10 เทคโนโลยีน่าจับตามองปี 67 สวทช. ชี้ชัดยุค AI มาถึงแล้ว

10 เทคโนโลยีน่าจับตามองปี 67 สวทช. ชี้ชัดยุค AI มาถึงแล้ว
สวทช. นำเสนอ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” (10 Technologies to Watch 2024) ซึ่งเป็นการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคม และเศรษฐกิจโลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า กิจกรรมไฮไลต์ในงาน อว.แฟร์ 2024
 

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า จากทั้ง “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” ครึ่งหนึ่งเป็น digital technology และมี AI ร่วมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึงการมาถึงของยุค AI ได้เป็นอย่างดี ขณะที่มีอยู่ 3 เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กับอีก 2 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และอีก 1 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านการประมง 

คาดหวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ ทั้งในแง่ของข้อมูลเทรนด์โลกที่ควรให้ความสนใจ และในแง่ข้อมูลการตลาดเบื้องต้น เพื่อเปิดโอกาสภาคธุรกิจที่สนใจมีโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

 

การแพทย์แม่นยำ

วงการแพทย์กำลังเข้าสู่ยุคใหม่แห่ง “การแพทย์แม่นยำ” ที่มุ่งเน้นการรักษา และป้องกันโรคแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ใช่แค่การรักษาตามอาการทั่วไปอีกต่อไป การผสมผสานระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ กำลังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น โดย 3 เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้แก่

1. กล้ามเนื้อเทียม วัสดุที่เลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริง สามารถยืดหดได้เมื่อได้รับการกระตุ้น ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุ และคนทำงาน มีมูลค่าการตลาดราว 2,200 ล้านดอลลาร์ และจะเติบโตเป็น 5,360 ล้านดอลลาร์ในปี 2574 โดยมีจีน สหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นผู้นำ และมีการนำไปใช้ประโยชน์เป็น soft robot จำนวนมาก

2. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ เป็นการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้เพื่อป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ รวมถึงโรคทางเดินอาหาร โรคภูมิแพ้ และโรคเมแทบอลิก

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาดทั้งแบบพรีไบโอติก โพรไบโอติก และซินไบโอติก ในอนาคตอันใกล้อาจมีการใช้เชื้อที่ผ่านการวิศวกรรมให้ได้คุณสมบัติแปลกใหม่เพิ่มเติมหรือดีกว่าเดิม เช่น เฝ้าระวังหรือรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจง

3. แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ จำลองข้อมูลสุขภาพของบุคคลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา จำลองผลการรักษาที่มีต่อการทำงานของอวัยวะหรือร่างกายได้ระดับหนึ่ง รวมไปถึงพยากรณ์โรคได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

10 เทคโนโลยีน่าจับตามองปี 67 สวทช. ชี้ชัด ‘ยุค AI’ มาถึงแล้ว

อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง

4. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม ความก้าวหน้าของ Generative AI และ Machine Learning (ML) เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำ AI มาใช้ในกระบวนการออกแบบ สร้าง ทดสอบ รวมไปถึงการวางตลาดแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างรวดเร็วมากขึ้น และด้วยกระบวนการที่ง่ายขึ้น

น่าจะถือได้ว่า AI เป็น software development tools ที่สำคัญแบบหนึ่งในอนาคตอันใกล้คาดว่าภายในปี 2571 วิศวกรซอฟต์แวร์ในองค์กรราว 75% จะใช้ AI ช่วยในการเขียนโค้ด เทียบกับปัจจุบันที่ยังทำเช่นนี้น้อยกว่า 10%

5. เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ เทคโนโลยีนี้ทำให้เก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์แบบไบโอเมทริก ซึ่งเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมแบบ Deep Learning ก็ทำให้ได้ข้อแนะนำที่แม่นยำแก่ผู้ใช้งานได้

ต่อไปอุปกรณ์สวมใส่รุ่นใหม่ๆ จะทำงานรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยี AI ที่ดีขึ้น ขณะที่ความสามารถในการตรวจวัดต่างๆ ก็จะหลากหลายและทำงานดีขึ้นด้วยเช่นกัน

คุ้มครองความปลอดภัย

6. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (PETs หรือ Privacy-Enhacning Technologies) : ช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผ่านการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้โดยไม่ต้องถอดรหัส มีการนำเทคโนโลยี PETs มาให้บริการแล้วในวงการการเงิน สุขภาพ และทรัพยากรบุคคล 

สำหรับประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้พัฒนาเทคโนโลยี PETs สำหรับภาคอุตสาหกรรมในชื่อ “ไซบิลเลี่ยน (CYBLION)” ช่วยทำให้การคำนวณข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมบนคลาวด์ทำได้อย่างปลอดภัย โดยทดสอบใช้งานจริงในโรงงานธนากรผลิตน้ำมันพืช จำกัด (น้ำมันพืชกุ๊ก)

7. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย  เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานต่อเนื่อง วิเคราะห์ภาพและพฤติกรรม แจ้งเตือนเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาดโลกของหุ่นยนต์ฯ อาจจะสูงถึง 71,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2570 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 17.8% ขณะที่เฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิกสูงถึงเกือบ 20% โดยปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือ ความต้องการเทคโนโลยีนี้ในทางทหารและการป้องกันประเทศเป็นหลัก

พลังงานสะอาด

สำหรับเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น

8. เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง ที่ใช้วิธีทางกายภาพแทนการใช้ความร้อนสูงหรือสารเคมี ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

9. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน เป็นการใช้พลังงานไฮโดรเจนในยานยนต์ ซึ่งมีศักยภาพในการปฏิวัติวงการคมนาคมขนส่ง

10. เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (RAS) ถือเป็นการปฏิวัติวงการประมง สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างหนาแน่นในพื้นที่น้อย สามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยง และมีการติดตามปัจจัยต่างๆ ได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิม จึงลดความเสี่ยงจากโรคสัตว์น้ำได้มาก

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1137041

 

Visitors: 1,327,544