ต่าง Gen ต่างใจ! รวมความเชื่อเรื่องการเงินที่คนแต่ละ Gen มักเข้าใจผิดเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ต่าง Gen ต่างใจ! รวมความเชื่อเรื่องการเงินที่คนแต่ละ Gen มักเข้าใจผิดเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

เมื่อเงินเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิต จังหวะการใช้เงินนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ปัญหาที่หลายคนไม่รู้ตัวคือจังหวะการใช้เงินของเราไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กล่าวคือหลายคนยังคงแนวคิดเดิมแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป เช่น เรารู้ดีว่าเราควรออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ แต่เรากลับรับความเสี่ยงที่ผิดประเภท เมื่อถึงจุดหนึ่งที่แผนการเงินในวัยเด็กของเราไม่สมเหตุสมผล แต่เราก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เป็นต้น

 

ที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า จังหวะที่ผิดพลาดเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อคนแต่ละรุ่นจะต้องก้าวเข้าสู่ช่วงใหม่ของชีวิต เช่น Gen Z เกือบครึ่งกำลังเข้าสู่วัยทำงาน คนรุ่น Millennials ที่กำลังสร้างฐานะและครอบครัว Gen X ที่กำลังอยู่จุดสูงสุดของความมั่งคั่ง และกลุ่ม Baby Boomer ที่ทยอยเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในตอนที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มซบเซาลง และสภาคองเกรสยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าสหรัฐอเมริกาหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่

 

Mark Struthers นักวางแผนการเงินของ Sona Wealth ระบุว่า ปัญหาการวางแผนที่ผิดพลาดมักมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ในปัจจุบันผู้คนมีอายุยืนขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล และค่าที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างที่ได้รับ

 

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างความเชื่อทางการเงินของคนแต่ละ Generation ว่าความเชื่อดังกล่าวยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

 

  1. Gen Z: แรงงานรุ่นใหม่ล่าสุด ผู้เติบโตขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ Gen Z ช่วงแรกๆ จึงให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่า

 

‘หนี้ทุกรูปแบบเป็นสิ่งไม่ดี’

การรีบเร่งชำระหนี้ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่การจัดการหนี้อย่างแข็งกร้าวเกินไปก็อาจมีข้อเสียที่ไม่คาดคิดได้ เพราะการให้ความสำคัญกับการขจัดหนี้ราคาถูกมากเกินไปอาจทำให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถสร้างกองทุนฉุกเฉินหรือบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญอื่นๆ ได้

 

Douglas Boneparth จาก Bone Fide Wealth ได้แนะนำว่าให้จัดการกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 7% และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีเงินสดสำรองคงเหลือไว้หลายเดือนก่อนที่จะก่อหนี้รูปแบบใหม่ๆ

 

‘ลงทุนในสิ่งที่รู้จัก’

แม้การลงทุนในสิ่งที่รู้จักตามแนวคิดของ Peter Lynch จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาคือ Gen Z อาจมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากเกินไป แม้ว่าบริษัทอย่าง Apple, Alphabet, Microsoft และ Amazon จะดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่เสมอ

 

Karen Ogden หุ้นส่วนของ Envest Asset Management ระบุว่า นักลงทุน Gen Z ควรทำความเข้าใจว่าบริษัทเทคโนโลยีที่มีการเติบโตจะได้รับผลกระทบในทางลบเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และแนะนำว่าให้กระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อหุ้นหลายประเภท

 

‘ตลาดแรงงานมักแข็งแกร่งอยู่เสมอ’

Gen Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ถูกกักขังมาจากการระบาดใหญ่ ทำให้ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง แต่ประสบการณ์ในช่วงแรกๆ เหล่านี้อาจทำให้คนงานอายุน้อยมีทัศนคติเชิงบวกมากเกินไปเกี่ยวกับอำนาจการเจรจาต่อรองของพวกเขา ซึ่งปัญหาคืออะไรที่มักขึ้นมาก็จะลงไปในที่สุด ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อนายจ้างแล้ว เห็นได้จากการเลิกจ้างจำนวนมากในภาคเทคโนโลยีและธนาคารในปีนี้ หรือการผลักดันของนายจ้างที่ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ

 

Sarah Paulson ประธานบริษัท Valkyrie Financial กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันการเปลี่ยนงานหรือการต่อรองค่าจ้างให้สูงขึ้นจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่สิ่งที่ทำได้คือหมั่นเรียนรู้และประเมินทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

  1. Millennials: เป็นวัยที่กำลังเจอกับเหตุการณ์สำคัญ เช่น การแต่งงาน การเป็นเจ้าของบ้าน และการมีลูก แต่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย และการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น ทำให้การประหยัดเงินทำได้ยากขึ้นสำหรับชาว Millennials

 

‘หลีกเลี่ยงความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด’

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่น Millennials ไม่ชอบความเสี่ยงในชีวิตและการลงทุน ซึ่งมักเป็นผลมาจากประสบการณ์ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ แต่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นยังหมายถึงการมองข้ามโอกาสที่ตามมาด้วย ในช่วงที่ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว คนรุ่น Millennials มีแนวโน้มละทิ้งตลาดมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการทิ้งโอกาสหลังจากที่ในปีนี้ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัว

 

Paulson ระบุว่า คนรุ่น Millennials จำนวนมากสนใจในกองทุนเกษียณที่พวกเขาเชื่อว่าให้ผลตอบแทนอย่างมั่นคง แต่เมื่อ Paulson อธิบายไปว่าท้ายที่สุดแล้วกองทุนเหล่านี้ก็คือเงินสดที่มีประสิทธิภาพรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่น่าให้ผลตอบแทนที่เพียงพอในยามเกษียณ ก็ทำให้ความคิดของคนรุ่นนี้เปลี่ยนไป และทำให้เชื่อว่ายังสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่านี้ได้

 

‘อิสระทางการเงินคือเป้าหมายที่สำคัญ’

คนรุ่น Millennials จำนวนมากที่แต่งงาน มีพอร์ตการลงทุนที่แยกออกจากกัน แต่ Ogden มองว่าพอร์ตการลงทุนที่แยกกันอาจทำให้พลาดผลตอบแทนในด้านหนึ่ง หรือรับความเสี่ยงมากเกินไปในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นอะไรที่อนุรักษนิยมเกินไป

 

ฉะนั้น Ogden ได้แนะนำให้คู่รักตรวจสอบพอร์ตการลงทุนรวมเป็นประจำทุกปีเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่มีจุดบอด ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพอร์ตการลงทุนไม่ได้ลงทุนแบบเสี่ยงเกินไปหรือระมัดระวังเกินไป

 

‘ไลฟ์สไตล์ควรเป็นเหมือนพ่อแม่แล้ว’

หลายคนที่มีช่วงอายุ 30 ปี หรือ 40 ปี มักมีความเชื่อที่ว่าควรใช้ชีวิตให้เหมือนพ่อแม่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันไม่เหมือนอดีตแล้ว คนรุ่น Millennials ต้องจ่ายเงินเฉลี่ย 328,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อบ้าน เทียบกับเพียง 216,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่คนรุ่น Baby Boomer ต้องจ่ายเมื่ออายุใกล้เคียงกัน

 

Boneparth กล่าวว่า “เมื่อคุณทำงานหนักและได้รับเงินมากขึ้น มันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะยังคงใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็ให้แน่ใจว่าสัดส่วนการลงทุนจะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับการใช้จ่ายเช่นเดียวกัน”

 

  1. Gen X: คนช่วงวัยกลาง 40 ปี และ 50 ปี จำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นแซนด์วิช กล่าวคือคนเหล่านี้ต้องดูแลเด็กๆ ไปพร้อมกับพ่อแม่วัยชราด้วย

 

‘พ่อแม่คงไม่อยากให้ใครสอดรู้สอดเห็น’

การสนทนาในเรื่องความไว้วางใจ ทรัพย์สิน หรือความต้องการดูแลระยะยาวของพ่อแม่สูงวัยอาจเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ Marguerita Cheng ซีอีโอของ Blue Ocean Global Wealth ถูกคน Gen X นำมาปรึกษาเป็นจำนวนมาก แต่การหลีกเลี่ยงการสนทนาในเรื่องเหล่านี้อาจทำให้อะไรหลายๆ อย่างทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น พ่อแม่เกิดมีปัญหาสุขภาพโดยที่ไม่รู้ตัว

 

เคล็ดลับประการหนึ่งที่ Cheng แนะนำคือการใช้เหตุการณ์สำคัญในชีวิตเป็นโอกาสในการหารือถึงการวางแผนที่ยากลำบาก เช่น ใช้การเกิดของลูกคนที่สองเป็นแรงผลักดันให้พ่อแม่ประเมินแผนอสังหาอีกครั้ง

 

‘ควรซื้อบ้านสักหลัง’

การเป็นเจ้าของบ้านถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความมั่นคง แต่ความล้มเหลวจากเหตุการณ์ เช่น ฟองสบู่ดอทคอม, วิกฤตอสังหาในปี 2008 และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนกลุ่ม Gen X ออกจากตลาดมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ หากใครมีความคิดที่จะซื้อบ้าน การจำนองบ้าน 30 ปีในช่วงอายุ 40 ปีกลางๆ และ 50 ปี นั่นหมายถึงการจ่ายดอกเบี้ยบ้านไปจนถึงช่วงเกษียณอายุแล้ว

 

Struthers เชื่อว่าการเช่าบ้านอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ย่ำแย่เสมอไป หากตัดอารมณ์ความเป็นเจ้าของบ้านแล้ว ค่าเช่าบ้านมักจะมีราคาถูกกว่าดอกเบี้ยบ้าน และก็นำส่วนต่างเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าสุทธิของทรัพย์สินได้

 

  1. Baby Boomer: ในฐานะที่เป็นคนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสงคราม คนกลุ่มนี้จึงได้เข้าสู่วัยเกษียณอย่างแข็งแกร่งโดยได้รับการสนับสนุนจากเงินบำนาญ เงินออม และประกันสังคม แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้เกษียณอาจต้องประเมินแผนทางการเงินใหม่บ้าง

 

‘จะต้องจ่ายค่าบ้านให้หมดก่อนเกษียณให้ได้’

เป้าหมายในการกำจัดค่าที่อยู่อาศัยก่อนเลิกทำงานก็เป็นความคิดที่ดี แต่ผู้ที่เน้นย้ำในเป้าหมายนี้มากเกินไปอาจทำให้สูญเสียความได้เปรียบจากวัฏจักรเศรษฐกิจครั้งก่อน อัตราการจำนองบ้านเคยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์มานานหลายปี โดยมีช่วงหนึ่งที่มีเพียง 2% การใช้เงินสดเพื่อกำจัดหนี้ราคาถูกออกไปโดยสิ้นเชิงอาจทำให้รู้สึกดี แต่หากนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนแทนก็อาจได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าในตลาด หรือแม้แต่บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น

 

Cheng เคยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าวัยเกษียณอายุที่ต้องการจ่ายเงินค่าบ้านให้หมดไปว่า ลองจ่ายแค่ครึ่งเดียวและนำเงินไปลงทุนบ้าง ผลที่ได้คือลูกค้ามีความพึงพอใจในการชำระหนี้บ้านแม้ในอัตราที่ต่ำลง แต่ก็ยังสร้างผลตอบแทนในตลาดได้มากขึ้น

 

‘แบ่งสัดส่วนการลงทุน โดยใช้เคล็ดลับ 100 – อายุของตนเอง’

เคล็ดลับการจัดสรรสินทรัพย์ที่มีมายาวนานสำหรับคนทั่วไปคือการเอา 100 ลบอายุของตน และลงทุนในเปอร์เซ็นต์ที่ได้ในหุ้น ขณะที่เงินจำนวนอื่นๆ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตร แต่ปัจจุบันสิ่งต่างๆ เริ่มมีราคาแพงมากขึ้น นักวางแผนหลายคนเชื่อว่าคนรุ่น Baby Boomer อาจต้องการหุ้นในพอร์ตการลงทุนมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ

 

โดย Struthers ประมาณการว่า นักลงทุนรุ่น Baby Boomer ควรเพิ่มการลงทุนในหุ้นประมาณ 30% ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ตการลงทุนด้วยก็ได้ และเชื่อว่าจะส่งผลให้รายได้หลังเกษียณสูงขึ้น

 

อ้างอิง:

 

ที่มา : https://thestandard.co/generation-wealth-believes/

 

 

Visitors: 1,365,681