หมูดำดอยตุง แปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้

 
 หมูดำดอยตุง แปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้
 
 
 
อีกหนึ่งอาชีพที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อต่อยอดให้กับชุมชนดอยตุง คือ อาชีพด้านปศุสัตว์ โดยเฉพาะหมูดำ! ซึ่งพัฒนาจากการทำปศุสัตว์เพื่อความมั่นคงทางอาหารสู่การทำปศุสัตว์มูลค่าสูง
 
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มจากากสำรวจรายได้-รายจ่ายของชุมชน พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ คือ อาหาร จึงส่งเสริมการทำการเกษตรและปศุสัวตว์เพื่อความมั่นคงทางอาหารก่อน สำหรับชุมชนดอยตุง หมูดำเป็นปศุสัตว์หลัก เพราะไม่เพียงเป็นอาหารประจำของชุมชนเท่านั้น แต่ยังใช้ประกอบพิธีกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าหมูดำที่ส่งเสริมเป็นประโยชน์กับชุมชนจริงๆ มูลนิธิฯ จึงดำเนินการอย่างครบวงจร ผ่านกลไกกองทุนปศุสัตว์และสุขภาพสัตว์ ครอบคลุมทั้งกลไกการแจกจ่ายอย่างเป็นธรรม การเตรียมพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสม การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยง การสร้างโรงเรือน การผสมอาหารต้นทุนต่ำจากวัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลปศุสัตว์ และที่สำคัญ คือ การสร้างอาสาปศุสัตว์หรือคนในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลรักษาสัตว์ เช่น การฉีดวัคซีนตามฤดูกาล การประเมินสุขภาพสัตว์ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดหายารักษาโรคที่มีคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนดอยตุงจะมีหมูดำคุณภาพดีไว้บริโภค
 
จากนั้น จึงยกระดับจากปศุสัตว์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร สู่ปศุสัตว์มูลค่าสูง เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกอาชีพหนึ่งสำหรับชุมชน การพัฒนาสายพันธุ์และปรับปรุงระบบการเลี้ยงเป็นเรื่องที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญมาก มูลนิธิฯ ศึกษาธรรมชาติของหมูดำ เพื่อปรับปรุงแนวทางการเลี้ยงให้ได้คุณภาพ พร้อมทั้งพัฒนาสายพันธุ์หลายรุ่น จนในที่สุดเกิดสายพันธุ์ "ดำดอยตุง" ซึ่งรวมเอาลักษณะที่ต้องการจากหมูดำพื้นเมืองและหมูเหมยซานเข้าไว้ด้วยกัน เช่น มีสีดำปลอดตลอดทั้งตัว ไม่มีข้อเท้าสีขาว ลูกดก เต้านมเยอะ กินง่าย ทนต่อโรค
 
"หมูดำดอยตุง" แก้ปัญหาเรื่องจำนวนลูกหมู และยังช่วยเพิ่มคุณภาพของหมูให้มีสัดส่วนเนื้อแดงมากขึ้น ที่สำคัญ คือ ช่วยให้หมูทำน้ำหนักได้ไว ใช้เวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าหมูพื้นเมือง จึงช่วยลดต้นทุน ทั้งนี้ เพื่อให้คงคุณภาพของสายพันธุ์ไว้ ชาวบ้านที่สนใจเป็นผู้ประกอบการทำอาชีพด้านปศุสัตว์อย่างจริงจังจึงปรับระบบการเลี้ยงเป็นโรงเรือนแบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้หมูผสมกันเองตามธรรมชาติและลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ปัจจุบัน ชาวบ้าน่วนหนึ่งที่ร่วมโครงการสามารถพัฒนาโรงเรือนจนผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และส่งหมูคุณภาพไปขายนอกพื้นที่ได้
 
ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูดำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูดำ เช่น ไขมันสำหรับปรุงอาหาร พอร์กชอปหมูดำ และแฮมหมูดำรมควันกะลากาแฟ ซึ่งเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ของดอยตุงเข้าไว้ด้วยกันและยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการจัดการเศษเหลือจากการผลิตอย่างยั่งยืนด้วย
 
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับแบรนด์สโลนส์ (Sloane’s) แปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อหมูคุณภาพสูงโดยใช้เนื้อหมูดำควบคู่กับวัตถุดิบในพื้นที่ เช่น แฮมหมักน้ำผึ้งจากดอกแมคคาเมีย แมคคาเดเมียมอร์ตาเดลลา ไส้กรอกผสมน้ำผึ้งจากดอกแมคคาเดเมีย และไส้กรอกอาข่า ซิกเนเจอร์โดย Bo.lan Grocery ด้วย เพื่อรองรับผลผลิตหมูดำคุณภาพ และปูพื้นฐานสู่การทำปศุสัตว์มูลค่าสูงและยั่งยืนในอนาคต อันจะส่งผลให้ชาวบ้าน ‘ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง’ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จย่าตั้งแต่เริ่มต้นโครงการพัฒนาดอยตุงฯ
 
Visitors: 1,369,481