เล่มที่ 3 : พักให้ไหว ค่อยไปต่อ
- เขียนโดย: นีน่า คิม
- แปลโดย: ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย
- บรรณาธิการต้นฉบับ: กอปรกานต์ ปัทมสิริวัฒน์
เชื่อว่าแวบแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้ หลายคนจะตกหลุมรักลายเส้นสุดน่ารักของ นีน่า คิม ได้ไม่ยาก ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาน่าจะยิ่งชื่นชอบขึ้นไปอีก
มุมมองชีวิตของผู้เขียน ที่กำลังเรียนรู้ "การเติบโตเป็นผู้ใหญ่" และหาคำตอบทั้งเรื่องการงาน ความรัก ความสัมพันธ์ เหมือนพูดแทนใจของเรา
อ่านแล้วเหมือนได้พูดคุยปรับทุกข์กับเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนที่พร้อมรับฟังและไม่ตัดสิน เพื่อนที่พร้อมเงยหน้าหัวเราะและกุมขมับไปด้วยกันหนังสือที่ช่วยปลอบประโลมใจในวันหม่นหมองได้ดีเลย
เล่มที่ 4 และเล่มที่ 5 : เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก! และ ร้ายให้เริด เชิดให้โลก
- เขียนโดย: มินซอย็อง
- แปลโดย: ชลภัทร ภัทรฤทธิกุล /ฐาปนี แซ่อุย
- บรรณาธิการต้นฉบับ: ณิชกานต์ โชติบรรยง
จากการ์ตูนช่องยอดฮิตของนักวาดหญิงชาวเกาหลี มินซอย็อง ที่เผยแพร่ใน WEBTOON ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 4 ล้านคน สู่หนังสือที่ตะโกนเรื่องสิทธิสตรีในสังคมอย่างกึกก้อง
หนังสือเรื่อง เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก! และเรื่อง ร้ายให้เริด เชิดให้โลก ขอเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงนำเสนอความจริงว่าโลกที่ผู้หญิงอยู่เป็นอย่างไร มีความอยุติธรรมอยู่ในโลกของผู้หญิงมากแค่ไหน เพื่อยืนยันว่าผู้หญิงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่กำเนิดมาเพื่อผู้ชาย เพื่อให้ผู้หญิงที่ถูกล่อหลอกและหล่อหลอมด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ฉุกคิดได้ แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อยว่าสิ่งที่ตนประสบพบเจอมาคือความรุนแรง
"ฉันเขียน 'เกิดเป็นหญิง เริดบ้าง ร้ายบ้าง ดีออก!' ด้วยความหวังเล็กๆ ว่าอยากให้โลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเล่มนี้อีก" นี่คือความในใจของ ‘มินซอย็อง’ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้
แต่พอหนังสือตีพิมพ์ได้หนึ่งปี หนังสือของเธอก็ยังวางอยู่บนชั้นในร้านหนังสือ เพราะยังขายได้เรื่อยๆ ในฐานะนักเขียนเธอรู้สึกดีใจ แต่ในฐานะผู้หญิงกลับรู้สึกขมขื่น จากที่คิดจะหยุด เธอจึงเขียนอีก ด้วยเป้าหมายใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
"ฉันเขียน 'ร้ายให้เริด เชิดให้โลก' ขึ้นมา เพราะฉันอยากใช้ชีวิต"
ในโลกที่ประชากรครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง แต่ทำไมชีวิตของคนครึ่งหนึ่งกลับต่างจากอีกครึ่งหนึ่งเหลือเกิน เธอจึงเพียรเขียนความแตกต่างนี้ออกมา เขียนถึงทุกคนที่ถูกตัดสิน ลดทอนคุณค่า ถูกทำร้ายโดยไม่อาจเรียกร้อง เคยโกรธและสิ้นหวังนับไม่ถ้วน หวังกระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นสู้ อย่ายอม อย่าพอใจ อย่าละเลย จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบปิตาธิปไตยที่มีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ
หวังสร้างความเท่าเทียมของผู้หญิงและทุกเพศให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างภูมิต้านทานจากการถูกคุกคาม ข่มขู่ ล่วงละเมิด และความรุนแรงทางเพศทั้งมวล
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ By วลัญช์ สุภากร
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/959675