วัคซีนเข็ม 4 ยังต้องฉีดไหม ไทยมีข้อแนะนำอย่างไรแล้วบ้าง คุยกับแพทย์กรมควบคุมโรค

‘วัคซีนเข็ม 4 ยังต้องฉีดไหม’ ไทยมีข้อแนะนำอย่างไรแล้วบ้าง คุยกับแพทย์กรมควบคุมโรค

เราต้องฉีดวัคซีนไปถึงเมื่อไหร่? คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ด้วยขึ้นชื่อว่า COVID-19 ยังคงเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังต้องเฝ้ามองสถานการณ์ควบคู่ไปกับผลการศึกษาวิจัย

 

ดูเหมือนวาทะแห่งปีของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เคยพูดว่าคนไทยจะมี ‘วัคซีนเต็มแขน’ อาจไม่เกินจริง เพราะผ่านมากว่า 2 ปีที่ COVID-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างไม่จำกัด แถมยังแกร่งกล้าขึ้นอีก การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงยังคงเป็นความหวัง

ข้อมูลของสธ. จนถึงวันที่ 2 พ.ค. มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ขึ้นไปแล้ว จำนวน 25,983,713 คน คิดเป็น 37.4% ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เริ่มไต่ระดับลงจากหลักหมื่น

ด้านองค์การยาแห่งยุโรปชี้ว่า ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 4 ทั้งยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มกระตุ้นถี่เกินไปอาจทำให้ประชาชนรู้สึกเหนื่อยล้า

The MATTER จึงไปพูดคุยกับ นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และรวบรวมสถานการณ์จากนานาประเทศ ถึงเหตุจำเป็นและข้อกังวลของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4

 

สธ.ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 4

“นับตั้งแต่มีเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นมา คำแนะนำของกระทรวงจึงยังคงให้มีการฉีดเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ครบกำหนด” เป็นคำยืนยันของ นพ.วิชาญ ถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่สธ. ออกแนวทางล่าสุดเมื่อวันที 17 มี.ค. ที่ผ่านมา

มีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 หลังจากเข็มที่ 3 เป็นระยะตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป แต่หากเป็นการฉีดเข็มที่ 3 ก็ให้เว้น 3 เดือนขึ้นไป ทั้งหมดเป็นการประเมินจากสถานการณ์โรค และการศึกษาที่มีอยู่ในตอนนี้

“สิ่งที่เห็นชัดคือเมื่อฉีดวัคซีนโควิดไป ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด สูตรใดก็ตาม ภูมิคุ้มกันก็จะตกลงในช่วง 3-4 เดือน”

นพ.วิชาญ ระบุว่า เป้าหมายเน้นไปที่การป้องกันการป่วยตายของกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

ไม่นานมานี้ สธ.เองได้เปิดเผยประสิทธิผลวัคซีนระดับประเทศ พบว่า ผลเบื้องต้นหลังการได้รับวัคซีนในกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ของเดือน ม.ค.2565 จะป้องกันการติดเชื้อได้ 56% หลังฉีดเข็ม 3 และเพิ่มขึ้นเป็น 84.7% เมื่อได้รับเข็มที่ 4

 

ต่างประเทศว่าอย่างไรแล้วบ้าง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในต่างประเทศก็มีทั้งฟากที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับแนวทางลักษณะนี้

ผู้เชี่ยวชาญของประเทศอังกฤษ อย่างคณะกรรมการร่วมว่าด้วยวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (เจซีวีไอ) ได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ระบุว่า ต้องจัดลำดับความสำคัญในการให้วัคซีนเข็มที่ 1, 2 และ 3 แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก่อน

แม้จะมีความเห็นเช่นนี้ แต่ปัจจุบันอังกฤษก็มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 4 สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่นผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มนี้ในช่วงก่อนปลายปีนี้

ขณะที่ฝั่งอิสราเอลที่เริ่มต้นฉีดวัคซีนรวดเร็วมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 4 ให้ประชาชนแล้ว พบข้อมูลว่า  สามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้มากกว่าการฉีดเข็ม 3 ถึง 3 เท่า

สำหรับประเทศอื่นโดยส่วนใหญ่ ทั้งออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และชิลี ก็ใช้แนวทางที่คล้ายกัน มุ่งเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ไปที่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออายุมากกว่า 60 ปี และกำลังพิจารณาขยายให้ครอบคลุมกว่านั้น

 

ความยากของการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่

ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ชี้ว่า การฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่เป็นเรื่องยุ่งยากในทุกประเทศ ด้วยเหตุผลที่ “ยอมรับความเสี่ยงต่อโรคได้น้อย” เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุลดหลั่นลงมา เจ้าหน้าที่ได้เก็บข้อมูล ถึงสาเหตุที่ผู้สูงอายุมักไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พบ 3 ปัจจัย คือ

  1. ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียง จนทำให้เกิดความกลัว
  2. ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยง เพราะอยู่แต่บ้านไม่ได้ไปไหน และสามารถดูแลตัวเองได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
  3. บางคนเคยติดเชื้อไปแล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนอีก

“ไม่ใช่ว่าติดครั้งเดียวแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตเหมือนเชื้ออื่นๆ ดังนั้นจึงยังคงมีความจำเป็นแม้จะรับเชื้อแล้ว เพียงแต่แนะนำให้เว้นระยะหลังจากหายดีราว 3 เดือน” ยังเป็นข้อแนะนำที่ นพ.วิชาญ เน้นย้ำ

ขณะเดียวกันประชาชนบางส่วน ยังคงเฝ้ารอการพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชันใหม่ เพราะเชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่จะรับมือกับเชื่อสายพันธุ์ใหม่ได้ดีกว่า นพ.วิชาญ ระบุว่า ข้อมูลถึงตอนนี้ ยังไม่มีบริษัทใดที่สามารถพัฒนาได้สำเร็จ

“จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรอ อย่างตอนนี้มีเชื้อโอมิครอนแพร่ระบาดหลายพื้น ก็จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์จริง ถ้าเรารอซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ก็จะเป็นความเสี่ยงแก่ตนเอง จึงไม่แนะนำ”

 

อนาคตของการให้บริการวัคซีน

ย้อนไปเล่าถึงธรรมชาติการที่ร่างกายมนุษย์ การมีภูมิคุ้มกันต่อโรคถือเป็นข้อดี ที่ผ่านในวัยเด็กจึงมีข้อแนะนำให้เข้ารับวัคซีนป้องกันในหลายโรค ส่งผลให้ไม่เกิดกกการระบาดของโรคนั้นๆ ในปัจจุบัน

“ตอนนี้ทีมผู้เชี่ยวชาญกำลังหารือกัน เพราะเราคงไม่สามารถฉีดวัคซีนทุก 4 เดือนไปได้ตลอดถ้าเรามั่นใจว่ามีศักยภาพในการดูแลรักษา มียา มีตัวช่วยเพิ่มเติม คนก็มีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขึ้นในอนาคตก็จำเป็นต้องมีการปรับการฉีดวัคซีนออกไป”

เมื่อประเมินความรุนแรงของโรคซึ่งส่วนใหญ่จะเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแต่เดิม COVID-19 เคยมีความรุนแรงทั้งต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากกว่าถึง 10 เท่า อีกทั้งไม่มีแนวทางการดูแล จึงส่งผลให้เกิดความกังวลสูง แต่เวลาผ่านไปเชื้อโรคปรับตัว คนปรับตัว วัคซีนและยาก็พัฒนาขึ้น อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจึงลดระดับมาใกล้เคียงกัน

แม้ยังไม่มีข้อสรุป นพ.วิชาญ ได้เล่าไว้ในเบื้องต้นว่า ในอนาคตอาจปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี จากเดิมที่ต้องมาแจ้งว่าครบกำหนดต้องฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว

“อย่างไข้หวัดใหญ่เราก็ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนต้องฉีดในทุกปี แต่จะแนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งในอนาคตโควิดก็อาจจะปรับไปในทิศทางเดียวกัน จากเดิมที่เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงจำเป็นต้องกวาดรวมให้ทุกคนฉีด เพื่อให้ภูมิคุ้มกันไปก่อน แต่ในอนาคตก็จะต้องเจาะจงไปในกลุ่มเฉพาะเพื่อให้ตรงจุด”

 

ไม่ว่าจะต้องฉีดวัคซีนไปจนถึงเมื่อไหร่ แต่ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมาพอสมควรแล้ว ว่าไม่มีเครื่องมือใดจะเอาชนะโรคนี้ได้โดยสมบูรณ์ เช่นนี้การดูแลอนามัยสวนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มโอกาสของการอยู่อย่างปลอดภัยและปลอดโรค

 

Post by   
Illustrator By Sutanya Phattanasitubon

 

ที่มา : The Matter
https://thematter.co/science-tech/covid-booster-fourth-vaccine-dose/174274

 

Visitors: 1,427,746