หลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนอันตรายแค่ไหน ถอดบทเรียนสิงคโปร์แอร์ไลน์

หลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนอันตรายแค่ไหน ถอดบทเรียนสิงคโปร์แอร์ไลน์

 

ทำความรู้จักการตกหลุมอากาศ ระดับความแปรปรวนอากาศที่เกิดจากการเดินทางโดยเครื่องบิน ในเหตุการณ์ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่ลงจอดฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิ เหตุจากสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง

จากเหตุการณ์เครื่องบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ประสบเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 หลุมอากาศ หรือ Air Turbulence คือการเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน ซึ่งมีหลายระดับความรุนแรง 

"หลุมอากาศ" คืออะไร 

หลุมอากาศ (Turbulence) คือ บริเวณที่ความหนาแน่นของอากาศไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดแรงลมกระโชกแรงและอากาศปั่นป่วน เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศ ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน แต่บางครั้งเมื่ออากาศส่วนบน และส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันมากๆ บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้าย ๆ กับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้จึงเกิดการสั่นสะเทือน เหมือนตกหลุม

หลุมอากาศสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

  • การปะทะกันของอากาศที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน
  • ลมเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว
  • เครื่องบินลำอื่นที่บินอยู่ก่อนหน้า
  • พายุ

"หลุมอากาศ" มี 4 ประเภท

  1. หลุมอากาศแบบเบา (Light Turbulence): เครื่องบินสั่นเล็กน้อย อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  2. หลุมอากาศแบบปานกลาง (Moderate Turbulence): เครื่องบินสั่นมากขึ้น ผู้โดยสารอาจถูกยกจากที่นั่ง
  3. หลุมอากาศแบบรุนแรง (Severe Turbulence): เครื่องบินสั่นอย่างรุนแรง ผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บ
  4. หลุมอากาศแบบสุดขีด (Extreme Turbulence): เครื่องบินอาจสูญเสียการควบคุม

ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ 

  • ต่ำ ขึ้นลง 1 เมตร : ผู้โดยสารอาจไม่รู้สึก 
  • ปานกลาง ขึ้นลง 3-6 เมตร : ผู้โดยสารอาจรู้สึก น้ำในแก้วอาจหก
  • รุนแรง ขึ้นลงได้ถึง 30 เมตร : ผู้โดยสารถ้าไม่รัดเข็มขัด อาจกระเด็นหลุดจากเก้าอี้ได้

 

หลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนรุนแรงมีกี่ระดับหลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนรุนแรงมีกี่ระดับ

 

 

ผลกระทบของการตกหลุมอากาศ

เมื่อเกิดหลุมอากาศขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเครื่องบินเองและผู้โดยสารรวมถึงลูกเรือด้วย

  • ผลกระทบต่อเครื่องบิน : โครงสร้างของเครื่องบินอาจเกิดความเสียหายได้ และอาจทำให้นักบินสูญเสียการควบคุมเครื่องบินชั่วขณะ
  • ผลกระทบต่อผู้โดยสารและลูกเรือ: อาจได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรงได้ รวมทั้งอาจเกิดความเครียดและความวิตกกังวลตามมาด้วย

 

หลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนรุนแรงมีกี่ระดับ ถอดบทเรียน สิงคโปร์แอร์ไลน์หลุมอากาศคืออะไร อากาศแปรปรวนรุนแรงมีกี่ระดับ ถอดบทเรียน สิงคโปร์แอร์ไลน์

สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการบิน

การที่เครื่องบินตกหลุมอากาศเกิดขึ้นในทุกระดับความสูง ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินเสียการควบคุมร่วงหล่นจากเพดานบินปกติ และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่บนเครื่องบินได้ โดยสภาพอากาศแปรปรวนถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน ได้แก่ Clear Air Turbulance – CAT หรือหลุมอากาศ ที่เกิดจากกระแสลมปั่นป่วนอย่างรุนแรงที่ระดับความสูงเดียวกับเพดานบินของเครื่องบินโดยสาร

ลักษณะของหลุมอากาศชนิดนี้ เรดาร์บนเครื่องบินไม่สามารถตรวจจับได้ อากาศจะมีสภาพแจ่มใส แต่อาจเกิดความปั่นป่วนของกระแสลมได้ตลอดเวลา หากจะติดตั้งเรดาร์แบบตรวจจับจะมีราคาแพงและน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคของเครื่องบิน จึงไม่ค่อยนิยมใช้

 

ความรู้สึกเหมือนหล่นวูบ ตกจากที่สูง

หากใครเคยมีประสบการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศ อาจมีความรู้สึกเหมือนหล่นวูบหรือตกจากที่สูง เกี่ยวกับที่มาของความรู้สึกนี้ ทาง เพจเฟซบุ๊ก บินแหลก ซึ่งคอยให้ความรู้การบิน ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า...

ถนนของเครื่องบิน ก็คืออากาศ และอากาศเป็นของไหล เป็นธรรมชาติของอากาศจะมีการเคลื่อนที่ จากที่ความดันสูงไปหาที่ความดันต่ำ ซึ่งเราเรียกการเคลื่อนที่แบบนี้ว่า "ลม" แต่อากาศมีความพิเศษมากกว่านั้น เพราะสามารถเคลื่อนที่ในแนวดิ่งก็ได้ เราเรียกว่า "updraft" หรือ "downdraft"

ถ้าอากาศเคลื่อนที่ไปอย่างราบเรียบ เครื่องบินก็จะไม่มีการสั่นสะเทือน ซึ่งปีกของเครื่องบิน ทำหน้าที่ซับการสั่นสะเทือนเล็กๆ น้อยๆ ได้ โดยปีกจะมีความยืดหยุ่นให้ตัวได้ เปรียบเสมือนช่วงล่างของรถยนต์

แต่บางครั้ง อากาศมีการเคลื่อนที่ แบบไม่นิ่ง เครื่องบินก็จะสั่นไปตามความปั่นป่วนของอากาศตรงนั้น เราจะเรียกความปั่นป่วนนี้ว่า "turbulence" หรือ "turbulent air" หรือ "rough air" 

ถ้าเครื่องบินมีการสั่นสะเทือน โดยมีอาการเหมือนหล่นวูบ มักจะเกิดจาก updraft หรือ downdraft เป็นการเคลื่อนที่ของอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เครื่องบินมีการโยนตัว ขึ้น และลง

หากเจอ updraft เครื่องบินก็จะถูกดันให้บินสูงขึ้น แต่การที่อากาศเกิด updraft จะไม่นิ่ง มันจะดันเป็นลูกๆ ดันมาลูกนึง แล้วก็หาย เครื่องบินก็เลยถูกเพิ่มแรงยกอย่างกระทันหัน แล้วแรงยกนั้นก็หายไปทันที เป็นอย่างนี้ไปหลายๆ ที ก็เลยมีอาการวูบวาบๆ แต่ถ้าเจอ downdraft ก็จะตรงข้ามกัน เครื่องจะถูกดันลงมาก่อน แต่จะถูกพบได้ยากกว่า updraft แต่การที่ลมมาจากข้างหน้า หรือข้างหลัง ก็จะมีผลทำให้เครื่องบินเพิ่ม หรือเสียความสูงได้เหมือนกัน โดยแรงยกที่เพิ่มๆหายๆนี่ เราเรียกว่า แรง g (gravity) 

Turbulence อันตรายแค่ไหน

ถ้าเป็นเครื่องบินโดยสารที่เรานั่งกันปกติ แทบไม่มีความอันตรายในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เลย เนื่องจากปีกและลำตัวถูกออกแบบมาให้รับกับแรง g ที่เยอะมาก แต่ turbulence จะอันตรายมากกับเครื่องบินขนาดเล็ก ส่วนเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก

เพจบินแหลก ยังระบุด้วยว่า ที่อันตราย คือ ในห้องโดยสาร การบาดเจ็บส่วนมากจะเกิดจากการที่ตัวคนลอยไปกระแทกอะไรบางอย่าง หรือมีข้าวของบางอย่าง ลอยมากระแทกคน พร้อมย้ำว่าให้รัดเข็มขัดด้วย (อ่านโพสต์ฉบับเต็มเรื่องหลุมอากาศ)

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย 

โดยปกติแล้ว นักบินจะศึกษาเส้นทางที่อาจเกิดหลุมอากาศอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เวลาอยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารก็ควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดการเดินทาง

กองอุตุนิยมวิทยาการบิน กล่าวถึง อันตรายของ CAT (Clear Air Turbulence) ว่า “หากเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศ โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทำการบินในระดับสูงๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารตกใจ บางครั้งหากรุนแรงในระดับมากที่สุด ทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้”

ดังนั้นก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว หรือลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความสุข ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของการบิน และผู้โดยสาร

ทาง Singapore Airlines ได้กล่าว แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต สิ่งสําคัญของเราคือการให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปได้ทั้งหมด แก่ผู้โดยสาร และลูกเรือทุกคนบนเครื่องบิน โดยทางสายการบินกําลังทํางานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จําเป็น และส่งทีมไปยังกรุงเทพฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

ที่มา : บินแหลก , วิทย์สนุกรอบตัว , มหาวิทยาลัยศรีปทุม , กองอุตุนิยมวิทยาการบิน

https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/850499

 

 

 

Visitors: 1,427,487