หลอดกระดาษรักษ์โลกจริงเหรอ? สรุปแล้ว หลอดกระดาษ ดี หรือ แย่ ต่อสิ่งแวดล้อม?
หลอดกระดาษรักษ์โลกจริงเหรอ? สรุปแล้ว หลอดกระดาษ ดี หรือ แย่ ต่อสิ่งแวดล้อม?หลอดกระดาษดีต่อสิ่งแวดล้อม? หลังนักวิทย์พบสารเคมีอมตะในหลอดกระดาษ ขณะที่หลอดพลาสติกอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แล้วหลอดแบบไหนล่ะที่เราควรใช้?
รู้หรือไม่ “หลอด” เป็นอุปกรณ์หนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และเราก็ใช้มันในปริมาณที่มากพอ ๆ กับถุงพลาสติก แต่เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หลอดพลาสติกเริ่มถูกติง ว่ามีข้อเสียมากมาย คนบางกลุ่มหรืออุตสาหกรรมบางรายจึงหันไปใช้นวัตกรรมหลอดกระดาษแทน โดยเข้าใจว่า ใช้สิ่งที่ย่อยสลายได้เร็ว ก็น่าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกัน ไม่ว่าจะพลาสติกหรือกระดาษก็เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?
ก่อนอื่นเลย ขออธิบายข้อเสียด้านสิ่งแวดล้อมของหลอดทั้ง 2 ประเภทก่อน และไม่ขออธิบายถึงข้อดี เพราะนอกจากสามารถทำให้เราดื่มเครื่องดื่มได้ง่ายขึ้น ก็ไม่มีข้อดีอะไรอีก หรือคุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง? ข้อเสียของหลอดพลาสติก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของหลอดพลาสติกมันแสดงให้เราเห็นได้เด่นชัดมาก จากปริมาณขยะทั้งบนบกและในทะเล หลอดพลาสติก ขึ้นชื่อว่าพลาสติก ย่อมใช้เวลาย่อยสลายนานและยาก ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาติมากถึง 400-450 ปี และในแต่ละปี เราจะพบขยะหลอดพลาสติกในทะเลมากกว่า 2,000 ตัน เราใช้หลอดพลาสติกดื่มเครื่องดื่มเพียงไม่กี่นาทีและทิ้งลงถังขยะไป เมื่อหลอดพลาสติกถูกทิ้งบ้างก็ไหลลงแม่น้ำ มีน้อยมากที่จะถูกคัดไปยังการรีไซเคิล หลอดที่ถูกปะปนในธรรมชาติจะยังคงอยู่ตลอดไปจนถึงอายุขัย แต่ระหว่างทางอาจถูกสัตว์น้ำเผลอกินเข้าไปและอาจแตกจนละเอียดกลายเป็นไมโครพลาสติก อันตรายต่อสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และต่อมนุษย์เราเองด้วย
ข้อเสียของหลอดกระดาษ ความเข้าใจของหลายคน หลอดกระดาษเป็นหลอดรักษ์โลก แต่ผู้ใช้หลายคน ก็ไม่ได้ชื่นชอบหรือสะดวกที่จะใช้ เนื่องจาก พอเราใช้ดื่ม รสชาติของกระดาษก็ติดมากับเครื่องดื่มของเราด้วย แม้จะย่อยสลายได้ แต่หลายคนก็ยังหลีกเลี่ยง มากไปกว่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Additatives and Contaminants ว่านักวิทย์พบสารเคมีอมตะ หรือ forever chamicals ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่ย่อยสลายในสิ่งแวดล้อม ในหลอดกระดาษ ประมาณ 18-20 แบรนด์ในท้องตลาด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
ไม่เพียงแค่หลอดกระดาษเท่านั้น จากการสุ่มตรวจสอบ นักวิทย์พบสาร PFAS หนึ่งในสารเคมีอมตะในหลอดประเภทอื่น ๆ ด้วย โดยพบในหลอดกระดาษมากถึง 90% หลอดไม้ไผ่ 80% หลอดพลาสติก 75% หลอดแก้ว 40% ยกเว้นหลอดที่ทำจากสเตนเลส ที่ไม่พบสารเคมีชนิดนี้ แล้วเราจะใช้อะไรแทนหลอด? หันไปทางไหน หลอดไหน ๆ ก็ดูอันตรายทั้งสิ้น แล้วเราจะใช้อะไรแทนล่ะทีนี้ มีหลอดอะไรแนะนำไหม ซึ่งถ้าแนะนำจริง ๆ แนะนำว่าไม่ใช้หลอดเลยจะดีที่สุด เราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีหลายร้านค้าพยายามช่วยลดการใช้หลอดด้วยการออกแบบแก้วที่สามารถยกดื่มได้เลย
เราแนะนำว่า หากยกดื่มได้ก็ยกดื่มดีกว่า หรือหากเป็นไปได้ ก็พกหลอดส่วนตัวที่สามารถใช้ซ้ำได้ ล้างได้ ก็แก้ขัดได้เหมือนกัน และหากไปร้านที่ไม่มีแก้วแบบยกดื่ม สิ่งที่จะแก้ได้ในสเต็ปถัดมาคือ การพกแก้วส่วนตัว นอกจากจะลดขยะพลาสติกหลอดแล้ว ยังลดขยะพลาสติกแก้วและฝาแก้วพลาสติกได้ด้วย เมื่อเราใช้พลาสติกกันน้อยลง ขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมก็จะลดลงตามไปนั่นเอง ที่มาข้อมูล Food Additatives and Contaminants https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/843319
|