มานาบุ โยชิโทมิ’ ผู้ปั้น ‘ราเม็งข้อสอบ’ (Ichiran Ramen) จากร้านข้างทาง สู่ร้านดังข้ามชาติ
‘มานาบุ โยชิโทมิ’ ผู้ปั้น ‘ราเม็งข้อสอบ’ (Ichiran Ramen) จากร้านข้างทาง สู่ร้านดังข้ามชาติ
‘ราเม็งข้อสอบ’ หรือ อิจิรัน ราเม็ง (Ichiran Ramen) ที่มีเอกลักษณ์คือ ‘คอกกั้น’ เป็นฝีมือการปลุกปั้นธุรกิจของ ‘มานาบุ โยชิโทมิ’ หนุ่มนักสู้ที่ผ่านบททดสอบมากมาย ก่อนปั้นร้านราเม็งซึ่งเดิมทีเป็นร้านข้างทาง กลายเป็นแบรนด์ดัง
และแล้วต้นตำรับของ ‘ราเม็งข้อสอบ’ ที่โด่งดังจากญี่ปุ่นอย่างร้าน ‘อิจิรัน ราเม็ง’ (Ichiran Ramen) ก็ได้มาเยือนประเทศไทย โดยทดลองเปิด Pop-up Store ณ เซ็นทรัลเวิลด์ แล้วพวกเราเคยสงสัยกันไหมว่า ‘ราเม็งข้อสอบ’ ที่พวกเราชอบกินที่ญี่ปุ่นกันนั้น…ใครเป็น ‘คนออกข้อสอบ’? และกำหนดกฎระเบียบการสอบ แถมช่างเป็นส่วนตัวซะเหลือเกิน คำตอบคือชายที่ชื่อว่า ‘มานาบุ โยชิโทมิ’ (Manabu Yoshitomi) ซึ่งชีวิตเขาก็ผ่านบททดสอบมาไม่น้อยเหมือนกัน ชีวิตพลิกผันแต่เด็ก มานาบุ เกิดที่เมืองคิตะคิวชู จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1964 เขาเกิดมาในครอบครัวธรรมดา คุณพ่อทำงานออฟฟิศเป็นมนุษย์เงินเดือน ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน มานาบุ มีความชื่นชอบและมีแววด้านกีฬามาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่ประถมเริ่มหัดเล่นซอฟต์บอล เมื่อขึ้นมัธยมก็เริ่มเล่นเบสบอล กีฬายอดฮิตของคนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปลี่ยนแพสชันความชอบให้เป็นเส้นทางอาชีพแบบจริงจัง กลับกัน เมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น เขารู้สึกว้าเหว่และเข้าข่ายเป็นวัยรุ่นอีกคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไรกันแน่
เปิดโลกร้านอาหาร จุดเปลี่ยนชีวิตวัยรุ่นของเขาเกิดขึ้นตอนอายุ 19 ปี เมื่อผู้เป็นพ่อเกิดล้มป่วยหนักและต้องต่อสู้กับโรคร้าย ตอนนั้นเขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไดอิจิ เคไซ (Daiichi Keizai University) มานาบุ จำเป็นต้องเรียนไปด้วย และเริ่มหางานพาร์ตไทม์ทำไปด้วยเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่สถานะทางการเงินเริ่มร่อยหรอ งานพาร์ตไทม์ทำให้เขาได้มาอยู่ในร้านอาหารเปิดใหม่ และนี่เองคือครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้สัมผัสประสบการณ์ตรงกับงานในครัว บังเอิญว่าร้านนั้นเป็นร้านใหม่เล็ก ๆ ที่เพิ่งเปิด มีพนักงานแค่ 3 คน ได้แก่ เจ้าของร้าน, เชฟ และเด็กหนุ่มมานาบุ ช่วงเวลานี้เองทำให้เขาได้เรียนรู้แทบทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รายละเอียดระดับปฏิบัติการ ออกแบบเมนูอันหลากหลายและกำหนดราคา การวางเลย์เอาต์ที่นั่งร้าน หรือการคำนวณวัตถุดิบและต้นทุน ชีวิตจริงไม่ง่าย แม้ได้เรียนรู้มหาศาลและพอหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ แต่โรคร้ายก็พรากพ่อของเขาไปใน 1 ปีให้หลัง ประโยคจากคำพูดท้าย ๆ ก่อนสิ้นลม พ่อของเขาพูดกับมานาบุว่า เขา ‘มีหัวด้านธุรกิจ’ มีแววรุ่งด้านนี้ อนาคตให้ไปเป็นนักธุรกิจเถิด… มานาบุ จะพกสมุดจดและปากกาติดตัวเสมอ เมื่อไปพบเจอไอเดียอะไรดี ๆ ก็จะรีบจดเก็บไว้ เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยขององค์ความรู้ แต่บางที การเปลี่ยนไอเดียในหัวเป็นธุรกิจที่รุ่งโรจน์และโลดแล่นในชีวิตได้จริงเป็นคนละเรื่อง ‘พูดง่ายแต่ทำยาก’ เพราะหลังจากนั้น เมื่อเรียนจบ แม้มานาบุจะได้มีโอกาสลองทำธุรกิจอยู่หลายต่อหลายอย่าง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที เขาเคยลองขายเครื่องเล่นวิดีโอเกมแฟมิคอม (Famicom computer) แม้จะพอขายได้แต่ก็ยังไม่ทำกำไรจนเลี้ยงชีพให้มีอนาคตที่สดใสได้มากพอ และได้ลองทำอีกหลายอย่างก็ยังไม่มีวี่แววจะประสบความสำเร็จ บางทีคนเราเมื่อลิ้มรสไอเดียบรรเจิดจนมากพอ ก็เริ่มมาสู่ขั้นเบสิก มานาบุ เริ่มกลับมาคิดอยากเปิด ‘ร้านราเม็ง’ ขึ้นมา โดยได้เทกโอเวอร์ต่อมาจากร้านราเม็งข้างทางแบบบ้าน ๆ ที่บริหารโดยคุณปู่คุณยายสูงวัยสองคน เท้าความก่อนว่า ร้านราเม็งนี้เป็นธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ของคุณปู่คุณยายคู่นี้ในจังหวัดฟูกูโอกะที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เริ่มแรกชื่อว่า ‘Futaba Ramen’ ก่อนเปลี่ยนเป็น ‘Ichiran Ramen’ ในอีก 3 ปีให้หลัง และใช้ชื่อเดิมจากนั้นเป็นต้นมา พอ ๆ กับขนาดธุรกิจที่มีสเกลเล็กแบบเดิม ๆ ไม่ได้ขยายเติบโตแต่อย่างใด แต่ Ichiran Ramen ภายใต้การนำของมานาบุกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล…
ออริจินัลทั้งห้า เมื่อกลับมาสู่ธุรกิจร้านอาหาร เขาระลึกถึงสมัยวัยรุ่นที่เคยทำงานพาร์ตไทม์ร้านอาหาร ในหัวเริ่มจัดระเบียบความคิดและระลึกถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่พบเจอ ลิสต์มันออกมาและหาทางแก้ทีละจุด และมันได้ ‘ปลดล็อกศักยภาพ’ ในตัวมานาบุ ได้อย่างน่าประทับใจ ปี 1993 เมื่ออายุได้ 29 ปีเต็ม มานาบุ ตกผลึกออกมาเป็น ‘The Five Originals’ ความเป็นต้นตำรับทั้ง 5 ของ Ichiran Ramen เปิดสาขาแรกที่ Nanokawa Store เมืองฮากาตะ ตกแต่งสไตล์บ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่คงความขลังเก่าแก่ และใช้มันเป็นแก่นหลักในการทำธุรกิจระยะยาวให้ประสบความสำเร็จซะที! 1st Original เริ่มที่การเลือก ‘ทงคัตสึราเม็ง’ หรือ ราเม็งน้ำซุปกระดูกหมู ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัด เป็นเมนูเดียวที่ Ichiran Ramen ขาย สมัยก่อนตอนทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหาร เขาพบว่าเมนูมีเยอะเกินไป ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่มีปัญหา ตัวพนักงานแบบเขาเองก็ประสบปัญหาด้วย ทั้งการจำเมนู การบริหารวัตถุ หรือความยุ่งยากในการทำโปรโมชั่น มานาบุ จึงตัดสินใจจำหน่าย ‘ทงคัตสึราเม็ง’ เป็นเพียงเมนูเดียวของร้าน โดยต้มจากกระดูกหมูแท้ ๆ ไม่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ และสูตรน้ำซุปนี้เองยังถือเป็นความลับทางธุรกิจที่นอกจากมานาบุแล้วก็มีแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ล่วงรู้ 2nd Original ตามมาด้วยสูตรลับ ‘ซอสสีแดง’ กลางชาม ที่ดูเผิน ๆ เหมือนแค่เหยาะลงไปเพื่อแต่งแต้มให้ชามมีสีสันสวยงาม แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นตัวผสมผสานที่ช่วยให้รสชาติซุปกลมกล่อมขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ 3rd Original ต่อด้วยการ ‘เอาใจลูกค้า’ หลังจากเลือกเมนูและจ่ายเงินซื้อตั๋วอาหารแล้ว ลูกค้าจะยืนรอด้านนอกเพื่อรอให้เก้าอี้ว่าง เมื่อว่างปุ๊บก็สามารถเดินไปนั่งกินได้เลย จากนั้นลูกค้าสามารถเลือกรายละเอียดการกินราเม็งได้ตามใจอยาก (Customization) เช่น ขนาดเส้น ปริมาณเส้น ความเผ็ด ท็อปปิ้งที่อยากใส่ต่าง ๆ ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการอันละเอียดอ่อนของลูกค้าแต่ละคนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เขายังกำหนดว่า เมื่อเชฟในครัวทำราเม็งเสร็จแล้ว ราเม็งชามนั้นจะต้องถูกนำเสิร์ฟถึงมือลูกค้าภายใน 15 วินาที! สดใหม่ อร่อย รวดเร็วทันใจ 4th Original ต่อด้วยการสั่งแบบ ‘คาเอะ-ดามะ’ (Kae-Dama) ตามวัฒนธรรมราเม็งในภูมิภาคนี้ ที่เป็นการ ‘เพิ่มเฉพาะเส้น’ ลูกค้าสั่งเส้นราเม็งมากินเพิ่มกับน้ำซุปในชามราเม็งชามเดิมที่ยังไม่หมด โดยมานาบุดีไซน์วิธีให้ลูกค้าแค่วางชามบนจุดที่กำหนดบนโต๊ะ สัญญาณจะถูกส่งไปยังพนักงานเพื่อให้มาเติมเส้นทันที กล่าวคือ เป็นการ ‘สั่งโดยไม่ต้องพูด’ 5th Original อันดับสุดท้าย ซึ่งได้กลายมาเป็น ‘คาแรกเตอร์แบรนด์’ ที่โดดเด่นที่สุดและสร้างชื่อเสียงให้มากที่สุด นั่นคือคอนเซปต์ ‘คอกกั้น’ กินราเม็งแบบเดี่ยว ๆ แยกของใครของมัน ในเวลานั้น มานาบุสังเกตเห็นปัญหาซ่อนเร้นทางสังคมญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง นั่นคือ การออกแบบที่นั่งร้านราเม็งทั่วไปในยุคสมัยที่มีพื้นที่จำกัดนั้นมักเป็นแบบเคาน์เตอร์บาร์ ลูกค้านั่งเบียดเสียดกัน มองเห็นหน้าค่าตากัน และเห็นจังหวะการดูดเส้น ‘ซู้ด ๆ ๆ’ เวลากินราเม็งแบบต่อหน้าต่อตาชัดเจน สำหรับผู้ชายแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นขนาดนั้น แต่สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว มักเขินอายที่ต้องแสดงกิริยาแบบนี้ต่อหน้าผู้คนในที่สาธารณะ ส่งผลให้ลูกค้าผู้หญิงจึงไม่เลือกที่จะกินร้านราเม็งลักษณะนี้ แต่ไปกินร้านอื่นที่สะดวกใจมากกว่า นอกจากนี้ เขายังเล่นกับจิตวิทยาและการทำงานของสมองมนุษย์คนเรา ถูกกวนใจ (Distract) จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะความพลุกพล่านวุ่นวายของคนในร้าน สายตาที่ผู้คนโต๊ะอื่นจ้องมองมาที่เรา หรือบรรยากาศอันตระการตารอบตัวร้าน ในมุมหนึ่ง มันเพิ่มประสบการณ์ในการกินอาหารได้ดี แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจลดทอนการรับรู้อรรถรสรสชาติอาหารตรงหน้าได้ถ้าถูกรบกวนหรือมีปัจจัยรอบด้านมากเกินไป มานาบุ จึงลดทอนองค์ประกอบที่อาจมากวนใจเหล่านี้ลงไป และนำพลังของการ ‘โฟกัส’ อันทรงพลังของมนุษย์เรามาใช้อย่างเต็มที่ คนเราจะทำได้ดีที่สุดเมื่อโฟกัสแค่หนึ่งอย่างตรงหน้า เรากินอาหารและรับรู้รสได้ดีเยี่ยมเมื่อกินหนึ่งอย่างตรงหน้า และจะดีขึ้นไปอีกเมื่อไม่มีอะไรมารบกวนรอบตัว จะสังเกตว่า กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ต่างจากการ ‘ทำข้อสอบ’ สมัยเรียนหนังสือเลย และนี่เอง Ichiran Ramen จึงได้ให้กำเนิดคำศัพท์ใหม่สำหรับคนไทย นั่นคือ ‘ราเม็งข้อสอบ’
ทำข้อสอบทั้งประเทศ รากฐานแข็งแกร่งและคอนเซปต์แตกต่างน่าสนใจซะขนาดนี้ ไม่แปลกที่จะซื้อใจลูกค้าถล่มทลายตั้งแต่เปิดร้าน ในเวลาไม่นาน สื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจและมาทำข่าวเผยแพร่การรับรู้แบรนด์เข้าไปอีกจนกลายเป็นร้านดังยอดฮิตคิวยาวเหยียด เมื่อถึงปี 2001 Ichiran Ramen ได้มาเยือนโตเกียวเป็นครั้งแรก ก่อนขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และโกอินเตอร์ไปสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา เพื่อการควบคุมมาตรฐาน มานาบุ เลือกใช้ครัวกลางในการผลิตวัตถุดิบก่อนส่งไปให้แต่ละสาขาทำราเม็งต่ออีกที ทั้งนี้ มานาบุ ไม่ได้โฟกัสที่คุณภาพอาหารอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันกับบรรดาเหล่า ‘พนักงาน’ ที่ต้องทำงานอย่างมีความสุข เป็นตัวของตัวเอง และมีมิตรไมตรีที่มอบให้แก่ลูกค้า มาถึงวันนี้ พิสูจน์แล้วว่าคำพูดของพ่อเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนแก่นหลักในการสเกลขยายธุรกิจของ Ichiran Ramen มานาบุ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมสำหรับการเป็นเชนร้านที่ขยายสาขาไปได้ทั่วประเทศ ปัจจุบัน Ichiran Ramen มีมากกว่า 85 สาขาในญี่ปุ่น และต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ไต้หวัน และ Ichiran Ramen ได้มาออกข้อสอบที่เมืองไทยแล้ว โดยเปิด Pop-up Store ชั่วคราวที่เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 11 - 26 พฤศจิกายน 2023 นี้ ซึ่งผู้คนได้ต่อคิวยาวเหยียดตั้งแต่วันแรกที่เปิด ก็ต้องมาดูกันว่า ข้อสอบจะเป็นอย่างไร และใครบ้างที่จะสอบผ่าน…
เรื่อง: ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ: มานาบุ ประกอบกับเมนูและบรรยากาศของร้าน ภาพจากเว็บไซต์ Ichiran อ้างอิง: |