สิ้นสุดแล้ว สถิติความร้อน 13 เดือนติด ทั่วโลกเผชิญอะไรมาบ้าง?
สิ้นสุดแล้ว สถิติความร้อน 13 เดือนติด ทั่วโลกเผชิญอะไรมาบ้าง?
สถิติความร้อนของโลกในรอบ 13 เดือนติดต่อกันได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อพ้นช่วงเดือนกรกฎาคมซึ่งทำสถิติวันที่โลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่กว่าจะผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาได้ หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญทั้งสถานการณ์ความร้อนและภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ความร้อนที่ไม่ปราณีใครการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ "สภาพอากาศสุดขั้ว" ที่สร้างความหายนะไปทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นสถิติความร้อนที่ยาวนานตลอดช่วง 13 เดือน ก่อนจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังคงออกมาเตือนว่าอย่าเพิ่งวางใจ เพราะอุณหภูมิความร้อนจะยังคงสร้างปัญหาไปเรื่อย ๆ แต่วันนี้อยากจะพาไปย้อนดูตลอดช่วง 13 เดือนที่ผ่านมาว่า โลกของเราต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
หลายพื้นที่ทั่วยุโรปต้องเผชิญสภาพอากาศที่แตกต่างกันในสองภูมิภาค โดยทางตอนเหนือของทวีปต้องเจอกับฝนตกหนักและน้ำท่วม ในเบลเยียมเพียงประเทศเดียวต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักติดต่อกันนานถึง 9 เดือน เป็นสถิติที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 119 ปี และทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เผชิญกับพายุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่ยุโรปทางตอนใต้ต้องต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า อิตาลี และกรีซ ต้องเผชิญอุณหภูมิความร้อนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 10 องศาเซลเซียส ร้อนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 คนที่ถูกพบว่าเสียชีวิตขณะเดินป่า และอีกหลายคนที่ถูกระบุว่าหายตัวไปในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนฝรั่งเศสซึ่งรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 เอง ก็ต้องรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ จนทำให้นักกีฬาต้องเอาตัวรอดจากความร้อนด้วยวิธีต่าง ๆ ท่ามกลางความกังวลว่าอาจจะมีใครได้รับอันตรายถึงชีวิตในระหว่างการแข่งขันได้
ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุด มีอุณหภูมิที่พุ่งสูงถึง 43 องศาเซลเซียส โรงเรียนหลายแห่งถูกสั่งปิดนานหลายสัปดาห์ เพราะเกรงว่าความร้อนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนอย่างรุนแรง ขณะที่อุณหภูมิของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกรุงโตเกียวที่มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนแล้วอย่างน้อย 120 คน ข้อมูลระบุว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ พร้อมคำเตือนว่าสภาพอากาศจะยังคงร้อนต่อไปตลอดเดือนสิงหาคม แม้แต่ไทยเองก็เผชิญอากาศที่ร้อนจัดที่สุดตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนเมษายน โดยวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ที่จ.ลำปาง อยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ล่าสุดคาดว่าอุณหภูมิของกรุงเทพ อาจสูงเกิน 52 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการออกมากลางแจ้ง
เคปทาวน์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดอันดับสองของประเทศแอฟริกาใต้ ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก ลมแรง และน้ำท่วม ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ส่วนซาเฮล เขตรอยต่อระหว่างแอฟริกาเหนือและใต้ก็กำลังเผชิญกันสภาพอากาศที่ร้อนถึง 45 องศาเซลเซียส มีรายงานผู้เสียชีวิตทะลุหลัก 100 รายตั้งแต่ช่วง 4 วันแรกของเดือนเมษายน
ชาวอเมริกันมากกว่า 245 ล้านคน ก็ต้องทนทุกข์คลื่นความร้อนที่ยาวนานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในนครนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เผชิญกับอุณหภูมิ 37 - 40 องศาเซลเซียส ร้อนที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งถูกประเมินว่า 'ร้อนจนอาจถึงแก่ชีวิต' ขณะเดียวกันในบางรัฐ เช่น ไอโอวา ต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมหลังมีฝนตกมากเกินไป ส่วนนิวเม็กซิโกมีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว เผาทำลายบ้านเรือนกว่า 1,400 หลัง และประชากรกว่า 8,000 คนต้องอพยพ
ภาวะโลกร้อนยังไม่หายไปจูเลียน นิโคลัส นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ระบุว่า ช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในช่วงปลายปี ส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะหายไป เพราะปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นยังคงอยู่
ที่มา: https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/852022 |