หมูดำดอยตุง เลี้ยงสูตรออร์แกนิก สู้โรค ASF ขายตัวละ 14,000 บาท

หมูดำดอยตุง เลี้ยงแบบออร์แกนิก สู้โรค ASF หมูเถื่อนไม่กระเทือน ชาวบ้านสร้างรายได้ต่อยอดแปรรูปขายได้ตัวละ 14,000 บาท

11,493 คน คือ จำนวนประชากรในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
29 กลุ่ม คือ วิสาหกิจชุมชน-กลุ่มธุรกิจที่ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืน โดยมี “คนดอยตุง” เป็นพี่เลี้ยง แบบครบวงจร
325 ล้านบาท คือ ยอดรายได้รวมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดอยตุง

1 ในวิสาหกิจชุมชน ที่ “คนดอยตุง” เป็นพี่เลี้ยงและกำลังได้ผลและพัฒนาต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือ “การเลี้ยงหมูดำดอยตุง”

ล่าสุด ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พาขึ้นดอยไปเยี่ยมชม ศูนย์วิจัยและพัฒนาหมูดำดอยตุง ที่แรกเริ่มมาจาก รัฐบาลจีนน้อมเกล้าฯถวาย หมูดำเหมยซาน แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ต่อมากรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ ได้เลี้ยงและศึกษาวิจัย จนถือว่า “นิ่ง” แล้วกระจายพ่อ-แม่พันธุ์ ให้เกษตรกรไปเลี้ยง
เกษม จึงพิชาญวณิชย์ ผู้จัดการส่วนงานส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิต ดอยตุงฯ นำชมพ่อ-แม่พันธุ์หมูดำ พร้อมเล่าว่า กำลังพัฒนาหมูดำ ให้เป็น “หมูออร์แกนิก” ด้วยการให้ทั้งอาหาร และยา ที่มาจากธรรมชาติ โดยมีสูตรอาหารเฉพาะ มีส่วนผสมพรีไบโอติก ไฟเบอร์ อาทิ ต้นกล้วยผสมกากงาดำ งาขาว กากขี้ม้อน ปลายข้าว หญ้าหวาน ใบเตย โกฐจุฬา มะละกอ ขมิ้น ข้าวโพด ที่ปลูกในชุมชน สิ่งแวดล้อมเป็นไปตาม “ภูมิสังคม” ของคนบนดอยตุง


“หมูดำที่นี่กินอาหารสัตว์จากสมุนไพร สูตรอาหารที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะที่ดอยตุง ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนอาหารถุง และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ แถมทำให้หมูแข็งแรง ภูมิคุ้มกันสูง และการสนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ในช่วงที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ระบาดแถบพื้นที่ภาคเหนือ หมูดำดอยตุงรอดพ้นมาได้ที่เดียว”

ด้วยการเลี้ยงสูตรเฉพาะ “หมูดำดอยตุง” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสัตว์พื้นเมืองประจำถิ่น เมื่อปี 2566 ภายหลังจากที่มีการนำหมูดำพันธุ์เหมยซานมาพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ โดยรักษาพันธุ์เหมยซานไว้ 62% จนได้ลักษณะท้องถิ่นตามที่ต้องการ มีจุดเด่น คือ ให้ลูกดกถึง 25 ตัวต่อครอก

หมูดำดอยตุง และเป็นหมูอารมณ์ดี ไม่ถูกตัดหางแบบหมูที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม เทียบ อัตราเนื้อต่อกระดูกกับหมูฝรั่งอัตราเท่า ๆ กัน แต่มีความพิเศษกว่า ตรงที่ ตัวหมูดำสนิท เนื้อเยอะมีความเหนียวนุ่มมีมันแทรกในเนื้อ ไม่เหนียวติดฟัน เรียกว่าเป็นหมูเด้งธรรมชาติ

ที่วิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ อ.แม่ฟ้าหลวง ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูดำในพื้นที่ 168 ครัวเรือน และ 91 ครัวเรือน มีรายได้จากการจำหน่าย 5,728,400 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 62,949 บาท

มินต์-นิภาพร พรสกุลไพศาล ลูกสาวชาวเผ่าลาหู่ บ้านขาแหย่งพัฒนา เมื่อเรียนจบ ม.6 จากโรงเรียนบ้านห้วยไร่พัฒนา ทั้งครอบครัวเคยไปทำงานที่เกาหลีใต้ แล้วกลับมาสร้างอาชีพเลี้ยงหมูดำ และเป็นตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชน ที่เลี้ยงหมูดำดอยตุงแล้วประสบความสำเร็จ

จากจุดเริ่มต้นครอบครัวของนิภาพร ลงทุนแม่พันธุ์ 1 ตัว 20,000 บาท ออกลูก 10 ตัว อีก 15,000 บาท ปัจจุบันยกขายเป็นครอก บางครอกได้สูงสุด 15 ตัว ตัวละ 9,000 บาท รายได้ครอกละ 135,000 บาท ในหนึ่งปี มี 2 ครอก รายได้ประมาณ 270,000 บาท

มินต์กำลังจะร่วมทุนกับเพื่อน เพื่อต่อยอดวิสาหกิจหมูดำ ด้วยการเปิดที่พัก “เกษตรนกฮูก” และเสิร์ฟชาบู “หมูดำกระทะ” และแปรรูปหมูดำแพ็กส่งขาย เธอเล่าว่า ตอนนี้กำลังเรียนวิธีทำไส้กรอก และลงทุนซื้อเครื่องสไลซ์หมู ทำให้เนื้อหมู 1 ตัว ขายได้ถึง 14,000 บาท อนาคตเธอจะเปิดเขียงหมู และขายอาหารหมูด้วย

ทั้งนี้ หมูดำดอยตุง ที่ร้านอาหารบนดอยตุงนำมาแปรรูปเป็นแฮม ไส้กรอก จะมีมูลค่ามากกว่า 2-3 เท่า

ภายใต้แรงงานในครอบครัว 3 คน คือเธอ-แม่และพ่อ “มินต์” ไม่เพียงขายเนื้อหมูให้กับคนในดอยตุง แต่เธอยังเปิดเพจขายหมูดำออนไลน์ด้วย ดังนั้นในช่วงที่ราคาหมูตกต่ำ หรือปัญหาหมูเถื่อน จึงไม่กระเทือนกิจการถึงวิสาหกิจชุมชนบนดอยตุงที่เลี้ยงหมูดำ

ซีอีโอแม่ฟ้าหลวงฯตบท้ายว่า การเลี้ยงหมูดำดอยตุง ทำให้ชาวบ้าน ได้ทุน ได้ความรู้ ตอบโจทย์การพัฒนาคน สร้างรายได้ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ ความรู้ในการเลี้ยง และการสร้างสูตรอาหารเฉพาะพื้นที่ขึ้นมา

ม.ล.ดิศปนัดดาสรุปว่า ตอนนี้เริ่มมีผู้ประกอบการดอยตุง ลุกขึ้นมาเห็นช่องทางการพัฒนาอาชีพ แข่งขันในระดับจังหวัดกันมากขึ้น หลายคนได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากต่างประเทศ และนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ จึงไปต่อได้อย่างยั่งยืนกว่าในหลายมิติ เหมือนการเลี้ยงหมูดำ ได้เจาะลึกในฐานความรู้จนทำให้สายพันธุ์นิ่ง ให้อาหารสูตรเฉพาะ ต่อยอดเองได้ เป็นหมูออร์แกนิก ยกระดับเป็นชุมชนคนรุ่นใหม่

 

 

Visitors: 1,508,975