ย้ำ โรคแอนแทรกซ์ ไม่ติดต่อคนสู่คน เชื้อแพร่ 3 ทาง เช็กอาการของโรค

ย้ำ โรคแอนแทรกซ์ ไม่ติดต่อคนสู่คน เชื้อแพร่ 3 ทาง เช็กอาการของโรค

นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ให้ความรู้เรื่อง "โรคแอนแทรกซ์" (Anthrax) ว่า  เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า Bacillus anthracis สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมทั้งร้อนและเย็น เชื้อยังสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี โดยเฉพาะในดินที่มีซากสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์

สัตว์พาหะส่วนใหญ่ที่พบ คือ

  • โค
  • กระบือ
  • แพะ
  • แกะ

โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการ ดังนี้

  • อาการไข้
  • ซึม
  • ไม่กินอาหาร
  • เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุและเสียชีวิต

การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น

  • การชำแหละเนื้อสัตว์
  • การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงไม่สุก
  • การสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีสปอร์ของเชื้อ

 

 

โรคแอนแทรกซ์ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่ได้ 3 ทาง คือ

1. "การสัมผัส" จากการชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคแอนแทรกซ์ ผู้ป่วยจะติดเชื้อโดยสปอร์ของเชื้อเข้าสู่บาดแผลและรอยถลอก จะเริ่มมีอาการป่วยหลังสัมผัสโรคประมาณ 1-7 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับตัวโรคและคนที่ได้รับเชื้อ รอยแผลเริ่มจากเป็นตุ่มที่ผิวหนัง ตามมาด้วยตุ่มน้ำใส และแตกออกกลายเป็นแผลหลุมสีดำ คล้ายบุหรี่จี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะมีการลุกลามของเชื้อไปยังต่อมน้ำเหลือง และกระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้

2. "การรับประทาน" หากรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยดิบหรือปรุงไม่สุก อาจจะติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีอาการไข้สูง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้

3. "การหายใจ" ซึ่งพบได้น้อยกว่า คือ การหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่บริเวณที่สัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต สามารถฝังตัวอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หายใจลําบาก หน้าเขียวคล้ำ และเสียชีวิตจากอาการของระบบหายใจล้มเหลว

 

ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ หรือกรณีสัมผัสและไม่มีอาการป่วย แพทย์จะมีการให้ยาในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1178813

 

 

 

Visitors: 1,515,718