อนาคตของการช้อปปิ้งออนไลน์ กับบรรทัดฐานการส่งสินค้าที่ต้องใส่ใจปัญหาโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

อนาคตของการช้อปปิ้งออนไลน์ กับบรรทัดฐานการส่งสินค้าที่ต้องใส่ใจปัญหาโลกร้อนมากยิ่งขึ้น


.
เดิมทีในช่วงที่การซื้อของออนไลน์เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จัก ธุรกิจนี้ถูกมองว่าจะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
.
แต่ไปๆ มาๆ พอธุรกิจเริ่มเติบโต ก็กลายเป็นเรื่องกลับตาลปัตร เมื่อผู้ซื้อเริ่มสนุกสนานกับการกดปุ่มสั่งซื้อ และเริ่มคาดหวังกับระบบขนส่งที่ว่องไว ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกละเลย
.
ในปัจจุบันพบว่า การขนส่งสินค้าทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ราว 8 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการขนส่งระยะทางสุดท้าย (จากจุดจ่ายสินค้าไปยังบ้านเรือน) และจากแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคและการเติบโตของการสั่งซื้อของออนไลน์ World Economic Forum ประมาณการว่า ภายในปี 2030 จะมียานพาหนะขนส่งเพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเพิ่มการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะขนส่งประมาณ 1 ใน 3
.
รวมถึงยังเพิ่มความแออัดให้กับท้องถนน เพิ่มเวลาการเดินทางให้กับผู้คน ซึ่งผลลัพธ์ก็หมายถึงการเพิ่มปริมาณคาร์บอนฯ เข้าไปอีกต่อหนึ่ง
.
ปัญหาที่ว่ามานี้ไม่ได้ไร้หนทางแก้ไข ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าภาคธุรกิจ (และเรา) พร้อมจะปรับตัวหรือยัง (ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเน้นย้ำมากในรายงานวิกฤตโลกร้อนของ IPCC ทุกฉบับ)
.
และนี่คือตัวอย่างแนวทางการปรับตัวที่สามารถลงมือทำได้เลย

【ใช้ยานพาหนะไฟฟ้า】
.
การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างจุดแจกจ่ายพัสดุไปยังบ้านเรือนผู้คน คาดว่าจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 60 เปอร์เซ็นต์ ตามรายงานของ World Economic Forum ตอนนี้เองก็เริ่มมีหลายบริษัทหันมาปรับเปลี่ยนบริการนี้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่เมืองใหญ่ๆ ในยุโรปเริ่มสร้างเขตปลอดมลพิษไปแล้ว มันจึงเหมือนการบังคับกลายๆ ว่า ถึงเวลาที่ทีมงานขนส่งของต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว และการขนส่งยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีประเภทโดรน หรือหุ่นยนต์ส่งของอัจฉริยะมาใช้ด้วยเช่นกัน

【ปรับมาส่งของตอนกลางคืน】
.
รถบรรทุกส่งของที่ขวางถนนในเมืองไม่เพียงแต่ทำให้คนเดินทางรู้สึกรำคาญ แต่ยังทำให้เกิดความแออัดและเพิ่มการปล่อยมลพิษจากการจราจรที่ไม่ได้ใช้งาน แม้แต่ที่จอดรถริมทาง รถบรรทุกยังทำให้รถในเมืองต้องล่าช้าถึง 947,000 ชั่วโมง เหตุใดจึงต้องดำเนินการส่งมอบในระหว่างวัน เมื่อคนขับรถบรรทุกยังต้องใช้พื้นที่จอดรถอันมีค่า และเสียเวลาและเชื้อเพลิงเพื่อแข่งขันกับผู้โดยสารที่สัญจรไปมา
.
การส่งมอบในเวลากลางคืนจะช่วยให้ยานพาหนะขนาดใหญ่สามารถแล่นไปตามถนนในเมืองด้วยความเร็วสูงกว่า การวิเคราะห์จาก World Economic Forum แสดงให้เห็นว่า การส่งมอบในเวลากลางคืนหรือก่อนและหลังเวลาทำการ สามารถลดความแออัดของการจราจรในเมืองได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ และหากควบรวมกับการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่สะอาดและเงียบเชียบ ก็จะไม่มีอะไรให้น่ารำคาญใจในเวลากลางคืน
.
แต่หากมีความจำเป็นต้องจัดส่งในเวลากลางวัน ก็อาจต้องมาว่าด้วยเรื่องการพัฒนาเมืองผ่านการสร้างพื้นที่จอดรถที่กำหนดไว้สำหรับรถส่งของ และการบังคับใช้กฎหมายกับการจอดรถบนถนนจะช่วยให้เมืองต่างๆ ลดความแออัดลงได้ 1 ใน 3
.
【สร้างศูนย์รับสินค้า】
.
ประเด็นนี้เป็นเรื่องการเจอกันคนละครึ่งทาง (คล้ายๆ กับที่เราต้องไปรับของบางอย่างเองที่ไปรษณีย์) ซึ่งเราอาจมองว่าเป็นภาระหรือลดความสะดวกสบายลง แต่ในความเป็นจริงจะช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลงได้กว่าการส่งของแบบ Door to door
.
โดยจุดรับของอาจเป็นในรูปแบบของสถานที่หรือล็อกเกอร์ที่มีความปลอดภัย ต้องใช้รหัสผ่านหรือสแกนไอดีผู้รับ ถึงจะเปิดช่องเก็บของได้

【ผู้ซื้อก็ต้องปรับพฤติกรรม】
.
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องที่ต้องเปลี่ยนอาจไม่ได้หมายความเพียงแค่เจ้าของธุรกิจ แต่ผู้ซื้อเองก็ต้องเข้าใจปัญหานี้ที่ซ้อนอยู่หลังปุ่ม Buy โดยนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมแนะนำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่ก็เลือกที่จะรอสินค้าดูบ้าง
.
งานวิจัยหนึ่งในเม็กซิโก นักวิจัยของ MIT พบว่า ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งเต็มใจที่จะรอของที่สั่งนานขึ้น เมื่อได้รับแจ้งว่าการจัดส่งที่ช้ากว่าจะช่วยรักษาโลกได้มากกว่า
.
ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขนส่งสินค้าเท่านั้น การช้อปปิ้งออนไลน์ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ใช่เรื่องที่ไร้หนทางแก้ไข
.
ท่ามกลางสภาพอากาศสุดขั้วที่เดินทางมาหาเราบ่อยพอๆ กับพนักงานส่งของ ไม่แน่ว่าการช้อปปิ้งครั้งต่อไป ข้าวของที่เราสั่งอาจไปโผล่อยู่ในอีกซีกโลกเหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Cast Away ก็เป็นได้
.
อ้างอิง: Weforum, Online shopping is polluting the planet - but it's not too late, https://bit.ly/38z6hQf
Anthropocene Magazine, Greening the last mile of e-commerce, https://bit.ly/3NWuYqa
.
#OnlineShopping #ซื้อของออนไลน์
#ภาวะโลกร้อน #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow

 

ขอบคุณที่มา : BrandThink.me

 

Visitors: 1,405,609