ทั่วโลกหนีไม่พ้น ‘น้ำท่วมรุนแรง’ ที่กำลังกลายเป็น New Normal และ ‘ผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศ’ จะเพิ่มขึ้น
. ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คนทั่วโลกได้เห็นภาพข่าวน้ำท่วมที่ทำให้เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ในหลายประเทศ . ไม่ว่าจะเป็นปากีสถานซึ่งมีภาพเหตุการณ์ที่เมืองทั้งเมืองถูกมวลน้ำมหาศาลซัดจมหายในพริบตา หรือกรุงโซลและอีกหลายเมืองของเกาหลีใต้ที่ถูกกระหน่ำจากลมพายุและฝนตกหนัก จนน้ำท่วมเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องและสิ่งปลูกสร้างทันสมัย . ตัดกลับมาที่ประเทศไทยในวันที่ 6 กันยายน 2565 คนกรุงเทพฯ จำนวนมากโพสต์ลงสื่อโซเชียล พูดถึงการตกค้างอยู่บนท้องถนน เพราะเจอกับทั้งน้ำท่วมสูงจนรถส่วนตัวดับกลางทาง รถโดยสารสาธารณะไม่เพียงพอกับผู้คนที่ยืนรอ และต้องใช้เวลาเดินทางกลับบ้านเพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมง . และถ้าใครยังตามข่าวนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ก็จะเห็นว่าคนในเขตปริมณฑลและอีกหลายจังหวัดก็ต้องเผชิญกับพายุฝนกระหน่ำและมวลน้ำท่วม จนต้องรอฟังคำประกาศเตือนให้ขนของและเตรียมตัวอพยพหนีน้ำกันแบบลุ้นระทึก และอีกหลายจังหวัดก็มีบางส่วนที่ ‘จมน้ำ’ มาหลายวันแล้ว . ทั้งหมดนี้คือสภาพที่กำลังจะกลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ หรือ New Normal ในหลายประเทศ โดยสำนักข่าว Aljazeera รายงานเรื่องนี้อ้างอิงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานที่เป็นข่าวใหญ่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 1,162 ราย และอีกราว 20 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตัวเอง เพราะบ้านเรือนและเมืองทั้งเมืองเสียหายหนักจนไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยได้
รายงานของ Aljazeera ยังระบุด้วยว่า ปากีสถานนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาโดยเฉลี่ยในแต่ละปีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกปล่อยออกมารวมกัน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่างๆ สูงสุด แต่ปากีสถานกลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างร้ายแรงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก (ติดอันดับ 8 ของดัชนีสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง) . สิ่งที่เกิดขึ้นกับปากีสถานจึงอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน และจะส่งผลให้เกิด ‘ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง’ มากขึ้นในอนาคต เพราะในแต่ละปีมีคนที่ต้องอพยพหนีภัยธรรมชาติเป็นจำนวนกว่า 20 ล้านคนทั่วโลกอยู่แล้วโดยเฉลี่ย . ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Japan Times รายงานอ้างอิง เจนนิเฟอร์ ฟรานซิส (Jennifer Francis) นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงวูดเวลล์ (Woodwell Climate Research Center: WCRC) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งออกมาเตือนไม่กี่วันก่อนว่า ฝนที่ตกอย่าง ‘รุนแรงขึ้น’ ทั่วโลก จะส่งผลกระทบจากน้ำท่วมให้ยิ่งสาหัสขึ้น . เพราะนอกเหนือจากชีวิตที่สูญเสียไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่จะตามมาหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็คือ ‘ภาวะขาดแคลนอาหาร’ เพราะพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ จึงไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาลปกติ และต้องใช้เวลานานเป็นปีกว่าภาคการเกษตรจะสามารถฟื้นตัวจากความสูญเสียได้ ทำให้การจัดการทรัพยากรอาหารเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในลำดับต่อมา . รายงานของ Japan Times ยังบอกด้วยว่า ต่อให้เป็นเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วที่วางระบบผังเมืองมาอย่างดีขนาดไหน ก็อาจจะไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนโลกรวนไปหมดแบบนี้ได้ เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างที่เคยป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัยเมื่อหลายทศวรรษก่อน กำลังจะใช้ไม่ได้กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในทศวรรษต่อจากนี้ . นอกจากนี้ การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ เพราะหลายประเทศทั่วโลกไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจกและโลกร้อนไม่กระเตื้องขึ้น อีกทั้งธรรมชาติต้องใช้เวลาในการเยียวยานานนับเดือนนับปี ไม่ใช่แค่เลิกปล่อยก๊าซวันนี้แล้วพรุ่งนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น
เรื่องที่หลายประเทศต้องเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ จึงรวมถึงการลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น การวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การวางแผนป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำหรือน้ำทะเลหนุนสูงที่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน การออกแบบโครงสร้างอาคารบ้านเรือนที่สามารถต้านทานความรุนแรงของลมพายุและน้ำท่วม การกำจัดขยะที่อยู่ในระบบระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ และการจัดการดูแลพื้นที่พำนักอาศัยของประชากรในเขตเมือง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ควรเป็นนโยบาย ‘ระดับประเทศ’ ในระยะยาว ไม่จำกัดแค่เมืองใดเมืองหนึ่ง . เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย แม้ว่ากรุงเทพฯ จะถูกยกให้เป็นเมืองที่ต้องได้รับการป้องกันเป็นพิเศษในฐานะเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าจังหวัดอื่นๆ ยังเจอปัญหาน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอื่นๆ แบบเรื้อรัง ก็คงไม่มีทางหลีกเลี่ยงความเสียหายและผลกระทบที่จะตามมาได้ . และถ้าถามว่าไทยเตรียมตัวรับมือเรื่องนี้เอาไว้แค่ไหน? อาจต้องไปดูคะแนนของไทยในดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม หรือดัชนี EPI (Environmental Performance Index) ประจำปี 2022 คณะนักวิจัยระหว่างประเทศประเมินว่า ไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 108 จากทั้งหมด 188 ประเทศที่มีการสำรวจและประเมินผล โดยอ้างอิงจากการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ทั้งหมด และชี้วัดตามเกณฑ์ว่าสิ่งที่เคยวางแผนไว้นั้น ‘ทำได้จริง’ หรือ ‘ประสบความสำเร็จ’ มากแค่ไหน . อ้างอิง: Aljazeera. Are catastrophic floods Pakistan’s new normal? https://bit.ly/3evVcm4 EPI. Environmental Performance Index 2022: Ranking Country Performance on Sustainability Issues. https://bit.ly/3x169Cm Japan Times. Deadly floods are wreaking global havoc. https://bit.ly/3ASKvRW UNHCR. Climate change and disaster displacement. https://bit.ly/2HBH3B5
ที่มา : BrandThink.me https://www.instagram.com/p/CiOjBgdPkE-/
|