ชี้อนาคตประเทศไทย กับมาตรฐาน AI ปี 66 ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น

ชี้อนาคตประเทศไทย กับมาตรฐาน AI ปี 66 ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น

ในวันที่ใครๆ ก็พูดถึง AI ว่าเริ่มทำอะไรได้หลายอย่าง แล้วจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้การส่งเสริม ดูแล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบกับมนุษย์

ก่อนที่จะไปพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ เราลองมาทบทวนกันสั้น ๆ ว่า มาตรฐานเกี่ยวข้องอะไรกับเรา ๆ ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดมากคือเวลาเราเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเรามีมือถือ มีกล้อง มีคอมพิวเตอร์ มี electronic gadget สารพัดอย่างที่ต้องการชาร์จไฟ ดังนั้น สิ่งที่เราพกติดตัวยามเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเสมอก็คือ universal adapter ที่จะช่วยให้เราสามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับเหล่าอุปกรณ์​ gadget ของเราได้ ถ้าเราสังเกตกันดี ๆ เราจะพบว่าแต่ละประเทศ หรือทวีป ก็มีรูปแบบของมาตรฐานปลั๊กไฟที่แตกต่างกัน

 

ชี้อนาคตประเทศไทย กับมาตรฐาน AI ปี 66 ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น

ตัวอย่างของมาตรฐานปลั๊กไฟฟ้าของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

 

โดยแต่ละประเทศก็จะมีหน่วยงานในการกำหนด เลือกใช้ หรือพัฒนามาตรฐานที่ระบุรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศของตนเองอยู่ หน่วยงานเหล่านี้นี่เองที่ทำหน้าที่ประกาศว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ ได้ จะต้องมีคุณลักษณะ คุณภาพในเชิงเทคนิคเป็นอะไร อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะมีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบก่อนการนำเข้ามาจัดจำหน่ายในแต่ละประเทศ

อย่างในประเทศไทยเรามีมาตรฐาน มอก. 166–2549 ที่ระบุรูปแบบปลั๊กเป็น Type O ดังรูปด้านล่าง ที่แม้จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Type F ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ทำให้หลายผลิตภัณฑ์จากยุโรปที่นำเข้ามาจัดจำหน่ายในไทยต้องมีตัวแปลง หรือ adapter ที่เติมขาที่สาม ซึ่งเป็นสายดินแถมให้ผู้ซื้อในทุก ๆ อุปกรณ์ที่จัดจำหน่าย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานนี้

จากตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ อย่างปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าพวกเราคงเริ่มเห็นกันแล้วว่ามาตรฐานของแต่ละประเทศเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนโดยตรง เพราะมาตรฐานกำหนดรูปแบบ ระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และแนวทางการเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ บริการ และสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนในประเทศนั้น ๆ เอง

สำหรับผู้เขียนแล้ว สามสิ่งที่การมีมาตรฐานฯ ทำให้ผู้บริโภคแบบเรา ๆ อุ่นใจได้ก็คือ

  • safety ความปลอดภัย
  • quality คุณภาพ
  • interoperability การเชื่อมต่อทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้มาตรฐานมักถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่เริ่มมีการใช้งาน wifi ทำให้เราไม่ต้องเชื่อมกับสาย LAN มาตรฐาน IEEE802.11 ก็เป็นซีรีส์มาตรฐานที่ช่วยกำหนดคุณลักษณะ การเชื่อมต่อ และสมรรถนะของการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กผ่านการส่งสัญญาณแบบไวร์ไฟร์ที่มีอยู่หลายรุ่นความแรง (ที่ผกผันกับระยะทาง) เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกคุณลักษณะตามที่ต้องการ

ซึ่งผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีปัญญาประดิษฐ์ประกอบอยู่ด้วยก็ต้องการที่จะสร้างการยอมรับในการใช้งานจากสังคมโลกเช่นกัน

ด้วยเหตุที่ว่า AI สามารถตัดสินใจ และดำเนินการได้อย่างอัตโนมัติแบบมนุษย์ในบางเรื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีความพยายามที่จะจัดทำมาตรฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ออกมาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งในเชิงคำศัพท์ (terminology) และคุณสมบัติ คุณลักษณะต่าง ๆ ในเชิงเทคนิค (technical specification) รวมไปถึงการกำหนดคุณลักษณะในเชิงจริยธรรมอีกด้วย (ethical issues) โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่จัดทำมาตรฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ออกมาแล้วหลายหน่วยงาน

โดยในระดับมาตรฐานสากลจะมี ISO/IEC JTC1/SC42 ซึ่งเป็นกลุ่มอนุกรรมการที่พัฒนามาตรฐานสากลให้กับปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันออกมาตรฐานมาทั้งสิ้น 17 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ AI และยังมีอีกราว 30 ฉบับที่อยู่ใน pipeline ดำเนินการ ส่วนสถาบัน IEEE ก็ได้ออกซีรีส์ IEEE P7000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมี ITU, ETSI ที่มีมาตรฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ออกมาบางส่วน และกำลังทะยอยออกมาอีกมากเช่นกัน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นของเราเอง (สถานะ ณ ต้นปี 2023/2566)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2016/2559 เป็นต้นมา หน่วยงานและหลากหลายประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา และนำ AI ไปใช้งานอย่างมีจริยธรรมต่างทยอยออกแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์​ หรือ AI Ethics Guidelines หรือ AI principles อย่างต่อเนื่อง

 

ชี้อนาคตประเทศไทย กับมาตรฐาน AI ปี 66 ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น

ซึ่งในหลักการอย่างคร่าวของแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรมสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ประกอบไปด้วย 8 ประเด็นที่นักพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ควรที่จะคำนึงถึง ได้แก่

Privacy ความเป็นส่วนตัว

  • Accountability ความรับผิดชอบ
  • Safety and Security ความปลอดภัยและมั่นคง
  • Transparency and Explainability ความโปร่งใสและอธิบายได้
  • Fairness and Non-discrimination ความเป็นกลางและไม่กีดกันแบ่งแยก
  • Human Control of Technology การควบคุมเทคโนโลยีโดยมนุษย์
  • Professional Responsibility ความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญ
  • Promotion of Human Values การส่งเสริมคุณค่าในมนุษย์

อาจกล่าวได้ว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะดูแลการพัฒนาและใช้งาน AI ให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือมาตรฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ออกมาให้ได้ใช้งาน เนื่องจากทั้งกฏหมายและมาตรฐานต่างต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองเพื่อหาความเหมาะสมและดำเนินการตามกระบวนการของแต่ละประเทศ แนวปฏิบัติจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปศึกษาและปรับใช้ด้วยตัวเองได้ทันที

สำหรับประเทศไทยเอง เรามี Thailand AI Ethics Guideline (ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.soc.go.th/ ที่มีมติ ครม.ในปี 2020/2563 ให้นำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้อีกหลายหน่วยงานภาครัฐในไทยได้จัดทำแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานภายในองค์กร (self-regulation)

ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ดาวน์โหลดได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2022/20220331-ori-ai-research-integrity-guideline.pdf

โดยล่าสุด 2023/2566 ทางคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.law.chula.ac.th/event/20152 นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการสร้างเฟรมเวิร์กในการดูแลการพัฒนาและใช้งาน AI ที่สอดคล้องกับหลักการของแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรมสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 8 ด้านดังกล่าวข้างต้นฯ อีกด้วย

 

ชี้อนาคตประเทศไทย กับมาตรฐาน AI ปี 66 ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น

ภาพรวมภูมิทัศน์ของมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ในไทยประกอบไปด้วย Standards, Guidelines, Laws และ regulation ที่ ณ วันนี้เรายังไม่มีมาตรฐาน หรือกฎหมายปัญญาประดิษฐ์เป็นของเราเอง แต่เรามีแนวปฏิบัติทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานวิจัยและภาคการศึกษาออกมาแล้ว

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะ “ร่าง” ไม่ว่าจะเป็น ร่างกฎหมาย AI ACT จาก EU ที่มีวี่แววว่าอาจจะประกาศใช้ในสิ้นปี 2023/2566 นี้ แต่จะมีระยะเวลา “เผื่อ” ให้ได้ดำเนินการก่อนที่จะ enforce อีกราวสองปี หรือสำหรับประเทศไทยนั้น สดช. ร่วมมือกับ จุฬาฯ​ ทำการศึกษาและร่างเอกสารที่มีชื่อว่า (ร่าง) พรฎ. การประกอบธุรกิจบริการที่ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ (ฉบับระดมความคิดเห็น) สิงหาคม 2565 โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เรายังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ที่เกี่ยวกับ AI แต่อย่างไรก็ดี ก็ทำให้เราเห็นแนวโน้มความต้องการที่จะทำให้เกิดการดูแลผลกระทบที่จะตามมาหากระบบ AI ทำงานผิดพลาด จนมีความเสียหายเกิดขึ้น และมีการระบุความรับผิดรับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายอาจแนะนำให้ดำเนินการตามมาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบฯ หรือหน่วยงานผู้พัฒนา ใช้งาน ให้บริการระบบที่มีปัญญาประดิษฐ์ จะใส่ใจในความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคของการทำระบบ AI ให้ได้มาตรฐานนั้นได้มาถึงแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์เป็นของเราเองอย่างเป็นทางการ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถละเลยการประเมินองค์กรและ/หรือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เรากำลังพัฒนา นำไปใช้งาน หรือให้บริการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลักการของ AI Ethics ได้อีกต่อไป

เรียบเรียงโดย : ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช.

 

ที่มา : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/836891

 

Visitors: 1,213,578