ครึ่งปีแรกป่าแอมะซอนในบราซิลหายไปมากกว่าปีที่แล้ว 17%

ครึ่งปีแรกป่าแอมะซอนในบราซิลหายไปมากกว่าปีที่แล้ว 17%


.
หากจะกล่าวถึงการทำลายสถิติโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้ว สถิติที่ถูกทำลายอย่างสม่ำเสมอ คงไม่มีเรื่องใดเกินหน้าเกินตาไปกว่า ผืนป่าแอมะซอนของบราซิลที่หายไปมากขึ้นทุกปีๆ
.
โดยเฉพาะตั้งแต่ที่ประเทศปกครองโดยประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ป่าแห่งนี้ถูกทำลายแบบทุบสถิติอยู่เรื่อยๆ
.
การทำลายสถิติโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี เพียงมกราคมเดือนเดียวผืนป่าแอมะซอนในเขตบราซิลถูกถางออกไปไม่น้อยกว่า 430 ตารางกิโลเมตร ตัวเลขที่ว่านับเป็นสถิติการทำลายป่าครั้งมโหฬารที่สุดประจำเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่ามากกว่าเดิมถึง 5 เท่า
.
จากรายงานล่าสุด เมื่อประเมินสถานการณ์ป่าไม้ที่หายไปในรอบครึ่งปี สถาบันวิจัยอวกาศแห่งบราซิล (INPE) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 24 มิถุนายน 2022 แอมะซอนในประเทศบราซิลหายไปแล้วทั้งสิ้น 3,988 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่าปีที่แล้ว 17 เปอร์เซ็นต์
.
ถ้าเทียบกับประเทศไทย ก็เท่ากับการลบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรออกไปจากแผนที่ประเทศเลยทีเดียว
.
และจากสถิติการเกิดไฟป่าในปีนี้ INPE บันทึกการเกิดเพลิงไหม้ได้ 2,287 ครั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเกิดเพลิงไหม้มากกว่า 2,500 ครั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 และเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
.
สำหรับสถิติป่าแอมะซอนในประเทศบราซิลที่ถูกทำลายนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าจากปี 2017 ที่ป่าหายไปประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร ก็ก้าวกระโดดขึ้นมามากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 2018-2019
.
และมากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2020-2021 จนมาถึงยอดที่ 3,988 ตารางกิโลเมตร ในปีนี้
.
สาเหตุที่ป่าแอมะซอนหายไปนั้น นักอนุรักษ์มองว่า เป็นเพราะนโยบายผ่อนปรนการใช้พื้นที่ป่าที่ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประกาศสู้กับปัญหาความยากจนของคนในประเทศ เพื่อให้คนจนมีพื้นที่ทำมาหากิน จึงอนุโลมให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าแอมะซอนได้ในบางส่วน
.
อย่างไรก็ตามในเชิงลึก ยังมีเรื่องการตัดงบการอนุรักษ์ป่าไม้ลง รวมถึงความละเลยต่อสถานการณ์การบุกรุกป่าแบบผิดกฎหมายของกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพลที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งเป็นเรื่องค้างคามาก่อนสมัยประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู แต่พองบสิ่งแวดล้อมน้อยลงในยุคนี้ ปัญหาที่คาราคาซังก็เลยบานปลายให้เห็นชัดยิ่งขึ้น

ตามรายงานการบุกรุกที่ผิดกฎหมายในดินแดนแอมะซอนพบว่า จำนวนเครือข่ายอาชญากรที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนเพิ่มขึ้นทวีคูณ กลุ่มอาชญากรมองว่าอุตสาหกรรมไม้และการเกษตรขนาดใหญ่เป็นโอกาสในการเคลื่อนย้ายสิ่งผิดกฎหมายและฟอกเงิน กลุ่มต่างๆ ใช้ประโยชน์จากการบุกรุกพื้นที่ป่า เข่น ซุกซ่อนยาเสพติดในการขนส่งไม้ไปยังยุโรปหรือเอเชีย
.
ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นผลให้ชนพื้นเมืองในป่าและนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงการตัดไม้ถูกคุกคาม และถูกสังหารอย่างต่อเนื่อง
.
ในปี 2019 หน่วยงาน NGO Global Witness บันทึกการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองจำนวน 24 คน ถูกคุกคามเพราะขวางการทำผิดกฎหมายในแอมะซอน ทำให้บราซิลอยู่ในอันดับที่ 3 ในบรรดาประเทศที่มีนักปกป้องสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตมากที่สุด รองจากโคลอมเบียและฟิลิปปินส์
.
สำหรับครึ่งปีหลังที่เหลือ ฝ่ายนักอนุรักษ์กำลังกังวลว่า สถานการณ์บุกรุกป่าอาจแย่ลงอีก หลังจาก มาร์กอส มอนเตส (Marcos Montes) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของบราซิล ได้ให้ความเห็นถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า กำลังทำให้โลกเผชิญกับวิกฤตด้านอาหาร และประเทศบราซิลจะรับหน้าที่ดูแลผู้คนคอยผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลกเอง

ซึ่งในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) รัฐบาลบราซิลระบุว่า พร้อมเติมเต็มช่องว่างด้านอาหารในตลาดที่ขาดด้วยพืชผล เช่น ข้าวสาลี และธัญพืช
.
การออกตัวในครั้งนี้ของบราซิลก็ได้รับความชื่นชมจากประเทศต่างๆ เช่น ซูดาน ปากีสถาน และเฮติ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหาร
.
หากสถานการณ์เป็นไปดังคาดการณ์ และในปีที่การทำลายป่ายังไม่ลดน้อยลง กองทุนสัตว์ป่าโลกคำนวณว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของป่าฝนแอมะซอนจะปราศจากต้นไม้ภายในปี 2030
.
ซึ่ง 1 ใน 4 ที่ว่า ก็คงไม่พ้นแอมะซอนในอาณาเขตประเทศบราซิลอย่างแน่นอน
.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2021 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030
.
แต่จากสถิติที่เปิดออกมา ดูๆ แล้วก็คงบอกได้ว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้เห็น
.
ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผืนป่าแอมะซอนกลับมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ พบการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกไปประมาณ 16.6 พันล้านตัน แต่กลับดูดซับได้เพียง 13.9 พันล้านตัน
.
สถิติการสูญเสียป่าที่เกิดขึ้นในแอมะซอน จึงถือเป็นสถิติที่สร้างขึ้นอย่างไม่แคร์โลกโดยแท้จริง
.
อ้างอิง: Mongabay, Amazon deforestation is off to the fastest start to a year since 2008, https://bit.ly/3uGDy4c
The Conservation, The Amazon rainforest is disappearing quickly — and threatening Indigenous people who live there, https://bit.ly/3ADWK6t
BBC, Amazon deforestation: Record high destruction of trees in January, https://bbc.in/3sOGFp1
Fast Company, A hidden major cause of global deforestation: Organized crime, https://bit.ly/3P2nL7M

 

ที่มา : BrandThink.me
https://www.instagram.com/p/CgGmLmNv4vD/


Visitors: 1,430,485