ไม่มีความตายใดๆ จะเจ็บปวดมากไปกว่า การต้องจบชีวิตตามลำพังคนเดียว

การจากลาอันเปลี่ยวเหงา
 
 
ไม่มีความตายใดๆ จะเจ็บปวดมากไปกว่า การต้องจบชีวิตตามลำพังคนเดียว และนี่คือปรากฏการณ์สำคัญที่มาพร้อมวิกฤติโควิด-19
 
ในวิกฤติโควิด มีคำศัพท์ที่ถูกใช้บ่อยมาก นั่นคือ Lonely death หรือความตายอันเปลี่ยวเหงา
 
คนเราเกิดมา ล้วนแล้วแต่อยากอยู่ใกล้คนที่เรารัก และในวันที่กำลังจะจากลา อย่างน้อยได้กอดกันเป็นครั้งสุดท้าย ได้เอ่ยคำร่ำลาต่อกันก็ยังดี แต่ในสภาวะโควิด-19 มันไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้
 
กล่าวคือถ้าคนไข้ติดเชื้อแล้ว คุณจะถูกแยกออกไปเพื่อรักษาตัว และมีหลายเคสมาก ที่แพทย์ไม่ให้ญาติเข้าพบคนไข้เลย เพราะอาจเป็นการส่งต่อเชื้อให้คนไม่ป่วย
 
และสำหรับคนไข้เอง แม้จะอยากเจอครอบครัวแทบตายก็เถอะ แต่พวกเขาก็ "เลือกที่จะไม่เจอ" เหตุผลคือถ้าคุณรักใครสักคนจริงๆ แม้จะอยากสัมผัส อยากกอดแค่ไหน แต่ก็ไม่อยากให้เขาต้องมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไปด้วย
 
ถ้าเรารักใครสักคนอย่างไม่มีเงื่อนไข เราจะอยากให้เขามีความสุข และมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างแข็งแรง แม้จะไม่มีเราแล้วก็ตามที
 
สุดท้ายหลายๆคนก็เลยจบชีวิตไปทั้งๆอย่างนั้น ไม่ได้บอกลา ไม่ได้เจอหน้า ไม่ได้ทำอะไรเลย มันคือ Lonely death อย่างแท้จริง
 
สำหรับข่าวน้าค่อมเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน สิ่งที่สะเทือนใจที่สุด คือคลิปตอนที่รถพยาบาลมารับตัวเขาที่บ้าน น้าค่อมเดินลงจากบันได ถือสัมภาระของตัวเอง ใส่ Mask ค่อยๆเดินขึ้นรถไป โดยที่คนในบ้านไม่สามารถสัมผัสตัว หรือกอดให้กำลังใจใดๆได้
 
จากนั้นมา 2 สัปดาห์น้าค่อมก็เสียชีวิต จากไปโดยที่สุดท้าย ก็ไม่ได้สัมผัสร่างกายใดๆ กับคนที่ตัวเองรักเลย
 
ตามปกติเมื่อคนเราเสียชีวิต ตามธรรมเนียมของศาสนาพุทธ เราจะนำศพไปที่วัด มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ ญาติพี่น้องได้โอกาสมองหน้ากันครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีงานสวดอภิธรรม 5 วัน 7 วัน หรือบางรายอาจ 100 วันก็มี เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ให้คนที่รักได้มีโมเมนต์ไว้อาลัย ก่อนที่จะทำพิธีฌาปนกิจ
 
แต่กับกรณีของโควิด-19 นั้นต่างกันออกไป กล่าวคือสารคัดหลั่งในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ แปลว่าศพต้องถูกใส่ไว้ในซิปกันน้ำสองชั้น และห้ามเปิดถุงศพโดยเด็ดขาด
 
ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ ใดๆทั้งสิ้น และการสวดอภิธรรม จะมีแค่ 1 วันเท่านั้นก็ต้องเผาทันที ไม่มีการปล่อยให้ยืดเยื้อข้ามคืน เพื่อเป็นการกำจัดจุดที่อาจจะแพร่เชื้อได้อย่างเร็วที่สุด
 
ในมุมของคนตาย ก็ตายอย่างเปลี่ยวเหงา ไม่เจอคนที่เรารัก ขณะที่ในมุมของคนที่อยู่ก็เจ็บปวด ในวาระสุดท้ายของคนที่เรารักแท้ๆ แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย สัมผัสตัวอีกสักหน ก็ยังทำไม่ได้
 
ดร.ซาดิย่า คาห์น ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นกล่าวว่า เรื่อง Lonely death เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากกับเคสโควิด-19 เพราะ อย่างโรคอื่นๆ คุณยังได้มีเวลาดูใจกัน แต่นี่ไม่เลย ทันทีที่เข้าโรงพยาบาลปั๊บ มันจะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก และอาจเป็นวาระสุดท้ายที่ได้เจอกัน
 
"การที่คุณต้องเห็นคนที่คุณรักต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว มันจะส่งผลกระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก ครอบครัวต้องใช้พลังอย่างมาก ในการเยียวยาใจตัวเอง ที่เหมือนปล่อยให้คนที่รักต้องอยู่คนเดียว"
 
"ขณะที่กับคนไข้ ในฐานะแพทย์เราคิดกันเสมอว่ามันต้องเจ็บปวดมากแน่ๆ ที่ต้องนอนเสียชีวิตคนเดียวแบบนั้น แต่นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไข้นับพันในโรงพยาบาล เพราะเราไม่อนุญาตให้คนในครอบครัวได้เข้ามาเจอกัน แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายในชีวิตของคนไข้ก็ตาม"
 
เรื่องโควิด-19 มันทำให้ตระหนักได้ 2 อย่างที่สำคัญมากๆ
 
อย่างแรกคือ ไขว่คว้าช่วงเวลาแห่งความสุขกับคนที่เรารักให้นานที่สุด ทั้ง ภรรยา ลูกสาว พ่อแม่ และพี่สาว
 
เพราะไม่รู้เลยว่าสักวันถ้าพ่อแม่ติดเชื้อ ท่านอาจจะเข้าโรงพยาบาลแล้วจากไปโดยไม่ได้เจอหน้ากันอีกเลยก็ได้ คือเราไม่รู้อนาคตได้เลย
 
หรือถ้าติดเชื้อ อาจจะเข้าโรงพยาบาลแล้วก็ตายไปเลยก็ได้ โดยไม่มีโอกาสกอดลูกอีกสักครั้ง ดังนั้นทุกโมเมนต์ที่มี เก็บเกี่ยวช่วงเวลาดีๆเอาไว้เยอะๆ จะได้ไม่มีอะไรต้องเสียใจทีหลัง
 
เหมือนเพลงของแอโร่สมิธ I don't want to miss a thing ฉันไม่อยากพลาดโมเมนต์ของเราเลยแม้เสี้ยววินาที
 
และอย่างที่ 2 คือ วิกฤติโควิดครั้งนี้ยิ่งมาในรอบ 3 ต้องรู้จักระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อก่อนเคยมีเลินเล่อ เดินห้างก็มีเอาหน้ากากลงมาพักไว้ที่คางบ้าง แต่เดี๋ยวนี้  ถ้าออกจากบ้าน ก็ระวังตัวให้ดีที่สุด ใส่หน้ากากตลอดเวลา ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือตลอดเวลา อย่างน้อยเราก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด
 
สำหรับคนหลายๆอาชีพ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ work from home มันต้องออกไปใช้ชีวิต ไปเจอสังคม และแน่นอนมันก็มีความเสี่ยง แต่มั่นใจว่า ทุกคนก็คงจะระวังตัวกันที่สุดนั่นแหละ
 
บทสรุปที่อยากบอกทุกคน คือ ยันเอาไว้นะครับ อย่างน้อยก็จนกว่าวัคซีนจะมาถึงนะ วัคซีนอาจไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ แต่มันได้ผลแน่ในเรื่องการติดเชื้อแล้วไม่เกิดอาการหนัก ซึ่งจากสถิติแล้ว ฉีดวัคซีนยังไงก็ดีกว่าไม่ฉีดแน่นอนครับ
 
สุดท้ายนี้ เรื่องความตายอันเปลี่ยวเหงา Lonely death เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอที่สุดแล้ว แน่นอนว่ามันมีผลในแง่จิตใจอย่างมาก มันก่อให้เกิดความเสียใจอย่างแสนสาหัสทั้งคนที่จากไป และคนที่มีชีวิตอยู่
 
เพราะในโลกนี้ไม่มีใครหรอก ที่ในโมเมนต์สุดท้ายของชีวิต แล้วไม่อยากกอดอำลาคนที่ตัวเองรักเป็นครั้งสุดท้าย
 

ขอบคุณที่มา : วิเคราะห์บอลจริงจัง :  https://www.blockdit.com/posts/60b2956a8c86310c365f9a35

Visitors: 1,197,670