คาร์บอนเครดิต

   
   เมื่อปี 2566 มีการขายคาร์บอนทั่วโลกถึง 949 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 35 ล้านล้านบาท โดยสหภาพยุโรปซื้อขายกว่า 87% ของตลาดคาร์บอนทั้งโลก
 
   #คาร์บอนเครดิต จึงได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะจากภาคป่าไม้ ทำให้เราเห็นความประสงค์ในการปลูกป่ามากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการดำเนินงานตามเป้าหมาย Net Zero ขององค์กร
หลายคนคงสงสัยใช่มั้ยคะว่า แล้วต้นไม้ชนิดใดบ้างที่สามารถขายคาร์บอนได้
 
   คำตอบ คือ ไม้ยืนต้นชนิดใดก็ได้ไม่จำกัดค่ะ เพราะต้นไม้ทุกชนิดดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และคายออกซิเจนออกมาเหมือนกัน แต่บางต้นอาจจะตายเร็วหน่อย และคาร์บอนที่เก็บไว้ก็จะย่อยสลายออกมา สิ่งที่นับจริงๆ คือ ไม้ยืนต้นที่เก็บคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ โดยวัดการเติบโตจากขนาดต้นไม้ ความสูง ความกว้างของลำต้น และส่งข้อมูลนี้ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งจะเป็นผู้คำนวณคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้ต่อไป
 
   ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ในการปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิต อบก. ระบุไว้ดังนี้ค่ะ
1. ต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป
2. ที่ดินที่ใช้ปลูกต้นไม้ต้องมีเอกสารสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอน และจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ
4. มีเงินทุนจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
 
   ยืนยันอีกครั้งนะคะ ว่าต้นไม้ทุกต้นสามารถขายคาร์บอนได้ รวมถึงต้นไม้ที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่ออย่าง เหมือดคนตัวผู้ แสลงหอมไก๋ ปอหูช้าง สักขี้ไก่ รักขี้หมู หมี่คางคก ฯลฯ
 
   ยิ่งปลูกต้นไม้มาก ก็ยิ่งกักเก็บคาร์บอนได้มาก และยิ่งปลูกหลากหลายชนิดแค่ไหน ก็ยิ่งดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพค่ะ เพราะ “ป่า” ไม่ใช่เพียงคาร์บอนเพื่อประโยชน์ของใคร แต่เป็นระบบนิเวศ เป็นความสัมพันธ์เกื้อกูลระหว่างสิ่งมีชีวิต และเป็นบ้านของสัตว์ เห็ด รา แมลง แบคทีเรียด้วย
 
Visitors: 1,292,436