ภัยแล้งดันราคากาแฟแพงฉ่ำ เริ่มเห็นผลครึ่งปี 2025 เป็นต้นไป
ภัยแล้งดันราคากาแฟแพงฉ่ำ เริ่มเห็นผลครึ่งปี 2025 เป็นต้นไป
ภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตกาแฟลดลง ส่งผลให้ราคาพุ่งสูง บราซิลแม้ได้เปรียบด้านภาษี แต่ยังเผชิญปัญหาธรรมชาติ สถานการณ์กาแฟโลกเป็นอย่างไร ?ปัจจุบัน อุตสาหกรรมกาแฟโลกยังมีความผันผวน ราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดโลก ราคาพุ่งทะลุ 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ และปรับตัวลงเล็กน้อยเหลือ 8.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในเดือนมีนาคม ขณะที่กาแฟโรบัสต้า ซึ่งมักใช้ทำกาแฟสำเร็จรูป และมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่เวียดนามกับอินโดนีเซีย ราคาพุ่งแตะ 5.70 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1.6 เท่า
Credit Reuters
เจาะลึกไปที่ตลาดกาแฟในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคากาแฟปรับตัวสูงขึ้น 1% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปลีกเพิ่มขึ้น 0.24% หลังจากเวลาผ่านไป 19 เดือน ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ราคาปลีกเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากผ่านไป 13 เดือน แต่ประเด็นคือ จะเกิดผลกระทบในระยะยาว 2-4 ปี เอมีเลียโน มากรินี นักเศรษฐศาสตร์แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า “ราคากาแฟในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคราว ๆ 6-8 เดือนให้หลัง กล่าวคือ ผู้บริโภคจะซื้อกาแฟในราคาที่แพงขึ้นช่วงปลายปี 2025 ไปจนถึงช่วงต้นปี 2026” ต้นตอกาแฟแพงมาจากไหน ?สำนักข่าว Nikkei รายงานว่าสาเหตุหลักที่ราคากาแฟในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในเวลาเพียงปีเดียวเป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตกาแฟมี “สภาพอากาศที่เลวร้าย”
Credit Reuters
บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิก้าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และเวียดนามซึ่งคิดเป็นเกือบ 40% ของปริมาณการผลิตกาแฟโรบัสต้า จับมือได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรง และอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน แล้งก็แล้ว ยังเจอเหตุการณ์ฟ้ารั่ว ฝนตกเป็นเวลานานทำให้พืชผลเติบโตไม่ดี ทั้งยังได้รับความเสียหายจากแมลงและโรคพืช “ต้นกาแฟได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คลื่นความร้อน หรือฝนตกนาน ถ้าเกษตรกรตัดสินใจทำลายทิ้งทั้งหมด แล้วลงมือปลูกใหม่ อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาให้ผลผลิตและเติบโตอีกครั้ง” เอมีเลียโน มากรินี กล่าว เมื่อผลิตได้น้อยลงสต็อคกาแฟก็พลอยลดลงไปด้วย ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กาแฟในตลาดโลกมีสต๊อคลดลงราว 40% เมื่ออุปทานขาดแคลน สินค้าหายากขึ้น ราคาเมล็ดกาแฟจึงพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว
Credit Reuters ประเด็นสภาพภูมิอากาศค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเขตร้อนสามารถปลูกได้เฉพาะในระบบนิเวศทางการเกษตรที่เหมาะสม และจำกัด อาทิ ระหว่างละติจูด 25 องศาเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ปลูกได้เฉพาะในประเทศที่เป็นผู้นำการผลิตกาแฟโลกในตอนนี้ นั่นก็คือ บราซิล (37%) เวียดนาม (17%) โคลอมเบีย (8%) อินโดนีเซีย (7%) และอื่น ๆ รวมกัน (26%) ขณะที่สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดผู้บริโภคกาแฟขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชาวอเมริกันควักเงินซื้อกาแฟดื่มเฉลี่ยวันละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมแล้วปีหนึ่ง ๆ คิดเป็นเงินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หารู้ไม่ว่าการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเป็นหนากที่ย้อนกลับไปทิ่มแทงผู้บริโภคกาแฟชาวอเมริกันเสียเอง เหตุผลง่าย ๆ คือ ประเทศผู้ส่งออกกาแฟรายหลักล้วนได้รับผลกระทบด้านภาษีไปตาม ๆ กัน อาทิ เวียดนาม 46%, เมียนมาร์ 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32% แต่โซนละตินอเมริกา อาทิ บราซิล โคลอมเบีย กลับโดนภาษีแค่ 10% ดังนั้น ถ้าวัดกันแล้วบราซิลนับว่าได้เปรียบประเทศอื่น ๆ อยู่มากโข ในแง่ที่ว่าบราซิลโดนภาษีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ แถมยังเป็นอันดับ 1 ผู้ส่งออกกาแฟของโลกรวมถึงสหรัฐฯ แต่วนกลับไปประเด็นเดิมคือ บราซิลต้องหาทางเอาชนะธรรมชาติให้ได้เสียก่อน
ที่มา: Nikkei
|