คลุมผ้ากันแดดให้ธารน้ำแข็ง ไอเดียสู้โลกร้อนที่ได้ผล แต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง

คลุมผ้ากันแดดให้ธารน้ำแข็ง ไอเดียสู้โลกร้อนที่ได้ผล แต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง
 
.
บนสังเวียนการเอาตัวรอดจากวิกฤตโลกรวนที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ หลายต่อหลายครั้งมักมีผู้คนเสนอไอเดียสุดแปลกออกมา เป็นต้นว่า บิล เกตส์ เคยเสนอให้ ‘หรี่แสงอาทิตย์’ ลง หรือที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรเสนอให้โปรยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไว้บนท้องฟ้าเหนือบริเวณขั้วโลก
.
แน่นอนว่าวิธีเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การถกเถียงกันไม่รู้จบถึง ‘ผล’ ที่จะเกิดตามมา ว่าดีหรือร้ายกันแน่
.
สุดท้ายก็ได้แต่รอ และไม่มีการลงมือทำอะไรสักที (รวมถึงในทางการเมือง การบริหารจัดการเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero)
.
แต่ในขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ตลอดจนนักนิเวศสิ่งแวดล้อมกำลังดีเบตกัน ชาวบ้านร้านตลาดที่อาศัยและทำธุรกิจอยู่บนเทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ลงมือแก้ไขปัญหาโลกรวนด้วยตัวเองกันแบบง่ายๆ อย่างการเอาผ้ามาห่มให้ธารน้ำแข็งกันไปเป็นที่เรียบร้อย
.
ไม่ต้องคิดเยอะ และคิดลึก แค่ใช้ผ้าขาวนี่ล่ะ เอามาคลุมธารน้ำแข็งไว้ และวิธีที่ว่านี้ คนสวิสบนนั้นก็ทำมาตั้งแต่ปี 2009 แล้วด้วย
.
.
เพราะหากไม่ลงมือทำตั้งแต่ตอนนั้น ก็ไม่แน่ว่าเจ้าของธุรกิจสกี หรือรีสอร์ตต่างๆ บนเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์อาจกลายเป็นคนตกงานในวันนี้แล้วก็เป็นได้
.
หากอ้างอิงตามหลักทฤษฎีเสียหน่อย สีขาวของผ้าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่าดูดซับไว้ ส่วนผ้าที่คลุมก็เป็นผ้าจำพวกเส้นใยสังเคราะห์ที่ประกอบด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์และโพรพิลีน
.
และหลังจากใช้ผ้าคลุมมาหลายปี ก็มีผลการศึกษาออกมาในเชิงบวกต่อธารน้ำแข็งออกมาว่า สามารถลดการละลายของน้ำแข็งลงได้ 59 เปอร์เซ็นต์ และยืดอายุช่วงเวลาฤดูท่องเที่ยวออกไปได้อีกหน่อย ไม่ได้หดสั้นลงอย่างที่เคยทำนายกันเอาไว้
.
ด้วยผลลัพธ์ที่เข้าตา ก็เลยมีคนเสนอให้ใช้วิธีนี้กับธารน้ำแข็งทั่วประเทศสวิตเซอร์แลนด์กันไปเลย
.
อย่างไรก็ตาม ถึงวิธีนี้จะได้ผล แต่ทุกเรื่องราวย่อมมีสองด้าน และผลที่ตามมา ก็ค่อนข้างจะน่ากังวลทีเดียว
.
เรื่องแรก มันคือราคาที่ต้องจ่ายในการผลิตผ้าขึ้นมาคลุม ซึ่งมีราคาอยู่ที่ตารางกิโลเมตรละ 320 บาท แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ คือราคาการติดตั้ง (ค่าจ้างแรงงาน) และบำรุงรักษา ที่เพิ่มทวีคูณเป็น 20,000 - 300,000 บาทต่อตารางกิโลเมตร เลยทีเดียว (หรือเฉลี่ยตารางกิโลเมตรละ 170,000 บาท)
.
ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์มีธารน้ำแข็งอยู่ทั้งหมด 1,000 แห่ง ที่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งต้นน้ำให้กับคนในประเทศ หากจะปกป้องธารน้ำแข็งทั้งหมด ก็จะต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี
.
หรือกล่าวได้อีกอย่าง คือ วิธีแบบนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาแบบคนรวยเท่านั้น
.
ครั้นจะเอาวิธีเดียวกันนี้ ไปปกป้องธารน้ำแข็งในเอเชียหรือแอฟริกาก็ดูเป็นการใช้ทรัพยากรที่เกินตัวกันเกินไป
.
Photo: https://shorturl.asia/o30VN / Matthias Huss
และในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง ก็ทำให้เจ้าของกิจการบางรายเริ่มต้องปล่อยให้ผ้าขาดวิ่น ลดงบประมาณการดูแลเพื่อเอาตัวเองให้รอดก่อนจะไปดูแลธารน้ำแข็ง
.
อีกเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างกังวลกันมาก คือการพยายามเอาชนะการละลายของธารน้ำแข็งนี้ อาจกำลังส่งผลกระทบต่อคนใช้น้ำจากธรรมชาติที่รออยู่ด้านล่าง เพราะเมื่อน้ำแข็งถูกห้ามให้ละลาย ก็ย่อมไม่มีน้ำไหลออกมาเท่ากับปริมาณที่ควรจะมีตามฤดูกาล
.
แต่ในประเด็นนี้ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จริงจังหรือเป็นรูปธรรมมากนัก แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเชื่อว่า วิธีแฮกโลกแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบทางระบบนิเวศอย่างแน่นอน
.
นี่ยังไม่นับเรื่องที่เมื่อเส้นใยสังเคราะห์ผุกร่อน ก็สามารถสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำในอนาคตได้อีกด้วย
.
ทั้งราคาที่ต้องจ่ายไปจนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา ก็อาจกล่าวได้ว่า นี่ล่ะคือผลของการไม่คิดเยอะ - แต่อย่างที่กล่าว ถ้าพวกเขาไม่ลงมือ วันนี้ก็อาจจะเสียมากกว่า
.
ต่อเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมด นักธรณีวิทยาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยซูริก และเป็นคนที่ศึกษาวิจัยจนพบว่าวิธีการใช้ผ้าคลุมลดการละลายของธารน้ำแข็งได้มากถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นว่า “คงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่านี้ ถ้าเราเอาเงินลงทุนทั้งหมดมาพัฒนาเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งจะส่งผลในวงกว้างกับทั้งโลก ไม่ใช่แค่กับธารน้ำแข็งเพียงประเทศเดียว”
.
อ้างอิง: Columbia Climate School. Geotextiles Could Slow Glacial Melt, but at What Cost? https://shorturl.asia/IsM1y
Columbia Climate School. Glacier Blankets in Switzerland Highlight Global Disparities in Fighting Climate Change. https://shorturl.asia/qVn43
Grivel. Wrapping Glaciers to Save them ? https://shorturl.asia/jHdS7
 
 
 
 
 
Visitors: 1,212,661