งานวิจัยชี้ ‘สาเก’ น่าจะเป็นอาหารหลักที่ดีที่สุดของมนุษย์ในยุคโลกร้อน

งานวิจัยชี้ ‘สาเก’ น่าจะเป็นอาหารหลักที่ดีที่สุดของมนุษย์ในยุคโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนเป็นภาวะที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ และก่อปัญหาตามมาสารพัดด้าน แต่ด้านที่ส่งผลตรงๆ เลยแต่เราชอบลืมกันก็คือผลของมันต่อ ‘ภาคการเกษตร’ ในโลก หรือพูดให้ตรงก็คือผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตพืชผลต่างๆ ของมนุษย์

ตรงนี้ถ้าจะอธิบายง่ายๆ คือถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปสัก 1 องศาเซลเซียส ผลผลิตของพืชต่างๆ ที่เคยดีในเขตร้อนก็มีแนวโน้มจะลดลงเพราะอากาศมันร้อนเกิน และนี่เราหมายถึงผลผลิตพืชน่าจะหายไปหลักหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในระยะยาวทั่วโลก ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์แน่ๆ

ซึ่งที่เขาซีเรียสมากๆ หลักๆ มันก็คือพืชจำพวก ‘อาหารหลัก’ ของมนุษย์ เพราะของพวกนี้ถ้าผลิตได้ไม่พอ คนจะอดอยากเป็นวงกว้างแน่ๆ หรือแค่ผลิตได้น้อยลงก็จะทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง หรือทำเงินเฟ้อจนวุ่นวายได้ง่ายๆ

เพราะอย่างนี้ก็เลยมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าพวกพืชที่เป็นอาหารหลักของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองนั้นน่าจะผลิตได้น้อยลงมากแน่ๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ถ้าโลกมันยังร้อนขึ้นในอัตรานี้

แต่เขาบังเอิญไปพบพืชชนิดหนึ่งที่เป็น ‘อาหารหลัก’ ได้แน่ๆ และมันแทบจะไม่ยี่หระกับภาวะโลกร้อนเลย กล่าวคือ มันเป็นพืชไม่กี่ชนิดที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารหลักที่ยังจะคงผลผลิตเท่าเดิมได้เมื่อโลกร้อนขึ้น

พืชดังกล่าวคือ ‘สาเก

คนไทยจะมองสาเกเป็นผลไม้ เพราะหน้าตาของมันภายนอกคล้ายขนุน และคนไทยก็นิยมเอามาแปรรูปทำเป็นขนม ไม่ว่าจะเอาเชื่อมหรือทอดกิน แต่ไม่นิยมเอามาทำเป็นอาหารคาวเท่าไร

อย่างไรก็ดี พืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบนิวกินีชนิดนี้ ‘เป็นอาหารหลัก’ ของพวกชาวเกาะแถบโอเชียเนียมาช้านาน ที่นั่นเขากินมันสารพัดรูปแบบตั้งแต่ดิบๆ นึ่ง ต้ม ทอด ย่าง เอามากินได้หมด ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ในแถบนั้นมันใช้พืชชนิดนี้คล้ายๆ กับที่ชาวตะวันตกปัจจุบันใช้มันฝรั่งน่ะแหละ

ซึ่งจริงๆ ชาวตะวันตกก็เห็นศักยภาพของพืชชนิดนี้มาพอควรแล้วในยุคอาณานิคม เพราะชื่อภาษาอังกฤษของมันอย่าง Breadfruit ก็เกิดจากว่าชาวตะวันตกลองเอามันไปย่างกิน แล้วรู้สึกว่ามันได้สัมผัสคล้ายๆ ขนมปัง และบางทีมันก็ถูกเอาไปเทียบกับมันฝรั่งโดยบางทีก็ถูกเรียกว่า ‘มันฝรั่งที่ขึ้นบนต้นไม้         

พูดง่ายๆ คือมันกินเป็นอาหารหลักได้แน่ๆ วัฒนธรรมโอเชียเนียพิสูจน์มาแล้ว และจริงๆ ฝรั่งไปกินก็ชอบด้วย มันแค่ปลูกไม่แพร่หลายคนเลยไม่ค่อยได้กิน         

ซึ่งในเชิงการจัดการ สาเกเป็นไม้ยืนต้นที่ออกลูกเรื่อยๆ ดังนั้นจริงๆ ปลูกไว้มันกินได้เรื่อยๆ ไม่ต้องใช้แรงงานมากมาย และพอเป็น ‘ต้นไม้’ ขนาดใหญ่ประโยชน์อีกเด้งของมันก็คือการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปด้วย

นี่ก็เลยทำให้หลายฝ่ายเชียร์การเปลี่ยนมากินสาเกมาก เพราะในทางวิทยาศาสตร์ มันเข้าท่าสุดๆ ที่มนุษย์จะกินพืชชนิดนี้ ถ้าจะยอมรับว่าภาวะโลกร้อนน่าจะเกินเยียวยาจริงๆ แล้ว

แต่อีกด้าน ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่า เอาจริงๆ ที่มนุษยชาติมีปัญหาขนาดนี้เพราะมันพึ่งพาพืชไม่กี่ชนิดนี่แหละ คือกินๆ กันอยู่ไม่เกิน 10 ชนิด ทั้งๆ ที่พืชที่กินได้ในโลกมีไม่ต่ำกว่า 20,000 ชนิด ซึ่งก็แน่นอน ปัญหาของการกินพืชน้อยชนิดก็คือ เวลาประสบภาวะโรคระบาด หรือภาวะอะไรแบบโลกร้อน แล้วพืชที่กินประจำมันปลูกยากหรือตายเกลี้ยง มันก็จะไม่มีอะไรกิน ก็เลยต้องมาหาพืชที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสาเกนี่แหละ

อ้างอิง

 

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/breadfruit

 

Visitors: 1,223,066