ปรากฏการณ์ไผ่ตายขุยที่ดอยตุง

ปรากฏการณ์ไผ่ตายขุยที่ดอยตุง
 
    ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่สูงและเติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในพืชที่ออกดอกช้าที่สุดในโลกด้วย โดยต้นไผ่จะออกดอกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และหลังจากออกดอก ก็ยืนต้นตายทันทีเพื่อให้เมล็ดที่งอกขึ้นมาเป็นไผ่รุ่นต่อไป เมล็ดเรียกว่า "ขุยไผ่" ส่วนต้นไผ่ที่ยืนต้นตายจะเรียกว่า "ไผ่ตายขุย"
ไผ่ตายขุยส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายมิติ เช่น แหล่งไม้ไผ่แปรรูป และแหล่งหนอนไม้ไผ่ลดลง รวมถึงซากกอไผ่อาจเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟป่ารุนแรงขึ้นด้วย
   อีกผลกระทบสำคัญ คือ เมื่อไผ่ออกดอกพร้อมกันและกะทันหัน หนูจำนวนมากจะออกมากินเมล็ดเป็นอาหารจนเติบโตและเพิ่มจำนวนจนน่าตกใจ เช่นเมื่อปี 2016 ที่เมืองมิโซรัม ประเทศอินเดียเคยโดนหนูบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรในทุ่งนาและยุ้งฉาง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 10,000 ชีวิต แต่ยังไม่เคยมีกรณีศึกษาหรือผลการศึกษาในประเทศไทย
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ไผ่ซางที่ดอยตุงประมาณ 190,000 กอในพื้นที่ประมาณ 11,000 ไร่ (จากทั้งหมดประมาณ 700,411 กอในพื้นที่ป่าเบญจพรรณผสมไผ่รวม 42,708 ไร่) ยืนต้นตาย นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชั่วชีวิตของผู้สูงอายุในดอยตุงหลายคน เพราะไผ่ซางดังกล่าวมีวงจรอายุประมาณ 80-100 ปี
   ในระหว่างนี้ ทีมงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ วางแผนดำเนินงานหลายๆ อย่างเพื่อรับมือกับผลลัพธ์ที่อาจจะตามมา เช่น
- เตรียมศึกษาประชากรหนูที่เพิ่มขึ้น
- วางแปลงในป่าไผ่ที่ตายไปเพื่อติดตามว่ามีกล้าไม้เกิดใหม่ไหม และฟื้นฟูอย่างไร
- ทดลองนำเมล็ดที่งอกใหม่ไปเพาะกล้า เผื่อเมล็ดที่สมบูรณ์จะสามารถนำไปขยายพันธุ์ให้ชุมชนปลูกไผ่และใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
 
 
 
 
 
 
 
 
  
Visitors: 1,235,945