วันวิสาขบูชา 2564 ประวัติวันสำคัญระดับโลก ชาวพุทธต้องรู้!

วันวิสาขบูชา 2564 ประวัติวันสำคัญระดับโลก ชาวพุทธต้องรู้!

‘วันวิสาขบูชา’ 2564 ประวัติวันสำคัญระดับโลก ชาวพุทธต้องรู้!
26 พฤษภาคม 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
 

เปิดที่มา “วันวิสาขบูชา” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันสำคัญของโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มนุษย์มีเมตตาธรรม ก่อเกิดสันติสุข อันเป็นแนวทางของ UN

วันพระใหญ่เวียนมาบรรจบอีกครั้ง แถมยังเป็นวันสำคัญระดับโลกอีกด้วย! เรากำลังพูดถึง “วันวิสาขบูชา” หนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กล่าวคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้งสามวัน (แต่ต่างปีกัน) นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดน่ารู้อีกมากมายเกี่ยวกับ “วันวิสาขบูชา” ที่พุทธศาสนิกชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ควรทำความรู้จักเอาไว้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

1. ทำไม “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญระดับโลก?

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม เช่น บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ร่วมกันเสนอให้สหประชาชาติ (UN) รับรองให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542

จากนั้นคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ “วันวิสาขบูชา (Vesak Day)” ถือเป็น “วันสำคัญของโลก” ทั้งนี้ ด้วยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ

 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ และเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

 

 

158867164010

 

2. ที่มาและความหมายของ “วันวิสาขบูชา”

คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะ (ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปดสองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือนเจ็ด) “วันวิสาขบูชา” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ และปรินิพพาน คือ ดับ ซึ่งเกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกันทั้ง 3 คราว (แต่ต่างปีกัน) ได้แก่

- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ : เจ้าชายสิทธัตถะ “ประสูติ” ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา : เจ้าชายสิทธัตถะ “ตรัสรู้” เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี

- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง : พระองค์ประกาศพระพุทธศาสนา และเผยแผ่ออกไปเป็นเวลา 45 ปี เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา จึงเสด็จ “ดับขันธปรินิพพาน” ในวันอังคาร ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)

158867163925

3. “วันวิสาขบูชา” ในไทย เริ่มสมัยสุโขทัย

ตามหลักฐานพบว่า “วันวิสาขบูชา” เริ่มมีในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สำหรับสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

 

4. “วันวิสาขบูชา” สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

ต่อมาในสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี ด้วยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่แผ่เข้ามาในไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่

จากนั้นจึงมีการจัดพิธีขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 (พ.ศ. 2360) และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ มีพระประสงค์เพื่อให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุข และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน


158867164024

5. กิจกรรมสำคัญใน  “วันวิสาขบูชา”

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เราจะได้ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลักธรรมคำสอนต่างๆ ที่พระองค์ได้เคยสอนไว้ สำหรับกิจกรรมที่ชาวพุทธมักจะปฏิบัติกันเป็นประจำใน "วันวิสาขบูชา" ได้แก่

  • เข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ด้วยอาหารคาวหวาน
  • ถวายสังฑทาน
  • ฟังเทศเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต
  • ถือศีล ปฏิบัติธรรม สร้างบุญบารมีให้ตนเอง
  • "เวียนเทียน/เวียนเทียนออนไลน์" เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

----------------------------------

อ้างอิง: กรมการศาสนาธรรมะไทย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

Visitors: 1,429,847