รักษาโควิดที่บ้าน

รักษาโควิดที่บ้าน 'สปสช.' สนับสนุนวันละ 2.1 พันบาท

รักษาโควิดที่บ้าน 'สปสช.' สนับสนุนวันละ 2.1 พันบาท
28 มิถุนายน 2564
 

"กรมการแพทย์" เผย หลักเกณฑ์การผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน สปสช.สนับสนุนวันละ 1,000 บาทค่าอาหาร และ 1,100 บาทค่าอุปกรณ์ รวม 2,100 บาท/หัว/วัน

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึง Home isolation หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้านว่า เบื้องตันให้โรงพยาบาลประเมินผู้ป่วย ที่มีอาการน้อย หรือ กลุ่มสีเขียว มีความยินยอมที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 

จากนั้นจะประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่นมีห้องนอน หรือ ห้องน้ำ ที่สามารถแยกการใช้งานได้หรือไม่ หากคนกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่สามารถควบคุมโรคได้

  • ทีมแพทย์จะมีการส่งที่วัดไข้
  • เครื่องวัดออกซิเจน ส่งให้กับผู้ป่วยที่บ้าน
  • มีทีมแพทย์ให้คำปรึกษา
  • สอบถามอาการผู้ป่วย ผ่านโทรศัพท์ วันละ 1 ครั้ง 

 

หากมีไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่าย ยาฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการ หรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่บ้าน พร้อมกับส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดย เป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท / ค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท /วัน 

โดยวิธีการแบบ Home isolation หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้านมีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายอาการแย่ลง ถูกสั่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี 

 
เบื้องต้นการรักษาแนวทางดังกล่าว ใช้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "บัตรทอง" ส่วนผู้ที่อยู่ในสิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ส่วนผู้ที่อยู่ในชุมชน หรือ ที่อยู่อาศัยไม่เอื้อต่อการแยกกักตัว ก็จะมีการให้ทำจุดพักคอย หรือ Community isolation ซึ่งจะมีการประสานกับกลุ่มจิตอาสาและผู้นำชุมชน ร่วมกันดูแล

อธิบดีกรมการแพทย์ยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐอยู่ในขั้นวิกฤติทุกระดับ แต่เตียงโรงพยาบาลเอกชนยังพอมีเตียงผู้ป่วยว่าง แต่บางแห่งเลือกรับผู้ป่วย จึงอยากขอความร่วมโรงพยาบาลเอกชนให้ช่วยรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกระดับสี

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถกักตัวได้ที่บ้าน (Home isolation) นั้น

  1. อายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
  2. สุขภาพร่างกายแข็งแรง
  3. อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  4. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
  5. ไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  6. ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด

 

ข้อปฏิบัติสำหรับการกักตัวที่บ้าน (Home isolation)

1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว

2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร

5. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อออกมาจากห้องที่พักอาศัย

6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น

7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

สิ่งสำคัญ คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแต่คนรอบข้าง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945904

 

Visitors: 1,380,181