ว่าด้วยการเดินทางกว่า 2,000 ปี ของการ ‘เป่ายิ้งฉุบ’ ที่ตอนแรกไม่ใช่ค้อน กรรไกร และกระดาษ แต่เป็นตะขาบ กบ และงู

ว่าด้วยการเดินทางกว่า 2,000 ปี ของการ ‘เป่ายิ้งฉุบ’ ที่ตอนแรกไม่ใช่ค้อน กรรไกร และกระดาษ แต่เป็นตะขาบ กบ และงู

ถ้าใครเคยดูเกมโชว์ที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์อย่าง ‘Squid Game: The Challenge’ ทาง Netflix จนจบ ก็น่าจะประหลาดใจเล็กน้อยว่า ‘การแข่งขันรอบสุดท้าย’ เป็นการแข่ง ‘เป่ายิ้งฉุบ’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Rock Paper Scissors ซึ่งบางคนก็เพิ่งรู้ตอนนี้แหละว่านี่คือ ‘เกมสมัยเด็ก’ ที่คนน่าจะทั้งโลกรู้จักดี เข้าใจร่วมกันว่ามันคืออะไรและเล่นยังไง 

เราคงจะไม่อธิบายยาวถึงเกมที่คนรู้จักกันดีทั้งโลกนี้นอกจากว่ามันเป็นเกมที่ให้คน ‘พูดชื่อเกม’ ก่อนจะ ‘ยื่นมือออกไปทำสัญลักษณ์ด้านหน้า’ ซึ่งสัญลักษณ์จะทำได้ 3 แบบ แต่ละแบบจะมีแบบที่มัน ‘แพ้’ และ ‘ชนะ’ ซึ่งถ้าสองฝ่ายทำสัญลักษณ์เหมือนกันคือ ‘เสมอ’ 

แต่สงสัยไหมว่าเกมนี้มาจากไหน?

บันทึกเก่าสุดของเกมรูปแบบนี้มาจากนักเขียนในยุคราชวงศ์หมิงของจีนเมื่อราวๆ 400 ปีก่อน โดยเขาอ้างว่าเกมนี้ของจีนเล่นกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นหรือเมื่อราวๆ 2,000 ปีก่อนแล้ว โดยในประวัติศาสตร์ก็มีหลายชื่อเรียก และในบันทึกก็บอกวิธีเล่นชัดเจนว่าในเวอร์ชันทั่วไปที่คนจีนยุคนั้นเล่นกัน สัญลักษณ์มือที่ใช้คือ ชูนิ้วก้อยแทนตะขาบ ชูนิ้วโป้งแทนกบ และชูนิ้วชี้แทนงู เหตุผลก็ง่ายๆ ว่า กบกินตะขาบได้ งูกลืนกบได้ ส่วนพิษตะขาบก็ฆ่างูได้

เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนจีนเล่นกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะการเคลมก็ชอบย้อนไปไกลอยู่แล้ว แต่เคลมว่าเริ่มในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ก็ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกแล้วแน่ๆ ซึ่งในช่วงนั้นเองเกมนี้ก็ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งมีวิธีการเล่นคล้ายกัน เปลี่ยนแค่จากการชูนิ้วก้อยที่หมายถึงตะขาบมาเป็นทาก โดยคนสันนิษฐานว่า ‘เพี้ยน’ มาจากการตีความตัวอักษรจีนผิด แต่เป็นการละเล่นที่มีบันทึกไว้ชัดเจนว่าเวอร์ชันแรกของเป่ายิ้งฉุบแบบฉบับญี่ปุ่นเป็นยังไง

แน่นอนการบอกว่าทากชนะงูได้มันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ ไอเดียของสัญลักษณ์ก็เลยเปลี่ยนเป็นหมาจิ้งจอก หัวหน้าหมู่บ้าน และนายพราน โดยตรรกะก็อิงกับพวกนิทานพื้นบ้านที่หมาจิ้งจอกแปลงกายมาหลอกคน ก่อนจะถูกพิชิตโดยนายพรานก็คือหมาจิ้งจอกแปลงกายหลอกหัวหน้าหมู่บ้านได้ หัวหน้าหมู่บ้านก็ชนะนายพรานเพราะใหญ่กว่า ส่วนนายพรานก็ชนะหมาจิ้งจอกได้เพราะมีความชำนาญในการปราบจิ้งจอก โดยเกมนี้เรียกว่า ‘Kitsune-Ken’

อย่างไรก็ดี นี่ก็ยังไม่ใช่เวอร์ชัน ค้อน กรรไกร กระดาษ แบบที่เราเล่นกัน และในญี่ปุ่นก็มีหลักฐานว่ามันเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้สมัย ‘ปฏิรูปเมจิ’ ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเปลี่ยน แต่ก็พอจะเดาได้ว่าสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้นต้องการเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ และเกมต่างๆ ก็เลยถูกอัปเดต เกมอย่าง หมาจิ้งจอก หัวหน้าหมู่บ้าน และนายพราน ที่อิงกับนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นจึงไม่นับเป็นสมัยใหม่ คือถ้าไม่ใช่คนญี่ปุ่นก็จะไม่เข้าใจตรรกะว่าแต่ละสัญลักษณ์มันเอาชนะกันได้ยังไง เขาก็เลยเปลี่ยนแปลงมาเป็นเป่ายิ้งฉุบในเวอร์ชันที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ที่ใช้สัญลักษณ์ ‘สากล’ กว่า อย่างฆ้อน กรรไกร และกระดาษ และคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า ‘Jan-Ken’

การเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์มือที่เป็นสากลมากขึ้นก็ได้ผลจริงๆ มันทำให้เกมนี้เริ่มแพร่หลายในชาติที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว และพอถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ก็มีหลักฐานชัดเจนว่า ‘เกมมือ’ นี้แพร่กระจายไปในโลกตะวันตกแล้ว หนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั้งที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 มีการกล่าวถึง ‘เกมจากญี่ปุ่น’ นี้แล้ว และมีการสอนวิธีการเล่น

แน่นอนว่ามาถึงตรงนี้ก็คงต้องบอกว่า ‘ที่เหลือคือประวัติศาสตร์’ เพราะถ้าไม่ใช่แบบนั้นเราก็อาจต้องการเนื้อที่ของหนังสือเป็นเล่มๆ เพราะจริงๆ การพูดถึงการเข้าไปและพัฒนาการของการเล่นเป่ายิ้งฉุบในพื้นที่ต่างๆ นั้นก็สามารถแตกออกเป็นเนื้อหาแต่ละบทของตัวเองได้เลย

และประเด็นคือมันได้เข้าไปในโลกตะวันตกมาเป็นร้อยปีแล้ว และไม่ใช่เฉพาะ ‘เกมของญี่ปุ่น’ อีกต่อไป แต่เป็นเกมที่เด็กๆ ทั่วโลกเล่นกัน

ทั้งนี้ ถ้าถามว่ามันมี ‘พัฒนาการ’ อย่างไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าทุกวันนี้มีสมาคมเป่ายิ้งฉุบนานาชาตินับสิบสมาคม และมีการจัดแข่งขันกันอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากมันเป็น ‘เกมเด็ก’ คนก็เลยไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่นัก

ส่วนถ้าสงสัยตามประสายุคสมัยว่าถ้าเอา AI มาเป่ายิ้งฉุบจะเป็นยังไง คำตอบเร็วๆ คือที่จริงตั้งแต่ก่อนคนจะบ้า AI นักวิจัยญี่ปุ่นก็ได้สร้าง ‘หุ่นยนต์เป่ายิ้งฉุบ’ ที่สามารถเล่นชนะมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาแล้ว และที่ทำได้เพราะมันสามารถเห็นการ ‘ออกมือ’ ของมนุษย์ก่อนที่มันจะ ‘ออกมือตาม’ เป็นสัญลักษณ์ที่จะชนะมือที่มนุษย์ออกได้ในเวลาเพียงเสี้ยวของเสี้ยววินาที โดยเขาทำสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2012 

อ้างอิง

 

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/rock-paper-scissors

 

Visitors: 1,405,472