รู้ไหมมันมีโครงการใช้ AI ในการ ‘แปลภาษาสัตว์’ แล้ว

รู้ไหมมันมีโครงการใช้ AI ในการ ‘แปลภาษาสัตว์’ แล้ว


.
ในโลกยุคที่ AI พัฒนาเร็วขึ้นมากๆ พร้อมกับต้นทุนการประมวลผลที่ถูกลง เราก็เริ่มเห็น AI ทำอะไรแปลกๆ ที่เราคิดว่าก่อนหน้านี้มันทำไม่ได้มากมาย ตั้งแต่เขียนบทความ วาดภาพ หรือกระทั่งวินิจฉัยโรค อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้
.
แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เราตื่นเต้นได้จริงๆ น่าจะเป็นการใช้ AI ให้ทำในสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อนมากกว่า
.
และความพยายามที่จะใช้ AI ในการ ‘แปลภาษาสัตว์’ ทุกชนิดคือความพยายามในการให้ AI ทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ที่ว่านั้น
.
โครงการนี้เป็นขององค์กรไม่แสวงกำไรจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชื่อ Earth Species Project ซึ่งมีเป้าหมายง่ายๆ คือต้องการจะแปลภาษาสัตว์เป็นภาษาคน
.
ถามว่าทำไปทำไม คำตอบคือโครงการนี้ต้องการ ‘พิสูจน์’ ว่าสัตว์มีการสื่อสารกันที่ซับซ้อน ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้แล้วเขาก็เชื่อว่า สังคมจะหันมาสนใจสวัสดิภาพของสัตว์มากขึ้น และทำให้เห็นสัตว์เป็น ‘อาหาร’ น้อยลง
.
สอดคล้องกับที่คนในโลกตะวันตกเริ่มให้ความสนใจ ‘วีแกน’ หรืออาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น ร้านอาหารต่างๆ เริ่มมีเมนูปราศจากเนื้อสัตว์ไว้เป็นมาตรฐานกันหมด
.
ล่าสุดโครงการนี้มี ‘ความคืบหน้า’ อยู่พอสมควร เพราะทางผู้อำนวยการโครงการก็เพิ่งตีพิมพ์งานวิชาการว่าด้วยการใช้ AI ในการถอดภาษาสัตว์ ลงในวารสาร Nature ในปลายปี 2021 ที่ผ่านมา
.
และถามว่าเขาทำให้ AI เรียนรู้ภาษาสัตว์ได้ยังไง? อธิบายแบบง่ายสุดก็คือ เขาจะถ่ายวิดีโอพวกสัตว์ในที่คุมขังเอาไว้พร้อมๆ กับบันทึกเสียง หลังจากนั้นก็จะมาวิเคราะห์จากภาพวิดีโอว่าสัตว์มันกำลังทำอะไร และเขาก็พยายามจะเชื่อมโยงกับเสียงนี่มันเปล่งออกมา
.
นี่คือไอเดียง่ายๆ ของของโปรเจ็คต์นี้ ที่เหลือเป็นปัญหาด้านเทคนิคและเรื่องรายละเอียด
.
บางคนอาจสงสัย ว่าแบบนี้มันต่างจากการเอาคนนั่งสังเกตสัตว์ว่ามันทำอะไรแล้วส่งเสียงยังไง? คำตอบคือไม่ต่าง แต่เวลาเราทำข้อมูลพวกนี้ให้เป็นดิจิทัล มันจะมีชุดข้อมูลมากมายมหาศาลเพื่อให้ AI วิเคราะห์ และ AI ยุคปัจจุบันก็ ‘อัจฉริยะ’ พอจะสร้างความเชื่อมโยงในข้อมูลจำนวนมากแบบที่มนุษย์สร้างไม่ได้

หรือพูดง่ายๆ ในขณะที่คนนั่งดูสัตว์ในระยะเวลาสั้นๆ คนอาจไม่เข้าใจว่าสัตว์ ‘พูด’ อะไรกัน แต่ AI สามารถจับตาดูสัตว์สารพัดชนิดและการส่งเสียงของมันตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีชุดข้อมูลบันทึกมาเทียบกัน และพอมีข้อมูลนี้ในมือพร้อมศักยภาพการประมวลผลของ AI มีความเป็นไปได้ที่จะ ‘เข้าใจ’ ความเชื่อมโยงการส่งเสียงเฉพาะเข้ากับพฤติกรรมของสัตว์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘เข้าใจ’ ภาษาของมันนั่นเอง
.
และก็ไม่ใช่แค่เข้าใจอย่างเดียว แต่ถ้า AI เข้าใจรูปแบบเสียงของสัตว์แล้ว มันก็ยังสามารถ ‘สร้าง’ เสียงของสัตว์ออกมาได้อีกด้วย

ซึ่งถามว่านี่จะนำไปสู่อะไร คำตอบคือ โครงการนี้ต้องการ ‘เครื่องแปลภาษาสัตว์’ เพื่อให้คนกับสัตว์สื่อสารกันได้เหมือนคนต่างภาษากันใช้ Google Translate สื่อสารกันนั่นแหละ
.
นี่คือไอเดียของโครงการ ซึ่งเรียบง่ายและเข้าใจได้ไม่ยากเลย และก็ไม่แปลกที่มีคนให้ทุนทำวิจัยไม่น้อย เพราะมันฟังดูไฮเทคจริงๆ
.
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโครงการนี้จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนักสัตววิทยาทั่วไปเมื่อได้ฟังไอเดียก็เกิดคำถามตามมา อาทิ โครงการทั้งหมดมันวางฐานว่าสัตว์ทุกชนิดสื่อสารกันด้วย ‘เสียง’ เป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ สัตว์จำนวนมากไม่ได้สื่อสารกันแบบนั้น สัตว์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอวัยวะในการส่งเสียงที่ซับซ้อน และการสื่อสารส่วนใหญ่ทำผ่านท่าทางมากกว่า และนี่ก็ยังไม่นับการสื่อสารทางกลิ่นที่เรียกว่า ‘ฟีโรโมน’ อีก
.
นักสัตววิทยาระบุว่า พวกเขารู้เรื่องการสื่อสารของสัตว์ด้วยเสียงต่างๆ มานานแล้วก่อนจะมี AI ใช้แพร่หลาย และเขารู้ดีว่า สัตว์ไม่ได้ใช้ ‘ถ้อยคำ’ แบบคนเพื่อสื่อสารเป็นหลัก เพราะสัตว์ส่งเสียงได้จำกัด มันเลยใช้เสียงปนกับท่าทาง นี่คือ ‘ถ้อยคำ’ ของมัน ดังนั้นเสียงเดียวกัน ท่าทางต่าง ความหมายก็ต่าง แต่เท่านั้นยังไม่พอ นักสัตววิทยายังพบอีกว่า ‘ถ้อยคำ’ ของสัตว์ก็มี ‘ความหมาย’ ต่างกันไปตามบริบทด้วย
.
นี่คือประเด็นพื้นฐานที่พวกนักสัตววิทยาค่อนข้างเคลือบแคลงโครงการ ‘สร้างเครื่องแปลภาษาสัตว์’ ของ Earth Species Project เพราะโดยไอเดียที่ใช้มันเหมือนเป็นการลดทอนการสื่อสารของสัตว์เป็นแค่การ ‘ส่งเสียง’ หรือเป็นแค่การเอาโมเดลเครื่องแปลการสื่อสารของมนุษย์ไปใช้กับสัตว์แบบดื้อๆ
.
ซึ่งก็แน่นอน ทางโครงการนั้นแม้ว่าจะมีการพูดแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าไม่ได้ศึกษาการสื่อสารแค่เสียงเท่านั้น แต่คำถามพื้นๆ อีกจำนวนมากที่ยกมาโดยนักสัตววิทยาก็ยังไม่ได้รับคำตอบอยู่ดี
.
อ้างอิง: Futurism. AMBITIOUS RESEARCHERS WANT TO USE AI TO TALK TO ALL ANIMALS. https://futurism.com/the-byte/machine-learning-animal-translator
The Guardian. Can artificial intelligence really help us talk to the animals? https://www.theguardian.com/science/2022/jul/31/can-artificial-intelligence-really-help-us-talk-to-the-animals
Earth Species Project. https://www.earthspecies.org/
.

ที่มา : BrandThink.me
https://www.instagram.com/p/CjDBJ3hvRuL/

 

Visitors: 1,217,692