ไทยร่วมใจ จองคิวรับวัคซีนโควิด-19 ลงทะเบียนอย่างไร ถึงได้ฉีด

ไทยร่วมใจ จองคิวรับวัคซีน "โควิด-19" ลงทะเบียนอย่างไร ถึงได้ฉีด

 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" ระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
 

ล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ปรับแผนการลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนใหม่เพิ่มเติม จากเดิมที่ใช้ระบบหมอพร้อม ขณะนี้ ขอให้ชะลอการลงทะเบียนด้วยระบบหมอพร้อมไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมา "หมอพร้อม" เป็นระบบการลงทะเบียนใน 3 ข้อหลักคือ การลงทะเบียน การติดตามการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 รวมทั้งผลข้างเคียง และการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วน

โดยตอนนี้ให้ "หมอพร้อม" ทำงาน 2 ข้อหลัง คือ ติดตามการฉีดวัคซีน และเรื่องการออกใบรับรองการฉีดวัคซีน ส่วนระบบการลงทะเบียนนั้น ขอให้มีทางเลือกกับประชาชน เช่น มีแอปพลิเคชันเฉพาะของจังหวัด อาทิ จ.ภูเก็ต หรือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะเปิดการลงทะเบียนเป็นการเริ่มต้น ถือเป็นหน้าด่านในการลงทะเบียนของประชาชนเป็นการอำนวยความสะดวก ไม่เป็นคอขวดเหมือนเช่นเดิม

ขณะที่ การจองฉีดวัคซีน สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยทาง กทม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เปิดระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย" เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงเนื่องจากเป็น "พื้นที่เสี่ยงสูงสุด"

โดยจะเปิดให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี ซึ่งไม่ได้เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านหลายช่องทาง โดยจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.64 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป โดยการลงทะเบียนแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ กลุ่มที่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ โดยมีแอปฯ "เป๋าตัง" จะมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในระบบแล้วจึงไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ สามารถแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนและรอรับ SMS ยืนยันได้รับการจัดสรรวัคซีน แต่หากลบแอปฯ เป๋าตังไปแล้ว ให้ดำเนินการนัดหมายผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com

สำหรับกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน และมีแอปฯ "เป๋าตัง" ลงทะเบียนผ่านแอปฯ ได้ง่ายๆ ดังนี้

ขั้นตอนการใช้งาน

  • เปิดแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
  • เลือกคำว่า "โครงการไทยร่วมใจ"
  • ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข จากนั้นติ๊กหน้าข้อความ "ข้าพเจ้าได้อ่านและตกลงยินยอมตามรายละเอียดข้อตกลงและความยินยอมข้างต้น" จากนั้นเลือกคำว่า "ยืนยัน"
 
  • กรอกข้อมูลส่วนตัว ดังนี้

- ชื่อ-นามสกุล

- หมายเลขบัตรประชาชน

- เบอร์โทรศัพท์มือถือ

- วัน/เดือน/ปีเกิด

- ที่อยู่ปัจจุบัน

- บุคคลที่สามารถติดต่อได้ ในกรณีฉุกเฉิน

- อาชีพ/สถานที่ทำงาน

  • จากนั้นติ๊กหน้าข้อความ "ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในแบบสำรวจนี้ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ"
  • หน้าจอจะแสดงผลการยืนยันการส่งข้อมูล โดยกรุณาตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อนำส่งข้อมูลแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ จากนั้นกด "ยืนยัน"
  • ระบบจะทำการส่ง OTP ไปยังเบอร์มือถือที่ลงทะเบียน
  • กรอกรหัส OTP จำนวน 6 หลัก
  • จากนั้นระบบจะยืนยันการรับข้อมูล โดยขึ้นข้อความว่า ระบบได้รับข้อมูลของท่านแล้ว โปรดรอการจัดสรรวัคซีน ตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยท่านจะได้รับการแจ้งผลทาง SMS ผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ท่านได้แจ้งความประสงค์

ขั้นตอนการจองฉีดวัคซีน (หลังจากได้รับ SMS ยืนยันข้อมูล เพื่อทำการเข้าจองนัดหมายฉีดวัคซีน)

  • เปิดแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
  • เมื่อได้รับ SMS ยืนยันข้อมูลทำการเข้าจองนัดหมายฉีดวัคซีนกดที่รูป "โครงการไทยร่วมใจ"
  • เลือกคำว่า "ตรวจสอบสถานที่ วัน เวลา"
  • จากนั้นเลือกจุดบริการ วัน เวลา ที่ต้องการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกดคำว่า "ยืนยัน"
  • หน้าจอจะแสดงผลการยืนยันข้อมูล โดยขึ้นข้อความว่า "ระบบได้รับข้อมูลของท่านแล้ว ขอบคุณที่รับสิทธิ์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19"

ทั้งนี้ ประชาชนเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป และลงทะเบียนได้ทุกวัน เวลา 06.00 - 22.00 น.

วิธีตรวจสอบวันเข้ารับฉีดวัคซีน

  • เปิดแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
  • กดที่รูป "โครงการไทยร่วมใจ"
  • เลือกคำว่า "ตรวจสอบสถานที่ วัน เวลา"

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่ วัน เวลา การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1, ตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนเข็มที่ 1, และสามารถตรวจสอบสถานที่ วัน เวลา การจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 2

ขั้นตอนการบันทึกอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน

  • เปิดแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
  • เลือกคำว่า "บันทึกอาการไม่พึงประสงค์"
  • หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ระบบจะมีให้บันทึกอาการไม่พึงประสงค์ โดยจะมีการแจ้งเตือนให้บันทึกอาการได้รายวัน


กลุ่มที่ 2
 ได้แก่ กลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ สามารถลงทะเบียนบนเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com และรอรับ SMS แจ้งผลการจัดสรรวัคซีน และนัดหมายวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีน ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้


กลุ่มที่ 3
 ได้แก่ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถให้บุคคลในครอบครัวลงทะเบียนแทนได้ ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ลงทะเบียนแทน โดยระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน หรือ สามารถลงทะเบียนที่ร้านค้าสะดวกซื้อ ตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น. ดังนี้

  • เซเว่น อีเลฟเว่น (7-eleven)
  • แฟมิลี่มาร์ท (Family Mart)
  • ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily)
  • มินิบิ๊กซี (mini Big C)

สถานที่ฉีดวัคซีน "โควิด-19" นอกโรงพยาบาล

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล จำนวน 25 จุด ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2. เดอะสตรีท รัชดา
3. เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
4. ศูนย์ฉีดวัคซีน SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ
5. ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
6. มหาวิทยาลัยศรีปทุม (ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ)
7. เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์
8. ไทยพีบีเอส
9. สามย่านมิตรทาวน์
10. เอเชียทีค
11. ทรูดิจิทัลปาร์ค
12. ธัญญาพาร์ค
13. เซ็นทรัลเวิลด์
14. สยามพารากอน
15. โลตัส พระราม 4
16. ดิเอ็มโพเรียม
17. เดอะมอลล์ บางกะปี
18. โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง
19. โลตัส มีนบุรี
20. บิ๊กซี ร่มเกล้า
21. ไอคอนสยาม
22. เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า
23. เดอะมอลล์ บางแค
24. บิ๊กซีบางบอน และ
25. PTT Station พระราม 2 ขาออก (กม.12)

อย่างไรก็ตาม จะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2564 พร้อมเปิดสายด่วน โทร 1516 เพื่ออำนวยความสะดวกตอบคำถาม ให้คำแนะนำการใช้ระบบต่อไป

ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลได้เปิด "ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ" (Central Vaccination Center) ณ สถานีกลางบางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้าและประชาชน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดความแออัดของสถานพยาบาล ที่ให้บริการฉีดวัคซีน และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการฉีดวัคซีน แต่ยังไม่มีนโยบายเปิดให้ประชาชน walk in แต่อย่างใด

โดยเริ่มเปิดให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2564 ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. แบ่งการให้บริการเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-6 มิ.ย. 2564 สำหรับรองรับการให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่องค์กร หน่วยงานที่ดูแลประชาชน บุคลากร และผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 มิ.ย.-ธ.ค. 2564 สำหรับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ลงทะเบียนผ่านระบบการลงทะเบียนแล้ว



จากการพูดคุยกับผู้ที่มารับวัคซีนโควิด ที่สถานที่กลางบางซื่อ ทราบว่า ก่อนจะเดินทางมาฉีดวัคซีน เริ่มจากทำใจให้สบาย กินอาหารเต็มที่ ดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ตอนฉีดวัคซีนใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แต่ถ้ารวมกระบวนการตั้งแต่ลงทะเบียน วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ฉีดวัคซีน จนนั่งดูอาการ รวมแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง


ส่วนอาการหลังฉีดวัคซีนนั้น ส่วนตัวมีอาการปวดเมื่อยแขนข้างที่ฉีด ใจหวิวเล็กน้อย กลับบ้านมาง่วงนอน รู้สึกอยากพักผ่อน

สำหรับการเดินทางมานี่ ถ้ามารถยนต์ส่วนตัวไม่ลำบาก เพราะมีที่จอดรถจำนวนมาก แต่ถ้านั่งแท็กซี่มา ขากลับจะลำบากเล็กน้อย เพราะต้องเดินข้ามถนนไปเรียกรถอีกฝั่ง 

หรือรอที่ด้านหน้าสถานี เพื่อรอรถแท็กซี่ที่มาส่งผู้โดยสารที่มาฉีดวัคซีน ซึ่งนานๆ มาที จึงอยากให้มีรถรับส่งจากสถานี BTS-MRT มารับ/ส่ง ที่สถานีกลางบางซื่อ


สุดท้ายอยากแนะนำคนที่กำลังจะมาฉีดวัคซีน ควรไปก่อนเวลานัด 1 ชม. และ ไปก่อนเวลาเที่ยง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะผลัดเวรกันไปพักกินข้าว ทำให้ต้องรอคิวนานกว่าเดิม รวมทั้งเลิกอ่านข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีน หรือข่าวที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้จิตตกได้.




ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

ที่มา : ThairathOnline : https://www.thairath.co.th/news/local/2101736


Visitors: 1,380,180