บทสรุป COP29: เกิดอะไรขึ้นบ้าง และไทยได้ประโยชน์อะไร

บทสรุป COP29: เกิดอะไรขึ้นบ้าง และไทยได้ประโยชน์อะไร

ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือการประชุมโลกร้อน ‘COP29’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2024 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยมีภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ทั้ง 198 ภาคี (197 ประเทศ + สหภาพยุโรป) เข้าร่วมการประชุมหลายระดับในปีนี้

 

ปัจจุบันวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขอบเขตของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับต้นๆ ของโลก แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลกก็ตาม

 

หากทุกประเทศไม่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญ โลกอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายใน ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ที่พยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

COP29 กับเป้าหมายใหม่ทางการเงิน

 

COP29 ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Finance COP’ เนื่องจากหนึ่งในหัวใจสำคัญของการประชุมโลกร้อน 2024 คือ ‘การกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน’ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเคยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องจัดสรรเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2020 ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly Concessional Loan) เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เป้าหมายดังกล่าวนี้ ‘ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง’ และเคยมีความพยายามขยายระยะเวลาระดมเงินสนับสนุนออกไปเป็นภายในปี 2030

 

COP29 สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงครั้งสำคัญ หลังปรับเป้าหมายใหม่ที่ดู ‘ท้าทายและทะเยอทะยานยิ่งขึ้น’ โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องจัดสรรเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2035 และในร่างแถลงการณ์ยังระบุถึงเป้าหมายการระดมทุนโดยรวม 1,300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2035 ผ่านช่องทางการเงินสาธารณะและการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะสามารถช่วยปลดล็อกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

 

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องเข้าถึงเงินทุนอย่างน้อย 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายใหม่ทางการเงินนี้ทำให้ที่ประชุม COP29 เสียงแตกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามองว่าเป้าหมายใหม่ต่ำเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมองว่าเป้าหมายใหม่สูงเกินไปและเป็นการเพิ่มภาระ เนื่องจากจำนวนประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องแบกรับเป้าหมายดังกล่าวมีจำนวนเท่าเดิม

 

ประกอบกับมาตรการทางภาษีต่างๆ โดยเฉพาะของรัฐบาลใหม่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายที่อาจจะทำให้เป้าหมายใหม่ทางการเงินนี้บรรลุผลสำเร็จได้ยากมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีผู้แทนบางภาคีมองว่าจีนและอินเดียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่สมควรรับบทเป็น ‘ผู้รับ’ อีกต่อไป และควรมีส่วนแสดงความรับผิดชอบต่อเป้าหมายใหม่นี้มากยิ่งขึ้น

 

วาระสำคัญอื่นๆ ใน COP29

 

การเข้าถึง ‘กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย’ (Loss and Damage Fund) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันใน COP29 เนื่องจากกองทุนนี้เป็น ‘เครื่องมือทางการเงิน’ ในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดจาก ‘ภาวะโลกเดือด’ และพยายามสร้าง ‘ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับความเสี่ยงภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่ต้นตอส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีความพยายามปรับเพิ่มเงินระดมทุนจากราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อตอนที่กองทุนนี้ได้รับการบรรจุเป็นวาระสำคัญครั้งแรกใน COP27 หรือเมื่อสองปีก่อน

 

โดยแต่ละภาคียังจะต้องจัดทำ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions: NDCs) ฉบับใหม่ในปี 2025 โดยเฉพาะ NDC 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2035 ที่มีความ ‘ท้าทายมากยิ่งขึ้น’ เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส และเช็กความคืบหน้าผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (The First Global Stocktake)

 

COP29 ได้หารือถึงแนวทางในการเสริมสร้างเป้าหมายระดับโลกเพื่อการปรับตัว (Global Goal on Adaptation: GGA) เพื่อให้ตัวชี้วัด (Indicators) ในระดับต่างๆ ทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น มีความชัดเจนและสอดคล้องตามบริบทของแต่ละภาคี โดยพยายามลด ‘ช่องว่างทางการเงินเพื่อการปรับตัว’ (Adaptation Finance Gap) ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ราว 187,000-359,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากตลาดคาร์บอน (Carbon Markets) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดยมาตรา 6 ในความตกลงปารีสอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศได้ โดยจะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติมเกินจำเป็น แม้จะมีความคืบหน้าในประเด็นนี้ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและความน่าเชื่อถือของระบบคาร์บอนเครดิตอยู่ไม่น้อย 

 

ประเด็นที่ไทยเสนอใน COP29

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุม COP29 ระบุว่า ประเด็นที่ไทยเสนอในที่ประชุม COP29 มุ่งเน้นการเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ทั้งประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงและข้อตัดสินใจภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

 

  1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30-40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)

 

  1. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

 

  1. การเร่งผลักดัน ‘พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2026

 

  1. นำเสนอตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)

 

  1. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (First Biennial Transparency Report: BTR1) ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2024 ตามกำหนดเวลา

 

นับเป็นโอกาสของไทยที่ได้แสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับนานาชาติ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

 

ดร.เฉลิมชัย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงบนเวที COP29 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ที่ผ่านมาไทยได้เผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก (ไม่ถึง 1%) เมื่อเทียบกับทั้งโลก แต่ไทยยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการ ‘ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง’ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030

 

พร้อมเร่งดำเนินงานไปสู่ NDC 3.0 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2035 ควบคู่ไปกับการจัดทำ ‘แผนการลงทุนสีเขียว’ รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037

 

ในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมในสาขาต่างๆ และที่สำคัญได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกระดับอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ความตกลงปารีส

 

การเจรจาคู่ขนานกับผลประโยชน์ของไทย

 

ดร.เฉลิมชัย ยังได้หารือกับ ยูทากะ มัตสึซาวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ถึงแนวทางการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใน ‘ระบบเตือนภัยล่วงหน้า’ (Early Warning System: EWS) เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ในห้วงของการประชุม COP29 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับ เฮนรี กอนซาเลซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนของ ‘กองทุนภูมิอากาศสีเขียว’ (Green Climate Fund: GCF) โดยเฉพาะประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้รับการสนับสนุนทางการเงินมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการดำเนินโครงการและการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Investment) ทั้งนี้ ยังหารือกับผู้แทนจากรัฐบาลเยอรมนีและสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละภาคีมีเป้าหมายร่วมกัน

 

การเข้าร่วมประชุม COP29 จึงมีความสำคัญกับไทยอย่างมาก เนื่องจากทุกความคืบหน้าของการเจรจาจะส่งผลต่อประโยชน์ของไทยอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อตกลงต่างๆ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนที่ใช้ในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตด้านสภาพอากาศอีกด้วย

 

สำหรับการประชุม COP30 ในช่วงปลายปี 2025 จะจัดขึ้นที่เมืองเบเลม (Belém) ในเขตแอมะซอน ทางตอนเหนือของบราซิล โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า COP30 จะเป็นเวทีต่อยอดความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจาก COP29 เพื่อให้ภาคีทุกฝ่ายรับมือกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ภาพ: Murad Sezer / Reuters

อ้างอิง:

 

ที่มา : https://thestandard.co/cop29-thai-benefits-summary/

 

 

 

Visitors: 1,405,609