เผยผลการศึกษา กรุ๊ปเลือดโอเกิดปัญหา Long COVID มากที่สุด
หมอธีระ เผยผลการศึกษา กรุ๊ปเลือดโอเกิดปัญหา Long COVID มากที่สุดหมอธีระ เผยผลการศึกษาน่าสนใจ Long COVID กับกรุ๊ปเลือด พบคนกรุ๊ปโอ เกิดปัญหามากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ เสี่ยงมากกว่าราว 6 เท่า วันที่ 28 สิงหาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 28 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 503,050 คน ตายเพิ่ม 1,053 คน รวมแล้วติดไป 605,292,816 คน เสียชีวิตรวม 6,486,500 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก Long COVID กับกรุ๊ปเลือดDiaz-Salazar S และคณะจากประเทศสเปน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 27 สิงหาคม 2565 เป็นการศึกษาแบบ case-control study ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 121 คน โดยมี 36 คนที่มีปัญหา Long COVID และอีก 85 คนที่ไม่มีปัญหา Long COVID พบว่า ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าทำให้เสี่ยงมากกว่าราว 6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 95% ตั้งแต่ 1.6-23 เท่า) นอกจากนี้ยังมีจำนวนอาการผิดปกติต่างๆ มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นอีกด้วย ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีค่าสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงการเกิดกระบวนการอักเสบมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น แม้การศึกษานี้มีจำนวนกลุ่มประชากรที่ศึกษาไม่มากนัก แต่ก็ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ และน่าติดตามว่าจะมีการศึกษาขนาดใหญ่ในอนาคตที่จะพิสูจน์ให้เห็นผลที่สอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหา Long COVID เป็นเรื่องจริงและทำให้ประเทศทั่วโลกต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุดWHO Webinar on "Scientific strategies from recent outbreaks to help us prepare for Pathogen X" เนื้อหาการประชุมจะมีการทบทวนประสบการณ์ทั่วโลกที่ได้เรียนรู้จากการรับมือโรคระบาดหลายชนิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทบทวนข้อมูลความรู้วิชาการ วิธีการจัดการโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ คาดการณ์อนาคตว่าการระบาดทั่วโลกจะเป็นไปในลักษณะใด รวมถึงการวางแผนรับมือการระบาด ทั้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้ยังจะมีการหารือถึงแผนการศึกษาวิจัยที่จำเป็น และระบบการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างทันท่วงที ใครสนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรับฟังได้ฟรีในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกครับ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก อ้างอิง
ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/society/2484552
|