การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 หรือ CBD COP16
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ Presidential Agency for International Cooperation of Colombia (APC – Colombia) (สำนักงานประธานาธิบดี ประเทศโคลัมเบีย) จัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ที่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 หรือ CBD COP16 เกี่ยวกับนวัตกรรมในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสันติสุข ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เล่าเรื่องแนวทางการพัฒนาการของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพะราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่ดำเนินงานมากว่า 36 ปี ที่ยึดแนวทางการดำเนินงานตาม “ตำราแม่ฟ้าหลวง” จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาความยากจน การปลูกฝิ่น สู่อาชีพที่สุจริต และความท้าทายใหม่ที่ต้องเพิ่มมิติการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปมากกว่าเก่า การนำบทเรียนมาช่วยเร่งให้เกิดผลกระทบ (impact) ในวงกว้างและเร็วกว่าเดิม และการขยายผลคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในป่าชุมชนกว่า 11 จังหวัด มีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 150,000 คน จาก 281 ชุมชน
โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นผู้แทนจาก Terrasos ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) ในการทำเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity credits หรือ bio-credits) รายแรกของโลกร่วมงานด้วย
ผู้แทนจาก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมอาวุโส ได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ Driving Green Finance and Nature-Related Disclosures: Global Insights and Regulatory Leadership ร่วมกับ The United Nations Development Programme (UNDP) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของสาธารณรัฐซิมบับเว และธนาคารกลางบอตสวานา เกี่ยวกับกลไกทางการเงินที่สนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
โดย คุณสุภัชญา ได้เล่าว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหนึ่งในองค์กร early adopter ใน The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) ที่เป็นแนวคิดระดับนานาชาติโดยมีเป้าหมายในการพัฒนากรอบการทำงานเพื่อให้องค์กรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “ธรรมชาติ” ทั้งการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนวิธีจัดการกับปัญหาขององค์กรนั้นๆ
|