เจาะทุกเรื่อง ไม้ด่าง จากกล้วยด่าง ถึง กะเพรา! ทำไมแพง ราคาแรงขนาดนี้ !?

เจาะทุกเรื่อง “ไม้ด่าง” จากกล้วยด่าง ถึง กะเพรา! ทำไมแพง ราคาแรงขนาดนี้ !?

เปิดที่มา “ไม้ด่าง” ทำไมราคาแรงเฉียดล้าน, ด่างแบบไหนยอดนิยม, พร้อมเปิด 4 ไม้ด่างสุดปัง ที่ทำเงินสูงสุด ณ ตอนนี้ ไปกับ โอม-ภวพล ศุภนันทนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์

กระแสปลูกต้นไม้โดยเฉพาะ “ไม้ด่าง” ได้เป็นที่นิยมในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากตั้งแต่ มอนสเตอร่า ไทรไบสัก ลิ้นมังกร ฯลฯ มาสู่ กล้วยด่าง ที่เพิ่งทุบสถิติ ซื้อขายกันที่ 10 ล้านบาทสดๆ ร้อนๆ

และล่าสุดเพิ่งฮิตหมาดๆ ก็คือ "ผักสวนครัวด่าง" ที่มีทั้ง ขนุนด่าง มะม่วงด่าง กะเพราด่าง จนถึง ตำลึงด่าง ก็มี!

- ทำไมไม้ด่างถึงราคาแรง
- ไม้ด่างราคาถูก-แพงเกิดจากกลไกอะไร
- ด่างลักษณะไหน คือ ยอดนิยม
- "4 ไม้ด่าง" สุดปัง ราคาแรงสุด ณ ตอนนี้?

กระแส "ปลูกต้นไม้" แมสในหมู่คนไทยตั้งแต่เมื่อไหร่?

อันที่จริงงานอดิเรกอย่าง “การปลูกต้นไม้” เป็นสิ่งที่เห็นกันมานานแล้ว และมักจะถูกมองว่าเป็นงานอดิเรกของคนสูงวัย

แต่ 4-5 ปีหลังมานี้ ทั้งด้วยกระแสโลกร้อนที่ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะธรรมชาติกำลังเอาคืนมนุษย์ จึงทำให้คนต้องหันกลับมาดูแลเอาใจใส่เรื่องทำนองนี้มากขึ้น รวมถึงการที่โรคระบาดโควิด-19 ที่เปลี่ยนมาสู่การ Work From Home

รวมๆ กันนี้ ก็เลยเป็นผลมาสู่ความนิยมในต้นด่างต่างๆ โดยสามารถไล่ไทม์ไลน์ ความนิยมปลูกไม้ด่าง ได้ดังนี้

 

1. ไม้ฟอกอากาศด่าง

ช่วงเวลาที่เริ่มนิยม: กุมภาพันธ์ 2562

ในช่วงเวลาปี 2562 เป็นปีที่คนไทยเพิ่งตระหนัก(อย่างจริงจัง) กับสิ่งที่เรียกว่า ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งฟุ้งจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี เกิดฝุ่นหนาทึบอย่างน่ากลัว ผู้คนตื่นตระหนกในการเช็คค่าฝุ่นผ่านแอพฯ ทุกวัน หาซื้อเครื่องกรองอากาศ และหาซื้อต้นไม้ฟอกอากาศมาเพื่อช่วยทำให้อากาศในพื้นที่ที่อยู่อาศัยสะอาดที่สุดด้วย

นอกจากนี้ในการซื้อไม้ฟอกอากาศ สำหรับใครที่สนใจในการปลูกต้นไม้ หรือมีงบในการซื้อเยอะหน่อย ก็จะไปเลือกซื้อต้นที่มีลักษณะพิเศษอย่าง “ไม้ฟอกอากาศด่าง” มาเพื่อประดับให้บ้านมีลูกเล่น ไม่น่าเบื่อ เช่น มอนสเตอร่า ไทรไบสัก เศรษฐีเรือนใน ลิ้นมังกร เป็นต้น

 

2. กล้วยด่าง

ช่วงเวลาที่เริ่มนิยม: เมษายน 2564

“กล้วยด่าง” เป็นอีกต้นหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถให้ทั้งร่มเงา ความสวยงาม และราคาดี นอกจากนี้หากเป็นต้น “กล้วยด่างแดง” ที่เรียกชื่อไทยว่า ทับทิมสยาม หรือชื่อสากลว่า กล้วยด่างแดงอินโด จะได้ราคาดีกว่าบรรดากล้วยด่างอื่นๆ เพราะดูสวยโดดเด่นกว่าในบรรดาสายพันธุ์อื่น

กล้วยด่างมีสายพันธุ์อื่นๆ ที่สามารถขายได้ราคาดีๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น กล้วยเล็บมือนางด่าง กล้วยหักมุกด่าง กล้วยหอมแคระด่าง กล้วยน้ำว้าด่าง กล้วยตานีด่าง กล้วยเทพนม เป็นต้น

 

3. ผักสวนครัวด่าง

ช่วงเวลาที่เริ่มนิยม : สิงหา-กันยายน 2564

อาจจะเรียกได้ว่า หยุดอยู่บ้านนานเกินไป คนไทยจึงอาจหาทำทุกอย่างได้ ทำให้ “พืชผักสวนครัวด่าง” กลายเป็นที่นิยมด้วยเช่นกัน อย่างล่าสุดก็มีต้น “กะเพราด่าง” และต้น “ตำลึงด่าง” ที่กำลังเป็นที่นิยมในตระกูลพืชผักสวนครัวด่าง โดยราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ

ตัวอย่างเช่น จากการสำรวจราคา “กะเพราด่าง” พบว่ามีการขายบนแพลตฟอร์ม shopee ราคาต้นละ “45,000 บาท”

นอกจากนี้ ทีมงานยังสำรวจเพจพ่อค้าต้นไม้บนเฟสบุ๊คต่างๆ พบที่ขายผักสวนครัวด่างในราคาที่แตกต่างกันไป เช่น เพจ "นายศุภชัย เม่น พรดอน" ได้ทำการลงขายผักสวนครัวด่าง เช่น ตำลึงด่าง ขนุนด่าง มะม่วงด่าง ชะพลูด่าง ขิงด่าง ราคาเริ่มต้นที่ 2,500-6,200 กว่าบาท

 

“ความด่าง” ไม้ใบ เกิดจากอะไร?

ก่อนอื่นคุณโอม-ภวพล ได้อธิบายให้เข้าใจก่อนว่า “ความด่าง” ของไม้ใบ ไม่ได้มีแค่ “ด่างขาว” อย่างเดียวเท่านั้น แต่ความด่างของไม้ใบนั้นมีได้หลายสี เช่น ด่างขาว ด่างครีม ด่างเหลือง และด่างแดง ซึ่งสีด่างเหล่านี้จะเป็นสีที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสีไม้ใบต้นนั้น

โดย “ความด่าง” ของไม้ใบ หลายคนอาจสงสัยว่า ลักษณะเฉพาะนี้ เกิดขึ้นเอง เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือกรรมวิธีการใดบ้าง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ไปไขข้อสงสัยมาให้แล้ว ดังนี้

1. ลักษณะด่างที่เกิดจาก “การใช้รังสีเหนี่ยวนำ” โดยกรรมวิธีการนี้เป็นการตั้งใจทำในห้องแล็บแบบปิด ด้วยการฉายรังสีแกมมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางยีนของพันธุ์พืช

2. ลักษณะด่างที่เป็น “ความบกพร่องทางพันธุกรรม” เช่น เม็ดสีบกพร่อง จากบางต้นปกติมีแต่สีเขียวก็อาจมีสีอื่นเช่น เหลืองหรือแดง เป็นลายประอยู่บนใบด้วย

3. ลักษณะด่างที่เกิดจาก “การขาดสารอาหาร” เช่น บางต้นถ้าขาดแมกนีเซียม ใบก็อาจจะกลายเป็นสีเหลือง

4. ลักษณะที่เกิดจาก “ไวรัส-เป็นโรค” แต่ด่างลักษณะนี้เป็นด่างที่ไม่ดี บางต้นอาจกลับไปเป็นสีเขียวได้ด้วย เป็นลักษณะความอ่อนแอรูปแบบหนึ่งของต้นไม้

 

กลไกราคาตลาด “ไม้ด่าง ถูก-แพง” ขึ้นกับอะไร?

นอกจากนี้คุณโอม-ภวพล ยังได้แชร์ประสบการณ์การสะสมต้นไม้มาตั้งแต่อดีตหลายสิบปีว่า ไม้ใบโดยเฉพาะ “ไม้ด่าง” ราคาขึ้นสูง-ลงต่ำ ขึ้นอยู่กับกลไก อุปสงค์-อุปทาน ของตลาด ถ้าต้นไหน “มีความต้องการในตลาดสูง แต่มีของน้อย เมื่อต้นนั้นเป็นต้นที่หายาก” ราคาก็จะสูงขึ้น

หากเป็น “สมัยก่อน” ราคาต้นไม้จะถูกควบคุมด้วย “พ่อค้าแม่ค้าแหล่งตลาดต้นไม้ออฟไลน์” จริงๆ เท่านั้น สมมติสัปดาห์นั้นมีการเอาไม้ด่างพันธุ์ยอดนิยมไปขายในตลาด 100 ต้น นำไปขาย 10 รอบก็ขายหมดทุกรอบ ตลาดต้นไม้ร้านอื่นๆ ก็จะขึ้นราคาตาม

เพราะเป็นของที่มี “ความขาดตลาด” แต่กว่าข่าวการขึ้นราคารูปแบบนี้จะรู้กันทั่วทุกที่ไม่ว่าจะเป็น ตลาดบางใหญ่ ตลาดบางบัวทอง ตลาดเชียงราย และตลาดต้นไม้อื่นๆ ก็ใช้เวลานานพอสมควร

แต่ถ้าพูดถึง “ปัจจุบัน” ต้องยอมรับว่า “โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท” มากขึ้นกับทุกแขนงการค้า มีเฟสบุ๊ค มีกลุ่ม “มีห้องเสนอราคา” คนก็สามารถค้นหาและดูได้ง่ายขึ้น “มีการปั่นราคา” ราคาต้นไม้ที่ขาย ณ วันนี้เลยไม่ได้นิ่งคงที่ขนาดนั้น

นอกจากนี้ ไม้ด่างที่นิยมในปัจจุบัน ต้องมี “ลายแปลก” ถ้าเกิด “ผู้ซื้อชอบและเกิดความพึงพอใจ” ก็พร้อมที่จะสู้ราคา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาต้นไม้ขึ้นสูงมาก เพราะต้นไม้เป็นเหมือนของสะสม ลักษณะการใช้งานไม่เหมือนอาหารที่ต้องกินต้องใช้ทั่วไป ราคาจึงขึ้นกับความพอใจของผู้ขายและผู้ซื้ออย่างที่คาดเดาไม่ได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

Visitors: 1,405,496