เทคโนโลยี CCS ความหวังประเทศไทย พิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions 2065
เทคโนโลยี CCS ความหวังประเทศไทย พิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions 2065
หลายคนน่าจะเคยสงสัยกับคำว่า “Net Zero Emissions” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นสิ่งที่ทำได้จริงหรือเปล่า หลายประเทศทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะพิชิตเป้าหมายนี้ด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามความพร้อม โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ปี 2065 หรืออีก 41 ปีจากนี้ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาตั้งเป้าไว้ที่ปี 2050 ส่วนประเทศจีนตั้งเป้าไว้ที่ปี 2060 สิ่งที่นำมาซึ่งความสงสัยก็คือ ในเมื่อผู้คนบนโลกยังคงบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง และก๊าซเรือนกระจกยังคงถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่า 50,000 ล้านตันต่อปี จะมีทางไหนที่ทำให้กลายเป็นศูนย์ไปได้ ยิ่งถ้าวัดกันจริง ๆ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เปิดสวิตช์ไฟ อาบน้ำ ขับรถไปทำงาน เปิดโน้ตบุ๊ก ทานอาหาร แทบทุกกิจกรรมเราต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก นี่ยังไม่รวมถึงโรงงานที่ผลิตสินค้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ และการคมนาคม ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น แน่นอนว่า ไม่มีทางที่อยู่ดี ๆ ก๊าซเรือนกระจก 50,000 ล้านตันต่อปีจะหายไปง่าย ๆ แต่หากเราขับเคลื่อนถูกที่ คลายปมถูกจุด Net Zero ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกมุ่งคือ การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสามารถลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ก็คือ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากประชากรโลก 80% คือคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ในที่นี้เราจะกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ถูกยกให้เป็นความหวังของโลกในขณะนี้ นั่นคือ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS CCS เป็นเทคโนโลยีการดักจับและนำคาร์บอนลงไปเก็บไว้ที่ชั้นหินใต้ดิน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1. ดักจับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมหรือชั้นบรรยากาศ 2. ปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งผ่านทางท่อส่ง ทางเรือ หรือรถบรรทุก 3. นำไปกักเก็บอย่างถาวรในชั้นหินใต้ดินที่มีโครงสร้าง คุณสมบัติและความลึกเหมาะสม ซึ่งอาจอยู่บนบกหรือนอกชายฝั่งทะเล โดยไม่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างมลภาวะแก่บริเวณข้างเคียง และในท้องทะเลด้วย ในการกักเก็บคาร์บอน จะพิจารณาบริเวณที่มีปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการประเมินความจุของชั้นหินกักเก็บ การประเมินประสิทธิภาพในการกักเก็บของสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาใต้ดิน การประเมินความสามารถในการอัดคาร์บอนลงในชั้นหิน และยังมีขั้นตอนของการติดตามคาร์บอนที่ถูกอัดกลับไปแล้วเพื่อความปลอดภัยด้วย การนำคาร์บอนไปกักเก็บ ไม่ได้อัดลงไปในครั้งเดียว แต่จะทยอยนำลงไปกักเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการรั่วไหล และจะไม่มีผลกระทบตามมา เมื่ออัดคาร์บอนลงไปแล้ว ยังมีการติดตามสถานะของคาร์บอนด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือเคลื่อนที่หรือไม่ อย่างไร ส่วนคำถามว่าทำไมต้อง CCS? เปรียบเทียบง่าย ๆ ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 320 ล้านไร่ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 320 ล้านตันต่อปี การจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในปริมาณมาก ถ้าพิจารณาจาก 1. การปลูกป่า ซึ่งการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะช่วยซึมซับคาร์บอนได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่หากจะปลูกป่าเพียงอย่างเดียวเพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 320 ล้านตัน นั่นหมายถึงจะต้องทำให้พื้นที่ 50% ของประเทศไทยกลายเป็นป่า จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอาศัยวิธีนี้โดยลำพัง 2. การใช้รถไฟฟ้า ประเมินว่าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ประมาณ 30 - 40 ล้านตันต่อปี ก็จะยังคงเหลือคาร์บอนจำนวนมากที่ต้องจัดการ ซึ่งหากมีการใช้ 3. เทคโนโลยี CCS ก็จะช่วยลดคาร์บอนได้อีก 40 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2065 แนวทางผสมผสานของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมี CCS เป็นเครื่องมือหลัก ร่วมกับการใช้รถไฟฟ้า การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และหักลบคาร์บอนส่วนที่เหลือด้วยการปลูกป่า จึงเป็นแนวทางที่เป็นไปได้จริง ที่เชื่อว่าจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2065 ได้สำเร็จ จากข้อมูลของ Global CCS Institute พบว่ามีการพัฒนาโครงการ CCS ทั้งในเชิงพาณิชย์และโครงการนำร่องรวมแล้วเกือบ 800 โครงการทั่วโลก เช่น นอร์เวย์ อเมริกา ญี่ปุ่น และยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก CCS โครงการแรกของโลกที่เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมสามารถขนส่งคาร์บอนและนำไปกักเก็บ เกิดขึ้นที่ประเทศนอร์เวย์ ชื่อว่า “Northern Lights” ซึ่งบริษัทพลังงานระดับโลกอย่าง Equinor Shell และ TotalEnergies ทำร่วมกัน โดยได้การสนับสนุนช่วงแรกจากรัฐบาลนอร์เวย์ มีเป้าหมายการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในช่วงแรก ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เท่ากับการปลูกป่าหลายแสนไปจนถึงล้านไร่เลยทีเดียว เน้นเก็บคาร์บอนจากอุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหนักอื่นที่หลีกเลี่ยงการปลดปล่อยคาร์บอนไม่ได้ สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยี CCS ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะบริษัทไทยอย่าง ปตท.สผ. กำลังศึกษาประยุกต์ใช้ CCS ในอ่าวไทยที่แหล่งก๊าซฯ อาทิตย์ เรียกว่าเป็นโครงการนำร่อง ประเมินว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี คาดว่าภายในปีนี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่จะเริ่มกักเก็บคาร์บอนได้จริง ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกราว 3 ปี เทคโนโลยี CCS เป็นเหมือนการย้อนกลับของกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่นำคาร์บอนซึ่งเป็นสารพลอยได้จากการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งกลับคืนไปที่ชั้นหินใต้ดินที่เคยนำพลังงานฟอสซิลขึ้นมา หรือนำไปเก็บชั้นหินอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมก็ได้ “ถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า ถ้านำคาร์บอนไปกักเก็บใต้ทะเล จะเหมือนกับการนำขยะไปทิ้งทะเล หรือสร้างมลพิษในทะเลหรือไม่?” จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี CCS พบว่าการกักเก็บคาร์บอนถาวรด้วยวิธีนี้ ไม่สร้างมลภาวะใต้ทะเล และยิ่งห่างไกลกับคำว่า “นำขยะไปทิ้งในทะเลมาก” เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่สารพิษแต่อย่างใด และอยู่ในลมหายใจออกของเราทุกคน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บ ก็จะอัดกลับลงไปในหลุมขุดเจาะที่นำก๊าซธรรมชาติออกมาใช้หมดแล้ว อยู่ในชั้นหินที่เป็นตัวปิดทับโพรงกักเก็บไว้ โดยเมื่อคาร์บอนถูกเก็บในชั้นหินใต้ทะเล ก็จะมีการแปรสภาพหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและแรงดันของแหล่งที่กักเก็บ เช่น ละลายลงไปในน้ำที่แทรกตัวอยู่ในรูพรุนของชั้นหินที่เราอัดลงไป เมื่อระยะเวลาผ่านไปคาร์บอนเหล่านี้จะรวมตัวกับสารประกอบอื่น ๆ และตกผลึกเป็นแร่ในสถานะของแข็งอยู่ในชั้นหินเหล่านั้นในที่สุด นอกจากนี้ ในการกักเก็บจะต้องมีวิธีบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การทำ CCS เพื่อรองรับคาร์บอนจากโรงงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ ทั้งด้านกฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ในการลงทุน และรายละเอียดความรับผิดชอบกรณีที่นำคาร์บอนไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ หรือในยุโรป ก็มีการออกกฎหมายคาร์บอน (Carbon Law) แล้ว ล่าสุดก็ที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม โครงการลักษณะดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมาก เฉพาะการรับคาร์บอนนำไปเก็บในอ่าวไทย ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3,000 - 4,000 ล้านเหรียญในการก่อสร้างและการติดตามผล จึงต้องอาศัยการร่วมทุนของหลายบริษัท และการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ถ้าสำเร็จ CCS จะช่วยรองรับภาคอุตสาหกรรมของไทย เช่น โรงงานปุ๋ย โรงงานเหล็ก โรงงานอะลูมิเนียม และโรงงานปูน ที่หากไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ จะได้รับผลกระทบในการส่งออกจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM นี่จึงอาจเป็นทางออกสำหรับโรงงานเหล่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย หากประเทศไทยต้องการจะพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2065 ภายในปี 2040 จะต้องมีการพัฒนาโครงการ CCS ให้สามารถรองรับคาร์บอนจากโรงงานต่าง ๆ ให้ได้ 30-40 ล้านตันต่อปีในปี 2050 และขยายความสามารถให้รองรับได้ถึง 60 ล้านตันต่อปี ในปี 2065 ถ้าเราก้าวถึงจุดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเราจะพิชิตเป้าหมาย Net Zero ได้จริง
ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/2827428
|