมีม

เหรียญประเภทขวัญใจมหาชน (หรือเปล่า?) ส่วนใหญ่สร้างขึ้นสนุกๆ หรือล้อเลียนเหรียญคริปโตฯ ดังๆ ไม่ได้มีแผนงานหรือโปรเจกต์อะไรรองรับ อารมณ์ว่าสร้างแล้วก็ลิสต์เข้ากระดานกันไปเลย ทว่าความน่าสนใจของเหรียญประเภทนี้คือ เมื่อมันเป็นที่สนใจมากๆ เช่น Dogecoin (DOGE) ที่ ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla พูดถึงบ่อยๆ ก็ทำให้นักลงทุนรวมตัวกันเทรดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1,000%–10,000% ได้ในระยะเวลาอันสั้น และก็สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าได้จริงในบางบริการ อย่างไรก็ตาม เหรียญมีมนั้นต้องระวังเป็นอย่างมากเพราะมีความผันผวนสูง

 

 

 

ที่มา : thematter
https://thematter.co/futureverse/futureword-cryptocurrency/160562

Visitors: 1,429,839