ฟุตบอล กีฬายอดนิยมที่สุดในโลก ผลิตก๊าซคาร์บอนฯ เทียบเท่าผู้คนในออสเตรีย

ฟุตบอล กีฬายอดนิยมที่สุดในโลก ผลิตก๊าซคาร์บอนฯ เทียบเท่าผู้คนในออสเตรีย

 

“ฟุตบอล” กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก กำลังเผชิญการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น หลังจากรายงานฉบับใหม่ระบุว่า อุตสาหกรรมลูกหนังมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับประชากรของออสเตรียทั้งประเทศ

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟา (FIFA) ระบุว่า ผู้คนราว 5,000 ล้านคนทั่วโลกเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนฟุตบอล และฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ มีผู้ชม 1,500 ล้านคน และมีแฟนบอล 220 ล้านคนเดินทางไปชมการแข่งขันถึงสนามแห่งต่าง ๆ ในแต่ละปี นอกจากจะเป็นที่พูดถึงกันในทุกมุมโลกแล้ว ในฐานะอุตสาหกรรม ฟุตบอลมีมูลค่าถึง 35,300 ล้านยูโร เฉพาะในยุโรปเพียงภูมิภาคเดียว

 

ฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 Credit Reuters

ฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 Credit Reuters

แต่นอกจากนั้น ฟุตบอลยังซ่อนความลับอันสกปรกเอาไว้ และได้รับการเน้นย้ำในรายงานฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า Dirty Tackle ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ Scientists for Global Responsibility และสถาบัน New Weather Institute

รายงานประเมินว่า อุตสาหกรรมฟุตบอลทั่วโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 64 ล้านตันถึง 66 ล้านตันมในแต่ละปี นั่นเทียบเท่ากับประชากรทั้งประเทศออสเตรีย

อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลและทีมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังสร้างความตระหนักรูให้กับฐานแฟนในรูปแบบที่สร้างสรรค์

 

ทำไมฟุตบอลจึงเป็น “เกมที่สกปรก” สำหรับดาวเคราะห์โลก ?

รายงาน Dirty Tackle เป็นรายงานแรกที่มีการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของวงการฟุตบอลอย่างใกล้ชิดและแสดงเห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นจากอุตสาหกรรม

ดร.สจวร์ต พาร์กินสัน (Dr Stuart Parkinson) ระบุว่า งานวิจัยนี้บันทึกหลักฐานที่น่าสนใจว่าฟุตบอลเป็นตัวก่อมลพิษที่สำคัญและการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็กำลังเพิ่มขึ้น

 

Credit Reuters

Credit Reuters

พร้อมเสริมว่า รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มีข้อบ่งชี้เพียงเล็กน้อยว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจพร้อมที่จะประเมินปัญหามลภาวะของเกมอย่างเพียงพอ ไม่ต้องพูดถึงการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของฟุตบอลมาจากไหน ?

รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า ปัจจัยหลัก ๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมฟุตบอลมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก คือ การขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและเข้าใจได้ง่าย และงานวิจัยคาดการณ์ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เกมการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลชายของลีกในประเทศ จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1,700 ตัน ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากการเดินทางของแฟน ๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์

 

ฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 Credit Reuters

ฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 Credit Reuters

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเกมการแข่งขันระดับนานาชาติเข้าไปด้วย ก็จะทำให้การผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นราว 50% เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเดินทางมาร่วมรับชมโดยใช้เที่ยวบินพาณิชย์มากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อถึงบิ๊กแมตช์ อย่าง ฟุตบอลโลก ชุดทีมชาติชาย รอบชิงชนะเลิศ การปล่อยมลพิษเหล่านี้อาจสูงกว่าเกมในประเทศถึง 42 เท่า เนื่องจากมีแฟนบอลบินมาจากทั่วทุกมุมโลก

ขณะที่ทีมฟุตบอลเองก็จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2023 ทาง BBC Sport พบหลักฐานเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศ จำนวน 81 เที่ยวบินของทีมพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในเวลา 2 เดือน ซึ่งบางเที่ยวบินใช้เวลาในการเดินทางเพียง 27 นาที

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการขยายโปรแกรมการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่าง “ยูฟ่า เนชันส์ ลีก” (UEFA Nations League) ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลเพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟุตบอลเข้าเกียร์ถอยหลังและและมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันทัวร์นาเมนท์ระดับภูมิภาคที่มีขนาดเล็กลงแทน

ประการที่สอง คือ การก่อสร้างสนามกีฬามีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก โดยฟุตบอลโลกในปี 2022 นั้น มีการสร้างสนามกีฬาถาวรขึ้นใหม่ 7 แห่ง ซึ่งมีการประมาณการกันว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์รวม 1.6 ล้านตัน

 

Qatar Stadium Credit Reuters

Qatar Stadium Credit Reuters

ขณะที่ฟุตบอลโลก ปี 2034 ที่ซาอุดีอาระเบียได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จะมีการก่อสร้างสนามกีฬาใหม่อีก 11 แห่ง ซึ่ง Carbon Market Watch ระบุว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างครั้งใหม่นี้จะสูงเกินกว่าที่จะประมาณการได้

แหล่งที่มาสุดท้าย และเป็นหนึ่งในแหล่งที่ประเมินได้ยากในอดีต คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อตกลงการเป็นผู้สนับสนุน

ในเดือนเมษายน ปี 2024 ฟีฟาลงนามในข้อตกลงกับ Aramco บริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกจากซาอุดีอาระเบีย หรือการที่สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA) ทำข้อตกลงการสนับสนุนระยะยาวกับสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส และสโมสรฟุตบอลหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูง รวมถึง บริษัทน้ำมันและก๊าซ สายการบิน ผู้ผลิตรถยนต์และเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด

เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงซึ่งหลั่งไหลเข้าสู่กีฬาชนิดนี้ กำลังปรับมุมมองของแฟน ๆ ต่อพฤติกรรมที่เป็นอันตรายกับสภาพภูมิอากาศว่า เป็นเรื่องปกติ เช่น การขับรถ SUV ขนาดใหญ่และการเดินทางทางอากาศ

ขณะที่การคำนวณว่า 75% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสากกรรมฟุตบอล ขับเคลื่อนโดยข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์เหล่านี้

 

“หมู่เกาะมาร์แชล” ประเทศสุดท้ายที่ไม่มีทีมชาติฟุตบอล ออกแบบ “เสื้อที่หายไป” สื่อถึงภัยคุกคามจากโลกร้อน

“หมู่เกาะมาร์แชล” ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก และมีประชากรเพียง 42,000 คน เป็นประเทศเดียวในชาติสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ (UN) จากทั้งหมด 193 ประเทศที่ไม่มีทีมฟุตบอลประจำชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

ประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะปะการังแห่งนี้มีนักกีฬาฟุตบอล มีสนามฟุตบอล และแม้แต่สหพันธ์ที่ดูแลกีฬานี้ แต่การยอมรับจากหน่วยงาน อย่าง ฟีฟา ต้องใช้เวลา และเวลาเป็นสิ่งที่หมู่เกาะมาร์แชลไม่มี เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นภัยคุกคามที่พร้อมจะทำลายล้างหมู่เกาะแห่งนี้ ก่อนที่ทีมชาติจะมีโอกาสได้ลงสู้ศึกในการแข่งขันระดับนานาชาติสักนัดหนึ่ง

เนื่องด้วยทั้งประเทศมีระดับความสูงเฉลี่ยไม่ถึง 1.8 เมตร หมู่เกาะมาร์แชลจึงมีความเสี่ยงอย่างมากจากระดับน้ำทะเลที่หากสูงขึ้นเพียง 1 เมตร ก็จะทำให้ “มาจูโร” ที่อยู่ของประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศ สูญเสียพื้นที่ราว 80% และข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซา (NASA) ระบุว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแล้ว 30 เซนติเมตรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้น สหพันธ์ฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชล (MISF) ได้จับมือกับแบรนด์กีฬา อย่าง PlayerLayer เพื่อเปิดตัวชุดแข่งใหม่ แต่นี่ไม่ใช่ชุดแข่งทั่วไป แต่ชุดดังกล่าวที่ได้รับการตั้งชื่อว่า “2030 No Home” มีความพิเศษตรงที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสื้อจะค่อย ๆ หายไปในระหว่างแคมเปญโฆษณา

 

 

ในตอนแรก แฟน ๆ จะแทบไม่สังเกตเห็นว่าชิ้นส่วนอะไรที่หายไป แต่ในอีกหลายวันต่อมา ชิ้นส่วนต่าง ๆ จะหายไปเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการสูญเสียที่ค่อยเป็นค่อยไป ทว่าสร้างความเสียหายให้กับหมู่เกาะต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชุดแข่งนี้ยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาพเรือแคนู ฉลามขาว พืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในหมู่เกาะมาร์แชลกระจายอยู่บนพื้นเสื้อ ในขณะที่ตัวเลข 1.5 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ทำขึ้นภายใต้ข้อตกลงปารีส

หากไม่มีมาตรการปรับตัว หมู่เกาะมาร์แชลจะเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังไม่รวมถึง ประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ อย่าง ไมโครนีเซีย, มัลดีฟส์, ตูวาลู และ คิริบาส ประเทศหมู่เกาะที่ราบต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ซึ่งล้วนตกอยู่ในความเสี่ยง

 

ทีมฟุตบอลและนักเตะทำอะไรบ้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?

ทีมต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มคุ้นเคยกับการที่เกมการแข่งขันถูกยกเลิกหรือหยุดชะงัก เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝนตก พื้นสนามที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งและลมแรง โดยสมาคมฟุตบอลของอังกฤษ (FA) ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลในระดับเริ่มต้นราว 100,000 นัด ถูกยกเลิกทุกปี เนื่องจากสภาพสนามไม่ดี อยู่ในสภาพโคลน มีน้ำขัง หรืออื่น ๆ ที่ไม่สามารถให้นักเตะลงเล่นได้

หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ผลการวิจัยคาดการณ์ว่า 25% ของสนามฟุตบอลในสหราชอาณาจักรอาจถูกน้ำท่วมบางส่วนหรือทั้งหมดภายในปี 2050 โดยสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง เช่น สนามคาร์ดิฟฟ์ ซิตี สเตเดียม และสนามกีฬาเอ็มเคเอ็ม สเตเดียมของสโมสรฟุตบอลฮัลล์ซิตี อาจจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลบางคนใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการส่งข้อความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่าง “เฮกตอร์ เบเยริน” (Héctor Bellerín) ผู้เล่นชาวสเปนที่สัญญาว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 3,000 ต้นสำหรับทุกเกมที่ทีมปืนใหญ่อาร์เซนอลสามารถเก็บชัยชนะได้

 

เฮคตอร์ เบเยริน Credit ภาพ AFP

เฮคตอร์ เบเยริน Credit ภาพ AFP

ขณะที่ “แพทริค แบมฟอร์ด” (Patrick Bamford) นักเตะของทีมลีดส์ ทำมือเป็นรูป “สายฟ้า” ในท่าฉลองชัยชนะ โดยให้เหตุผลที่ทำท่านี้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการยืนหยัดเพื่อโลกของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อกีฬา และหากไม่ดำเนินการใดๆ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

Patrick Bamford

Patrick Bamford

นอกจากนี้ยังมีบางทีมที่ลงนามในกรอบการทำงาน UN Sports for Climate Action Framework ซึ่งตั้งเป้าหมายให้แก่สโมสรต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และมุ่งมั่นที่จะทำให้การปลดปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ภายในปี 2040

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส (Forest Green Rovers) ซึ่งตั้งอยู่ในเทศมณฑลกลอเซสเตอร์เชียร์ เป็นผู้นำในด้านสนามกีฬาที่มีความยั่งยืน เนื่องจากขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน 100% ใช้หญ้าสนามออร์แกนิก และตัดหญ้าด้วยหุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึง ใช้น้ำฝนรีไซเคิล เพื่อลดการใช้น้ำ

 

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

 

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

ในปี 2018 สโมสรแห่งนี้กลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกของโลกและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม “ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส” ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้

โดยสโมสรที่มี “เดล วินซ์” เจ้าพ่ออุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวเป็นเจ้าของ กำลังสร้างสนามแห่งใหม่โดยใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก ยังไม่รวมถึง พื้นที่สีเขียวจากพุ่มไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำรายรอบ เพื่อปรับปรุงความหลากหลายชีวภาพ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นสนามที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำที่สุดในบรรดาสนามกีฬาใด ๆ ในโลก  

 

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส Credit Forest Green Rovers

รายงาน Dirty Tackle ทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาผลกระทบอื่น ๆ แล้ว ชัยชนะครั้งใหญ่ คือ การที่กีฬาจากแยกตัวออกจากข้อตกลงการเป็นผู้สนับสนุนกับบริษัทที่สร้างมลพิษในระดับสูง

ในตอนนี้ กลุ่มสโมสรฟุตบอลหญิงชั้นนำมากกว่า 100 แห่ง เรียกร้องให้ยุติข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ระหว่าง Aramco กับฟีฟ่า รวมถึงทีมฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิค (Bayern Munich) สโมสรในเยอรมนีที่ถอดสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ออกจากการเป็นสปอนเซอร์บนเสื้อทีมแล้ว

หลังเผชิญการประท้วงของแฟนบอล อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของฟุตบอลกับผู้ก่อมลพิษยังคงทำให้หลักฐานหรือข้อมูลรับรองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green credentials) ทั่วโลกเสื่อมเสีย

 

ที่มา: Euro News
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/855820

 

 

 

Visitors: 1,457,007