น้ำฝนสมัยนี้ยังกินได้ไหม? งานวิจัยบอกว่า ‘อย่าเลย’ เอาไปรดน้ำต้นไม้แทนเถอะ
. ความชื่นใจของการได้ดื่มน้ำฝนที่รองไว้เต็มตุ่ม ต่อจากนี้คงเป็นได้แค่ ‘ความทรงจำ’ ของคนไทยยุคหนึ่ง (และอาจจะรวมถึงคนอีกหลายประเทศทั่วโลก) เพราะน้ำฝนกลายเป็นสิ่งอันตรายที่ไม่ควรบริโภคไปแล้วในยุคนี้ . น้ำฝนปนเปื้อนอะไรบ้าง? คือคำถามส่วนหนึ่งในงานวิจัยในวารสารวิชาการด้านเคมีภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา American Chemical Society เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 โดยเป็นความร่วมมือของคณะนักวิจัยหลายคนจากมหาวิทยาลัยในสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า น้ำฝนที่หล่นจากฟ้าในวันนี้ไม่ได้มีแค่เชื้อโรคอย่างแบคทีเรียและไวรัสเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสารเคมีที่ ‘ไม่ดี’ ต่อสุขภาพ . สารเคมีเจ้าปัญหาที่ปนเปื้อนในน้ำฝนคือ PFAS ที่เป็นชื่อย่อของกลุ่มสารเคมี Per-and Polyfluoroalkyl Substances ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,400 ชนิด และเป็นที่นิยมในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม จึงเกี่ยวพันกับสินค้าและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กระทะที่เคลือบเทฟลอน โฟมบรรจุอาหาร เสื้อผ้ากันน้ำ สีทาบ้าน สารที่ใช้ผสมในการดับเพลิง สารกันชื้น-ป้องกันเชื้อรา ทำให้สารเคมีกลุ่มนี้ปะปนไปในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราแทบทุกอณู . สารกลุ่มนี้ย่อยสลายยากมากจนถูกตั้งฉายาว่าเป็น ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) ซึ่งจะอยู่คู่โลกไปตราบฟ้าดินสลายเลยก็ว่าได้ เมื่อสารเคมีปนเปื้อนในน้ำฝนและคนนำไปดื่มกิน ก็ทำให้สารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยอัตโนมัติ . นอกจากนี้ น้ำฝนปนเปื้อน PFAS ไม่ได้พบแค่ในเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่พบในทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ภูมิประเทศที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นธรรมชาติและห่างไกลผู้คนอย่างมาก เช่น บนเทือกเขาสูงของทิเบตและขั้วโลกใต้ ซึ่งนักวิจัยได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินที่เกิดจากการสะสมของน้ำฝนเป็นเวลานานในพื้นที่เหล่านี้มาทดสอบด้วยเช่นกัน
งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า การดื่มน้ำฝนที่ผ่านการต้ม การกรอง หรือกระบวนการบำบัดน้ำที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ก็เพียงแค่ปลอดภัยจากเชื้อโรคบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงสารเคมี PFAS ได้ น้ำฝนทุกวันนี้จึงไม่เหมาะแก่การดื่ม เพราะต่อให้กลไกในร่างกายจะสามารถขับสารเคมีออกได้บางส่วน แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่ามันจะถูกขับออกไปได้ทั้งหมด . ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่บ่งชี้ตรงกันว่า การที่ร่างกายคนเราดูดซึมหรือสัมผัสสารเคมีตลอดกาลในเวลานานและต่อเนื่อง ‘ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ’ และต่อพัฒนาการของมนุษย์ รวมถึงภาวะเจริญพันธุ์และระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็งต่างๆ ด้วย . การดื่มน้ำฝนในยุคนี้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง และงานวิจัยแนะนำว่า ถ้าอยากใช้ประโยชน์จากน้ำฝนจริงๆ ก็นำไปรดน้ำต้นไม้แทนจะดีกว่า (แต่จริงๆ ก็ยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าถ้ามนุษย์เรากินพืชที่รดด้วยน้ำฝนปนเปื้อนสารเคมีไปนานๆ จะมีผลอย่างไรต่อมนุษย์อีกเหมือนกัน) . อ้างอิง: Live Science. Is drinking rainwater safe? https://bit.ly/3AIk0Qa CNET. I've Been Drinking Rainwater the Past 2 Years. Is It Time To Stop?. https://cnet.co/3PFNgv APPDB. ทิศทางการควบคุมการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS ในสหภาพยุโรป. https://bit.ly/3QFaFyh
ที่มา : BrandThink.me
.
|