พ.ร.บ.อากาศสะอาด กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ?

 พ.ร.บ.อากาศสะอาด กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ?

 

 หลังจากที่ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ชงโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผ่านมติครม.เป็นที่เรียบร้อย เราชวนย้อนดูเศษซากความหวังของประชาชนในการถึงเข้าถึงอากาศที่ดี ผ่านร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์-เศรษฐา

สด ๆ ร้อน ๆ ที่ครม. ลงมติอนุมัติรับ ร่างพ.ร.บ.การจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ชงโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เพื่อรับรองอากาศสะอาดให้กับคนไทย

ก่อนจะไปสู่คำถามใหญ่ที่ตั้งเอาไว้บนภาพ “กว่าคนไทยจะมีอากาศที่ดี ทำไมถึงยากเย็นแสนเข็ญ” ชวนย้อนดูกันสักเล็กน้อยว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ในนามรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงการเลือกตั้ง 2566 ในนามรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

สายพานของร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ผ่าน ๆ สุดท้ายลงเอยอย่างไร? เกิดเหตุขัดข้องที่กระบวนการใด? ประชาชนที่ต้องถูกรมควันด้วยฝุ่น และควันพิษจากการเผาไหม้ พวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อโอกาสในการเข้าถึงอากาศที่ดีหลุดลอยหายไปต่อหน้าต่อตา

 

ฝุ่น PM2.5 เพื่อนแท้ แม้เราไม่ต้องการ

มลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศแม้มองไม่เห็นแต่พิษสงร้ายแรงถึงชีวิต ในปี 2021ประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตราว 29,000 ราย กระจายทั่ว 31 จังหวัด มีผู้ป่วยทำเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอดจำนวน 61,416 คน เฉพาะภาคเหนืออย่างเดียว มีทั้งสิ้น 35,078 เคส

เอื้อยเอ่ยกันตรงนี้คงเป็นเรื่องง่ายเกินไป แต่หากเรามองเห็น 1 ชีวิตเป็นคนใกล้ตัวหรือคนที่คุณรู้จัก ตัวเลขด้านบนสลักสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

 

การเผาไหม้ในภาคเหนือ Cr. thecitizenการเผาไหม้ในภาคเหนือ Cr. thecitizen

ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เคยมีภาพปล่อยออกมาทางโซเชียลมีเดีย ที่ทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้ฝุ่นควัน พร้อมกันรมควันจากการเผาไหม้ จนกลายเป็นเรื่องปกติ

เปิดมือถือดูค่าฝุ่น พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปี 2019 จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำลายสถิติโลก ด้วยการนั่งบัลลังก์แชมป์เมืองที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงถึง 271 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

ค่าฝุ่นทะลุ 271 Cr. BBC

ค่าฝุ่นทะลุ 271 Cr. BBC

 

ในปี 2016 Greenpeace Thailand รายงานว่า กลุ่มเครือข่าย Bye Bye Smog พร้อมกับชาวเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ได้ออกมารวมตัวกันหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงภาครัฐให้จัดการกับปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือเป็นการเร่งด่วน และหากสังเกตจากภาพทุกคนใส่แมสก์กันแทบทุกคน ซึ่งนี่คือก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก ชาวเชียงใหม่กำลังสูดดมอะไรเข้าไป?

 

ชาวเชียงใหม่เรียกร้องอากาศสะอาด Cr. Greenpeach Thailand

ชาวเชียงใหม่เรียกร้องอากาศสะอาด Cr. Greenpeach Thailand

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 65 ในกรณีเรื่อง จ.เชียงใหม่มีค่าฝุ่นสูงติดอันดับโลกไว้ว่า เกษตรกรไม่ควรเผา ตนไม่อยากลงโทษ แค่ฝุ่นจากต่างประเทศก็มากพออยู่แล้ว ตน “ไม่อยากใช้กฎหมาย เพราะถ้าใช้ก็ผิดกฎหมายกันหมด”

ในวันที่ 10 เม.ย. 66 ประชาชนชาวเชียงรายในนามกลุ่ม Smog’s gone ได้นัดรวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนของประชาชน ว่าต้องการให้รัฐเร่งจัดการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน หลังที่ผ่านมาค่าฝุ่นควันยังสูงต่อเนื่อง

“ตอนนี้หายใจไม่ออกแล้ว อยากให้แก้ไขปัญหา เรื่องฝุ่นเป็นปัญหาทุกปี และปีนี้หนักมากจึงทนไม่ไหว” น.ส. ญดา จีระจันทร์ ชาวจังหวัดเชียงราย กล่าว

ในวันที่ 7 กันยายน 66 ซึ่งเป็นวันอากาศสะอาดสากล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด’ เนื้อหาและสาระสำคัญจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการอากาศสะอาดให้แก่ประชาชน ว่าจะเป็นอย่างไรภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้อย่าง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทรรศนะไว้ว่า ฝ่ายการเมืองสามารถทำให้กฎหมายเป็นอัมพาตได้อาทิ ห้องปลอดฝุ่นของ กทม. 200 กว่าล้าน ถูกสภากทม. ตีตกไป

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น Cr. กทม.

ห้องเรียนปลอดฝุ่น Cr. กทม.

 

สาวิทย์ แก้วหวาน ประสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวถึงเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้ว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนมีส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเพียงแค่พิธีกรรมฉากหน้าหรือเปล่า

สาวิทย์ เน้นอีกว่า เราต้องสำแดงพลังออกไปให้มากที่สุด เพราะการแสดงพลังผ่านคีย์บอร์ดไม่เพียงพอ สุดท้ายร่างกฎหมายก็จะถูกปัดทิ้ง เฉกเช่นแบบที่ผ่าน ๆ มา

 

เครือข่ายอากาศสะอาด Cr. Thailandcan

เครือข่ายอากาศสะอาด Cr. Thailandcan

 

ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาลจะถูกลงมติเห็นชอบจากครม. ย้อนกลับไปในวันที่ 13 พ.ย. 66 กลุ่มเครือข่ายสะอาด ได้ออกมาเร่งนายกฯ ให้รับร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลอากาศสะอาดฯ ฉบับประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ทว่าถูกตีตกไป

พ.ร.บ.อากาศสะอาดสำคัญอย่างไรต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนสามารถอ่านเพิ่มได้ที่บทความชิ้นนี้ https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/845610

ย้อนดู ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์-เศรษฐา  

  • วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 สส.ภูมิใจไทย เสนอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ...
  • วันที่ 13 กรกฎาคม ประชาชนเข้าชื่อ 12,000 คน เสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารการจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...
  • สส.ก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ...
  • เครือข่ายอากาศสะอาด เสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ...
  • เดือนธันวาคม 2564 สส.ประชารัฐ เสนอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน

ทั้ง 5 ฉบับในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกไปตกไปทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งก็คือ 3 ฉบับแรก เหตุผลที่พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 3 ร่างถูกปัดตกไป เหตุผลเพราะมีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การเงินฯ

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีนายกคนที่ 30 ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน แม้อาจไม่มีข่าวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ยินมากนักเฉกเช่นรัฐบาลก่อน แต่ปัญหายังคงไม่หายไปไหน และรอวันแก้ไข

ในสมัยรัฐบาลเศรษฐามีการยื่นร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดอยู่หลายครั้งอาทิ

  • วันที่ 13 พ.ย. 66 เครือข่ายอากาศสะอาด เสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ...
  • วันที่ 27 ก.ย. 66 สส.เพื่อไทยยื่นร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ดันคู่ขนานไปกับร่างของรัฐบาล
  • วันที่ 28 พ.ย. 66 ครม.ลงมติ รับร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...

นอกจากความเคลื่อนไหวในการดันร่างจากทั้ง 3 ภาคส่วนนี้ เครือข่ายอากาศได้ระบุข้อมูลไว้ว่า ยังมีร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างน้อยอีก 4 ฉบับ ที่กำลังจะถูกยื่นเข้าเข้าพิจารณาอาทิ

  • ร่างของพรรคภูมิใจไทย
  • ร่างของพรรคก้าวไกล
  • ร่างของพรรคประชาธิปัตย์
  • ร่างของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)

ติดขัดตรงไหนทำไมถึงไม่มีโอกาสได้เข้าสภาสักที?

ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 66 โดยระบุว่า ท่าทีของภาครัฐไม่ถึงกับเพิกเฉยในเรื่องฝุ่นควันพิษ

ทว่า ไม่ได้จัดการอะไรอย่างเป็นรูปธรรม บรรดาผู้ใหญ่ในสภายังมีความคิดเห็นเชิงลบต่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาดอยู่ ซึ่งอ้างว่า กฎหมายมีเยอะอยู่แล้ว ขืนออกพ.ร.บ.อากาศสะอาดมาก็ขัดแข้งขัดขากันเอง แนะให้ใช้กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทดแทนไปก่อน

ดร.ศิวัช ตังข้อสังเกตว่า มีใครแอบอยู่ในเงามืดแล้วควบคุมมิให้พ.ร.บ.อากาศสะอาด ได้ผ่านเข้าสภาหรือไม่ 

เพราะหากเราไปสำรวจในประเทศที่มีพ.ร.บ.อากาศสะอาดใช้ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะไม่มีเยอะ พูดง่าย ๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมจะเสียประโยชน์เป็นรายแรก หากประเทศไทยมีให้อำนาจรัฐเต็มที่ในการใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด พร้อมทั้งมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนี่ส่งผลไม่ดีนักแต่กลุ่มคนดังกล่าว

 

ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ร่องรอยร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด มีการเดินทางที่ไม่สู้ดีนัก เพราะถูกตีตกบ้าง ถูกดองบ้าง ติดเงื่อนไขเรื่องพ.ร.บ.การเงินบ้าง แต่ปัญปาฝุ่นไม่เคยหายไปไหน

ฉะนั้น ชวนรอติดตามว่า ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่เสนอโดยรัฐบาล จะทนต่อแรงเสียดทานและจะสามารถมอบสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างอากาศที่ดี ให้กับประชาชนได้หรือไม่

 

 

ที่มา: Greenpeace Thailand

 
 
Visitors: 1,429,841