21 มิ.ย. 2566 วันครีษมายัน เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี

 

21 มิ.ย. 2566 "วันครีษมายัน" เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี

 

21 มิ.ย. 2566 "วันครีษมายัน" เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุดของปี รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที

 


เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความโดยระบุว่า "วันครีษมายัน" (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุดของปี และนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว


คำว่า "Solstice" เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือน มี.ค. ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิ.ย. จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนลงมาทางใต้ ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว

 

 

นอกจากนี้ การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

 

สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

ส่วนปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ "วันศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ.

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Visitors: 1,222,200