โมเดลคาร์บอนเครดิต ป่าชุมชนแม่โป่ง เล็งขยายทั่วเชียงใหม่ 1.5 แสนไร่


โมเดลคาร์บอนเครดิต ป่าชุมชนแม่โป่ง เล็งขยายทั่วเชียงใหม่ 1.5 แสนไร่

ป่าชุมชน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เข้ากับวิถีของชาวบ้านในพื้นที่ สามารถใช้ประโยชน์ และการบริหารจัดการร่วมกัน โดยมีปลายทางนั่นคือ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศผ่านการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และมีผลพลอยได้ตามมาที่น่าสนใจนั่นคือ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจทั่วโลก

ประเทศไทยเอง ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรมากมายได้หาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนซึ่งต้องการมีส่วนร่วมในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละองค์กรปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ และพื้นที่ป่าทั่วประเทศเองก็มีผู้ดูแลที่สำคัญ นั่นก็คือ ชาวบ้านและชุมชน

สำหรับการดึงเอกชนและชุมชนมาเจอกันนั้น ที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นหน่วยงานข้อต่อสำคัญที่ดึงทุกฝ่ายเข้ามามาร่วมมือ หลังจากมีประสบการณ์ “ปลูกป่า ปลูกคน” เกือบ 40 ปีในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ได้นำเอาความเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้มาปรับใช้กับป่าชุมชน ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

 

 

การร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ถือเป็นการต่อยอดให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการดูแลป่า

โดยเริ่มต้นจากพื้นที่ต้นแบบในตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเครือข่ายป่าชุมชน รวม 10 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่ป่าชุมชน 8 หมู่บ้าน ซึ่งการเข้ามาร่วมในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้พื้นที่กว่า 8,600 ไร่

 

สำหรับพื้นที่ต้นแบบจัดการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยกตัวอย่างการพัฒนาที่บริเวณชุมชนบ้านต้นผึ้ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตฯ ซึ่งมีป่าชุมชนในพื้นที่ประมาณ 983 ไร่ ที่ผ่านมาดำเนินโครงการมาแล้ว 3 ปี ล่าสุดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพื่อคิดเป็นคาร์บอนเครดิตออกมาในเร็วๆ นี้

ป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง มีช่วงระยะเวลาในการคิดคาร์บอนเครดิต 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2564 ถึง 18 มกราคม 2574 ในเบื้องต้นประเมินว่า โครงการจะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ 3,017.80 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเฉลี่ยเท่ากับ 301 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

 

 

นายวิชัย เป็งเรือน หรือพ่อหลวงวิชัย ประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านในตำบลแม่โป่ง ได้ช่วยกันดูแลป่ากันตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ออกมา เพื่อเป็นแหล่งรายได้และการใช้ชีวิตที่ผูกพันกับป่า
แรกเริ่มมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้ามาประเมินว่าชาวบ้านมีความพร้อมหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ถึงชาวบ้านจริง ๆ

เมื่อลงมาทำประชาคมกับชาวบ้านแล้วและส่วนใหญ่เห็นด้วย ได้ลงมือในขั้นตอนการปฏิบัติ นั่นคือ การลงแปลงสำรวจโดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยฝึกอบรม เพื่อให้ชาวบ้านเกิดองค์ความรู้ในการวางแปลงจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน ซึ่งการวัดพื้นที่ในป่าชุมชนนั้นจะดูจากความสูงต้นไม้และเส้นรอบวงเป็นหลัก พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน รวมไปถึงการตั้งกองทุนดูแลป่าชุมชน เพื่อบริหารจัดการการใช้เงินไปพัฒนาพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตฯ นั้น เบื้องต้นกำลังจะได้รับข่าวดีหลังจากทางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยพ่อหลวงวิชัย ยอมรับว่า ในช่วงต้นปี 2567 ทางจังหวัดเชียงใหม่กำลังพิจารณาที่จะประกาศขยายผลโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตฯ ของป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 1.5 แสนไร่

โดยจะใช้ป่าชุมชนตำบลแม่โป่งเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรรองรับการทำงานที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการแปลงคาร์บอนเครดิต

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตฯ ชุมชนบ้านต้นผึ้ง กำลังจะได้คาร์บอนเครดิตแล้ว โดยเมื่อได้มาแล้ว ก็หวังว่าในอนาคตจะเกิดการต่อยอดไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อนำอะไรใหม่ๆ เข้ามาช่วยชุมชนได้มีรายได้

ทั้งนี้ตั้งความหวังว่าจะใช้โมเดลของ ชุมชนบ้านต้นผึ้ง เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ธรรมชาติและพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง เป็นพื้นที่สำคัญที่พัฒนาเรื่องคาร์บอนเครดิต แต่นอกเหนือการได้คาร์บอนเครดิตแล้ว ยังอยากให้ชุมชนเองมีความยั่งยืน เป็นโอกาสของการทำโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ซํ้าซ้อน และเติมมิติต่าง ๆ เข้าไป เช่น การหารายได้เสริมจากป่า หรือการสร้างธุรกิจวิสาหกิจชุมชนใหม่ ๆ

โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และการจัดการขยะที่ถูกต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อนอกเหนือจากการดูแลป่าอย่างเดียว เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติดี ๆ มีที่นี่โดยไม่ใช่โครงการฟอกเขียวที่เข้าใจกัน

Visitors: 1,414,063