องคมนตรีพร้อมคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด CND สมัยที่ 67 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

องคมนตรีพร้อมคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด CND สมัยที่ 67 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

   วันที่ 14 มีนาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง
พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ ปปส. เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่าง
ประเทศอื่น ๆ ณ กรุงเวียนนา อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
ในฐานะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด หรือ CND สมัยที่ 67 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 มีนาคม 2567
 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

    ด้วยประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติได้มีบทบาทเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก โดย
 พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปฏิบัติภารกิจ
เผยแพร่การพัฒนาทางเลือกของไทยสู่เวทีโลก เมื่อครั้งการประชุม ICAD ในปี พ.ศ. 2554 และครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต
ณ กรุงเวียนนา ทรงรับเลือกให้เป็นรองประธานคนที่ 2 ของการประชุมคณะกรรมาธิการด้านยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือซีเอ็นดี
ครั้งที่ 56 และรองประธานคนที่ 1 ในการประชุม CND ครั้งที่ 57


     สำหรับการประชุมในสมัยที่ 67 ในปี พ.ศ. 2567 นี้ ด้วยเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ประกอบกับวาระครบรอบการดำเนินงาน 55 ปีของมูลนิธิโครงการหลวง จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการ
เผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระราชทานโครงการเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรไม่เว้นแม้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง การเข้าร่วมประชุม CND
 สมัยที่ 67 นี้ จึงได้มีการเผยแพร่แนวทางการพัฒนาทางเลือกของประเทศไทยผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ



     โดยองคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดนิทรรศการ โดยมี นายเดนนิส ธัชชัยชวลิต รองผู้อำนวยการใหญ่
สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนในระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย
เริ่มขึ้นจาก “มูลนิธิโครงการหลวง” โครงการในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ.2512 เป็นโครงการต้นแบบที่มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจน ลดการปลูกฝิ่น พร้อมไปกับการพื้นฟูทรัพยาก
รธรรมชาติ เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่เรียกว่า “โครงการหลวงโมเดล” ขยายสู่การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนและผืนป่าใน
พื้นที่ดอยตุงจังหวัดเชียงราย โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2531
การสร้างโอกาสและทางเลือกในการทำงานสุจริตแก่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม เน้นการแก้ปัญหาที่แก่นคือความยากจน
และการขาดโอกาส ด้วยการจูงใจให้ชาวบ้านหันมาประกอบอาชีพสุจริตแทนการทำสิ่งผิดกฎหมาย สร้างรายได้ที่มั่นคงภายใต้โครงการร้อยใจรักษ์
ในพลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา


    ในส่วนของรัฐบาลไทยได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาลในการแก้ไข
ปัญหายาเสพติด และจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง องค์การมหาชน เพื่อขยายผลการพัฒนาด้วยรูปแบบโครงการหลวงโมเดลไปยังพื้นที่สูง
อื่นในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินการของโครงการในพระราชประสงค์ของทุกพระองค์ สอดรับด้วยองค์กรภาครัฐของไทย และ
การสนับสนุนจากนานาประเทศ อาทิ UNFDCA เยอรมัน สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ
 ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถอดชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่เป็นผู้ผลิต
และลำเลียงยาเสพติดรายสำคัญ ในปี พ.ศ.2547 ประชาชนบนพื้นที่สูงซึ่งพื้นที่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ตามขอบแนวชายแดนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
และในปี พ.ศ.2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด งานของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์
ต่อประชาชนโดยรวมของประเทศ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้ถือกำเนิดขึ้นบนผืนดินที่เป็นแหล่งปลูกฝิ่นผืนสุดท้ายของประเทศไทย
 และดำเนินการบนหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาโดยโครงการหลวงโมเดล ในยุคปัจจุบันพืชเขตหนาวที่เกิดจากการวิจัย
ในยุคแรก ๆ สามารถปลูกได้ทั่วไปบนพื้นที่สูงของประเทศ การพัฒนาที่โครงการหลวงเลอตอจึงมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน
 และการบริการสาธารณสุขพื้นฐาน เป็นลำดับแรก เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ผลการพัฒนาในยุคสืบสาน รักษา ต่อยอด
ในระยะ 7 ปี จึงเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ฝิ่นหมดไปจากพื้นที่ ผู้คนเดินทางเชื่อมต่อถึงกัน แนวทางการพัฒนาทางเลือกของประเทศไทย
จึงได้รับการรับรองเป็นหลักการการพัฒนาทางเลือกจากองค์การสหประชาชาติ และขยายออกไปเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายพันธมิตรนานาประเทศ

 

     ในนิทรรศการประเทศไทยนี้สตรีชนเผ่าซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้รับการพัฒนาได้ร่วมเผยแพร่ผลงานหัตถกรรมผ้าทอ อัตลักษณ์ของชน
เผ่าปกาเกอะญอ และยังมีผลิตภัณฑ์ผลลัพธ์จากการพัฒนา ได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟ ชา และอาหารแปรรูปของโครงการหลวง ซึ่งได้รับ
ความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมนานาประเทศเป็นอันมาก นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้จัดกิจกรรมคู่ขนานในรูปแบบการอภิปรายทั่วไป
ในหัวข้อ “10 ปีแห่งหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles-UNGPs) ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก:
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดยการแลกเปลี่ยนมุมมอง บทเรียน ประสบการณ์ และความท้าทายใหม่ในระดับโลกจากผู้แทนประเทศ อาทิ
เยอรมนี เปรู ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟินแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา โคลอมเบีย โมร็อกโค จีน โดยประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีผลสำเร็จที่เห็น
เป็นรูปธรรม คือ สามารถลดปัญหาการปลูกฝิ่น สร้างรายได้แก่ชุมชนชาวเขาบนพื้นที่สูงเฉลี่ย 120,000-230,000 บาท/ครัวเรือน มีระบบ
การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คืนพื้นที่ป่าให้แก่ประเทศ ได้ 368,000 เฮกตาร์ รักษาป่าต้นน้ำธรรมชาติ 832,000 เฮกตาร์
การพัฒนานี้ได้ตอบโจทย์ทั้งหลักการ BCG ของประเทศไทย 38 แนวทางปฏิบัติของ UNGPs และ 17 ข้อกำหนดของ SDGs อีกด้วย

Visitors: 1,219,256