ล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่ง

 
ล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่ง
 
Hugo Maupetit และ Vivian Fischer สองนักศึกษาชาวฝรั่งเศสไอเดียบรรเจิด ผู้เปลี่ยนซากหมากฝรั่งที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ให้กลับมามีชีวิตใหม่ กลายเป็นล้อสเก็ตบอร์ดสีสันสดใส
 
ล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่ง
 
หมากฝรั่งที่ถูกคายทิ้งหลังจากถูกเคี้ยวจนหมดรสชาติ อาจจะดูไร้ประโยชน์ และสร้างปัญหาให้กับหลายพื้นที่ ถ้ามันถูกทิ้งอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง
 
แต่ในสายตาของ Hugo Maupetit และ Vivian Fischer สองนักศีกษาสาขาวิชาออกแบบ กลับมองว่าซากหมากฝรั่งเหล่านี้ น่าจะนำมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้
 
นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจ็คต้นแบบ ในการนำซากหมากฝรั่งมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล จนได้เป็นล้อสเก็ตบอร์ดแสนสวยหลากสีสัน
 
สเก็ตบอร์ดที่ติดล้อซึ่งทำมาจากซากหมากฝรั่ง
 
ในอดีตหมากฝรั่งทำมาจากยางของต้นไม้หลายชนิด แต่ในปัจจุบันมันมีส่วนผสมของยางสังเคราะห์ที่เรียกว่า Polyisobutylene แบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตยางรถยนต์
 
นั่นจึงทำให้การทำล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
 
 
สำหรับขั้นตอนในการทำ จะเริ่มจากการรวบรวมซากหมากฝรั่ง โดยติดตั้งแผ่นอะครีลิคไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองน็องต์ (Nantes) ของฝรั่งเศส เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา นำหมากฝรั่งที่ตัวเองอยากจะทิ้ง มาติดไว้บนแผ่นอะครีลิกนี้ ซึ่งสามารถติดซากหมากฝรั่งได้มากกว่า 60 ชิ้น
 
แผ่นอะครีลิกสำหรับติดซากหมากฝรั่ง
 
แผ่นอะครีลิคที่มีซากหมากฝรั่งติดอยู่ จะถูกส่งไปทำความสะอาด ก่อนนำไปหลอมละลาย โดยจะมีการเติมวัสดุเชื่อมประสานและสีธรรมชาติลงไปด้วย
 
หลังจากนั้นจะตัดแบ่งมันออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปฉีดขึ้นรูปให้กลายเป็นล้อสเก็ตบอร์ดหลากสี ที่มีการผลิตออกมา 4 ขนาด และ 3 ระดับความแข็ง
 
โดยล้อ 1 ล้อ จะต้องใช้หมากฝรั่งประมาณ 10-30 ชิ้น
 
กระบวนการผลิตล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่ง
 
ล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ โดยตัวมันสร้างขยะชิ้นใหม่น้อยมาก เพราะเมื่อมันถูกใช้งานจนสึกกร่อน จะสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้
 
แม้ว่าในตอนนี้ล้อสเก็ตบอร์ดจากซากหมากฝรั่งจะยังคงเป็นเพียงโปรเจ็คต้นแบบ แต่สองนักศึกษาเจ้าของโปรเจ็ค วางแผนไว้ว่าในอนาคตข้างหน้า พวกเขาอาจจะร่วมมือกับบริษัทผลิตหมากฝรั่งและแบรนด์สินค้าแนวสตรีท ผลิตมันออกมาวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย
 
ซึ่งนอกจากจะเป็นการจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์แล้ว มันยังช่วยลดทรัพยากรที่จะถูกนำมาใช้ในการผลิตสินค้าชิ้นใหม่อีกด้วย
 
 
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
 
ขอบคุณที่มา : โลกหลากสี https://www.blockdit.com/posts/60a126eb05641b0c2ad01a89
 
 
Visitors: 1,405,421