มารู้จักกับวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 5 ประเภท

มารู้จักกับวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 5 ประเภท

 

ตั้งแต่ราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ที่ไม่ใช่พายุ แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม แต่เป็นภัยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ อันแสนร้ายกาจ ซึ่งก็คือ ไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และความหวังที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้คงหนีไม่พ้น วัคซีนโควิด-19 นั่นเอง

แม้ว่าหลาย ๆ คนอาจยังไม่เชื่อใจวัคซีนโควิด-19 มากนัก เพราะใช้เวลาพัฒนาแค่ราว ๆ 1 ปีเท่านั้น ยิ่งกลุ่ม Anti-vaxxer ออกมาประท้วงกันมากมาย ก็ยิ่งทำให้ผู้คนหวาดระแวงกันมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้ววัคซีนโควิด-19 ที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีที่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนประเภทอื่น ๆมาก่อนแล้วแทบทั้งนั้น ดังนั้น จึงอยากชวนเพื่อน ๆ มารู้จักวัคซีนทั้ง 5 ประเภทกันให้มากขึ้น เผื่อจะช่วยลดความกังวลได้ยังไงล่ะ 

 

 

วัคซีนโควิด-19 ประเภท Viral Vector

คือการใช้เชื้อไวรัสที่อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค เพื่อเป็นตัวนำหรือเป็นพาหะ (คล้าย ๆ กับเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของ) ให้กับสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภทนี้ เซลล์ในร่างกายของเราจะจับเอาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ผสมอยู่ในวัคซีน มาสร้างโปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 ขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับไวรัสอีกในอนาคต ร่างกายของเราจะสามารถจดจำไวรัสชนิดนี้ได้ และสามารถต่อสู้กับมันได้ในที่สุด 

Viral-vector-วัคซีนโควิด-19

ขอบคุณรูปภาพจาก: https://news.abs-cbn.com

 

StartDee อยากให้เพื่อน ๆ นึกถึงการไปโรงเรียนครั้งแรก หากเปรียบเทียบตัวนักเรียนใหม่เป็นร่างกายมนุษย์ เปรียบคุณครูเป็นสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 และเปรียบคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเป็นเชื้อไวรัสที่อ่อนกำลังลง วันแรกที่เราเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำหน้าที่เป็น “ตัวนำ” ไปส่งเราที่ห้อง และต้องพาเราไปรู้จักกับคุณครูคนใหม่ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่หลังจากนั้น เราก็สามารถรับมือกับการไปโรงเรียนและการอยู่กับคุณครูได้ในที่สุด ก็เหมือนกันที่ร่างกายสามารถสู้กับเชื้อไวรัสได้นั่นเอง

วัคซีนชนิดนี้ได้รับการยอมรับว่าน่าจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา ซึ่งก็ถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงและคร่าชีวิตมนุษย์ไปมากมาย นอกจากนั้นยังมีราคาที่ถูกที่สุดเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ แต่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก 

 

ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเภท Viral Vector : AstraZeneca (ถูกใช้งานใน 41 ประเทศและเป็น 1 ในวัคซีนที่รัฐบาลไทยนำเข้ามาใช้), Johnson & Johnson , Sputnik V (ถูกใช้งานใน 9 ประเทศ)

 



วัคซีนโควิด-19 ประเภท Nucleic Acid 

วัคซีนประเภทนี้บรรจุชิ้นส่วนประเภท RNA ของสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งร่างกายของมนุษย์จะใช้ RNA เสมือนเป็นพิมพ์เขียวหรือเป็นต้นแบบในการสร้างโปรตีนของไวรัส ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายประหนึ่งว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกายเราจริง ๆ

mRNAวัคซีนโควิด-19

ขอบคุณรูปภาพจาก: https://news.abs-cbn.com

 

วัคซีนโควิด-19 ประเภทนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ยังไม่เคยมีใครใช้ในการผลิตวัคซีนจนสำเร็จมาก่อน และยังไม่เคยใช้กับมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ แต่เป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ผู้ที่ทำการวิจัยในเทคโนโลยีนี้ ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยังได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะเร่งด่วนเช่นนี้อีกด้วย

 

ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเภท Nucleic Acid : Pfizer (ถูกใช้งานใน 61 ประเทศ) และ Moderna (ถูกใช้งานใน 27 ประเทศ)

 

 

วัคซีนโควิด-19 ประเภท Inactivated virus

วัคซีนชนิดนี้เกิดจากการใช้สารเคมี ความร้อน หรือรังสี ในการฆ่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้ตาย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดีกับมนุษย์ เนื่องจากเป็นวิธีการเดียวกับการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโปลิโอ เมื่อฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เชื้อ SARS-CoV-2 ที่ตายแล้วจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยจากโรคโควิด-19 จากนั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะเกิดการจดจำ จนทำให้ร่างกายสามารถสู้กับเชื้อนี้ได้ในที่สุด

inactivated-virus-วัคซีนโควิด-19

ขอบคุณรูปภาพจาก: https://news.abs-cbn.com

 

แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็มีกระบวนการผลิตที่ยาวนาน เนื่องจากต้องมีห้องทดลองที่มีคุณภาพ เพื่อเลี้ยงเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้มีปริมาณมากเพียงพอ

ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเภท Inactivated vaccine : Sinovac (ถูกใช้งานใน 6 ประเทศ และเป็น 1 ในวัคซีนที่รัฐบาลไทยนำเข้ามาใช้), Sinopharm (ถูกใช้งานใน 10 ประเทศ), Bharat Biotech (ถูกใช้งานในประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียว)

 

 



วัคซีนโควิด-19 ประเภท Attenuated virus

วัคซีนประเภทนี้ มีวิธีการที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับแบบ inactivated virus เพราะใช้ตัวไวรัสในการทำวัคซีนโดยตรง ต่างกันที่วัคซีนประเภท Attenuated virus จะใช้เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่อ่อนกำลังลงแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เชื้อ SARS-CoV-2 จะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากนั้น จะเกิดการจดจำ จนทำให้ร่างกายสามารถสู้กับเชื้อนี้ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม WHO ได้ชี้แจงว่า วัคซีนประเภทนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอนัก และในขณะนี้ วัคซีนโควิด-19ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส ต่างก็เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีนี้จนประสบความสำเร็จเป็นวัคซีนให้เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงถือว่าไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง

 

วัคซีนโควิด-19 ประเภท Protein-based

เพื่อน ๆ รู้มั้ยว่า วัคซีนส่วนใหญ่ที่เราฉีดกันในวัยเด็ก เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และไข้กาฬหลังแอ่น ล้วนใช้วิธีนี้ในการผลิดทั้งสิ้น โดยวัคซีนประเภทนี้มีการบรรจุชิ้นส่วนของโปรตีนที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายประกอบอยู่ ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ประเภท Protein-based จะใช้ชิ้นส่วนโปรตีนจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เมื่อฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ โปรตีนในเชื้อ SARS-CoV-2 จะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากนั้น จะเกิดการจดจำ จนทำให้ร่างกายสามารถสู้กับเชื้อนี้ได้ในที่สุด

Protein-based-วัคซีนโควิด-19

ขอบคุณรูปภาพจาก: https://news.abs-cbn.com

 

ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเภท Protein-based : Novavax (กำลังเริ่มถูกใช้งานในสหรัฐอเมริกา)

 

 

ดู ๆ ไปแล้ว วัคซีนแต่ละชนิดต่างก็ใช้เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ และเคยประสบความสำเร็จในการรักษาโรคอื่น ๆ มาแล้วแทบทั้งนั้น แม้ว่าจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ในอนาคตอันใกล้ เราน่าจะมีวัคซีนที่มีคุณภาพและผลข้างเคียงน้อยมากกว่าในปัจจุบันให้ได้ใช้กัน และเมื่อถึงวันนั้น คงพอจะเรียกได้ว่า เราเอาชนะโรคโควิด-19 ได้แล้วอย่างแท้จริง


***อย่าลืมไปฉีดเข็มกระตุ้นกันนะ ทุกคน


References :

https://www.immunology.org/coronavirus/connect-coronavirus-public-engagement-resources/types-vaccines-for-covid-19
https://www.biospace.com/article/comparing-covid-19-vaccines-pfizer-biontech-moderna-astrazeneca-oxford-j-and-j-russia-s-sputnik-v/
https://www.statista.com/chart/24191/number-of-countries-using-selected-covid-19-vaccines/
https://www.who.int
https://www.bpl.co.th/pweb/index.php/academic-professional/knowledge/463-covid-19-vaccine-2.html
https://covid19.workpointnews.com/

 

ที่มา : StartDEE.com

Visitors: 1,380,214