วิบากกรรมของ Paris 2024 กับการอยากเป็นโอลิมปิกสีเขียว ทำได้จริงมั้ย?

วิบากกรรมของ Paris 2024 กับการอยากเป็นโอลิมปิกสีเขียว ทำได้จริงมั้ย?

 

มหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อน (Olympics 2024) ที่จะเปิดฉากขึ้นในกรุงปารีส กำลังเจออุปสรรคจากการจัดการหลายอย่าง ทำให้ถูกจับตามองว่า เป้าหมายที่จะเป็น “โอลิมปิกรักษ์โลก” อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ มหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อน (Olympics 2024) จะเปิดฉากขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Paris 2024) แต่ดูเหมือนว่า ฝรั่งเศสจะเจออุปสรรคไม่น้อยกับความพยายามที่จะเป็น “โอลิมปิกสีเขียว” ทั้งปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำ การจัดการขยะ และระบบทำความเย็นในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า มหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

ระบบทำความเย็นแบบธรรมชาติ แต่นักกีฬาจ่อพกแอร์มาเอง

ในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะตรงกับช่วงฤดูร้อนในฝรั่งเศส ซึ่งอากาศก็จะร้อนจัด แต่ทางผู้จัดงานเปิดเผยว่า พวกเขาจะไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านพักนักกีฬา แต่จะใช้ระบบท่อน้ำเย็น ที่วางอยู่ใต้พื้น ให้น้ำเย็นไหลเวียนผ่านไปเพื่อให้ห้องมีความเย็นแทน

นายกเทศมนตรีกรุงปารีสเปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า หมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้หลีกเลี่ยงความจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แม้ว่าจะในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงมากก็ตาม

แต่เมื่อฤดูร้อนเมื่อปีที่แล้ว ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่เผชิญกับคลื่นความร้อนชนิดที่ทำลายสถิติ โดยเมื่อปีที่แล้วพบผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คนในฝรั่งเศสอันเป็นผลมาจากความร้อน และมีรายงานเตือนว่า อากาศที่ร้อนจัดก็อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของนักกีฬาและผู้เข้าชมได้

แม้ผู้จัดงานยืนยันว่า ระบบท่อน้ำทำความเย็นจะทำให้ภายในห้องมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22 – 26 องศาเซลเซียส และจะมีพัดลมไว้ให้ด้วย แต่นักกีฬาจากหลายประเทศก็คิดว่า ยังเย็นไม่พอ ดังนั้นหลายประเทศวางแผนที่จะพกเครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ได้มาเอง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี กรีซ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย เป็นต้น

 

บ้านพักนักกีฬา Olympics 2024 ที่กรุงปารีส CR : gettyimages / Aurelien Meunier

บ้านพักนักกีฬา Olympics 2024 ที่กรุงปารีส CR : gettyimages / Aurelien Meunier

 

น้ำในแม่น้ำแซนไม่ได้คุณภาพ

กลายเป็นประเด็นร้อนเพราะมีรายงานหลายฉบับรายงานว่า ในช่วงน้อยกว่าสองเดือน ก่อนมหกรรมโอลิมปิก (Olympics 2024) จะเริ่มขึ้น มีการไปตรวจพบ "แบคทีเรียอีโคไล" ในระดับที่ไม่ปลอดภัยในแม่น้ำแซน โดยระดับการปนเปื้อนที่ตรวจพบในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในกรุงปารีส พบแบคทีเรีย เช่น อีโคไล และเอ็นเทอโรคอกไค เกินกว่าระดับความปลอดภัยสำหรับนักกีฬา

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการโอลิมปิกสากลเปิดเผยว่า ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมากังวลว่าการแข่งขันจะเป็นไปตามกำหนดการหรือไม่ ในแม่น้ำแซนใกล้กับหอไอเฟล

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกรายการแรกที่จะใช้สถานที่เป็นแม่น้ำแซน คือการแข่งไตรกีฬาผู้ชาย ซึ่งจะมีการว่ายน้ำเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ในช่วงเช้าวันที่ 30 กรกฎาคม และการแข่งขันไตรกีฬาผู้หญิงก็จะมีขึ้นในวันถัดมา นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8-9 สิงหาคม

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสทุ่มงบ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อแก้ปัญหามลพิษในแม่น้ำ และเจ้าหน้าที่ของโอลิมปิกสากลแสดงความมั่นใจว่า จะมีการว่ายน้ำในแม่น้ำแซนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่โอลิมปิกสากลจะแสดงความมั่นใจในคุณภาพน้ำ แต่การตัดสินใจที่ท้ายที่สุดว่าการแข่งขันจะปลอดภัยสำหรับนักกีฬาหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับหน่วยงานด้านกีฬาที่ดูแลกีฬาทางน้ำและกีฬาไตรกีฬาอย่าง World Aquatics และ World Triathlon

 

CR. reuters

CR. reuters

 

ตั้งเป้าลดขยะ แต่พนักงานเก็บขยะขู่ผละงานช่วงโอลิมปิก

ปารีสโอลิมปิก (Olympics 2024) ครั้งนี้ตั้งเป้าที่จะบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การจัดการอาหารเหลือ ด้วยการนำไปบริจาค หรือนำอาหารที่เหลือไปให้สัตว์ หรือนำไปทำเชื้อเพลิงต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งด้วย

การลดปริมาณขยะนับว่าเป็นผลดีกับกรุงปารีสเอง เพราะก่อนหน้านี้พนักงานเก็บขยะในกรุงปารีส ออกมาเรียกร้องขอเงินพิเศษ 400 ยูโรต่อเดือน และโบนัสอีก 1,900 ยูโร สำหรับการทำงานในระหว่างช่วงมหกรรมโอลิมปิก ถ้ามิเช่นนั้น จะผละงานประท้วงตั้งแต่ 1 กรกฎาคมถึง 8 กันยายน อย่างไรก็ตาม ทางกรุงปารีสได้พิจารณาหารือเรื่องโบนัสของพนักงานเก็บขยะ โดยอาจจะไม่จ่ายเลย ไปจนถึงจ่ายสูงสุดที่ 1,200 ยูโร

 

ปี 2023 พนักงานเก็บขยะผละงานประท้วง จนขยะกองทั่วเมือง CR : AFP

ปี 2023 พนักงานเก็บขยะผละงานประท้วง จนขยะกองทั่วเมือง CR : AFP

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วพนักงานเก็บขยะผละงานประท้วง 3 สัปดาห์ เพื่อต่อต้านนโยบายปฏิรูประบบบำนาญ ส่งผลทำให้ขยะกว่า 1 หมื่นตันกองอยู่ตามท้องถนนในกรุงปารีส และเคยมีภาพปรากฏออกไปทั่วโลกมาแล้ว

ที่มา


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/851207



Visitors: 1,430,481